About

โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ (Thailand Robot Design Camp: RDC) หรือชื่อเดิมว่า การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เป็นโครงการสำหรับผู้มีความสนใจพิเศษด้านหุ่นยนต์ โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ จัดกิจกรรมเปิดพื้นที่พัฒนาไอเดียสร้างสรรค์และทักษะ โดยจำลองจากการทำงานจริงที่ผู้เข้าร่วมโครงการมาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา แบ่งปันความรู้จากสาขาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์พิชิตโจทย์ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งรูปแบบเดียวกับในระดับนานาชาติที่ริเริ่มและจัดต่อเนื่องจนปัจจุบันโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา และ Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) ญี่ปุ่น

ความเท่าเทียม: เอกลักษณ์โดดเด่นของการแข่งขัน

แง่มุมสำคัญของการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ คือ แต่ละทีมประกอบด้วยนักศึกษาแบบคละประเทศ คละสถาบันการศึกษา มีการกำหนดโจทย์แข่งขันและกำหนดวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และงบประมาณ เพื่อให้แต่ละทีมออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

การแข่งขันระดับประเทศก็ยังคงยึดรูปแบบการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยเพิ่มเติมให้มีการอบรมความรู้ด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เข้าไปด้วย เช่นเดียวกับการแข่งขันระดับภูมิภาค เพื่อคัดเลือกนักศึกษาตัวแทนภาคเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป

ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสถาบัน ระหว่างประเทศ ไม่มีเงินรางวัล และทุกทีมได้รับทรัพยากรเท่าเทียมกันเช่นนี้ จึงมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดความรักและความสามัคคี และจะช่วยเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในอนาคต ทั้งระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น อาจารย์และทีมงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอันเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการของประเทศ

พัฒนาการที่สำคัญของ RDC

การแข่งขันหุ่นยนต์ RDC จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดเลือกนักศึกษาตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน International Design Contest RoBoCon: IDC RoBoCon เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโลก RDC ได้ถูกพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการจัดอย่างต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนหรือเหตุการณ์สำคัญ เช่น

  • การเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับอาชีวะเข้าร่วมแข่งขัน (พ.ศ. 2553)
  • การขยายขอบข่ายไปยังนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ (พ.ศ. 2554) มีการจัดตั้งหน่วยประสานงานในภูมิภาคขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อทำหน้าที่จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ RDC ระดับภูมิภาค โดยยังคงรูปแบบเหมือนกับการแข่งขันระดับประเทศ ทั้งนี้ เพื่อคัดเลือกตัวแทนระดับภูมิภาคเข้าร่วมการแข่งขันระดับประเทศ)
  • ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2016 (พ.ศ. 2559) นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เป็นการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ (ครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2550)
  • ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2016 (พ.ศ. 2559) นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เป็นการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ (ครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2550)
  • เปลี่ยนชื่อโครงการจากเดิม “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (Thailand Robot Design Contest: RDC Thailand)” เป็น “โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (Thailand Robot Design Camp: RDC Thailand)” (พ.ศ. 2562)
  • งดเนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) (พ.ศ. 2563)
  • เป็นปีแรกที่มีการดำเนินการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon “Cyber IDC” และการคัดเลือกตัวแทนนักศึกษาไทย (RDC Thailand) ในรูปแบบออนไลน์ (พ.ศ. 2564)
  • ประเทศไทยได้รับเกียรติอีกครั้งให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2023 และเป็นครั้งแรกสำหรับการจัดรูปแบบไฮบริด (Hybrid IDC RoBoCon) (พ.ศ. 2566)

การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี การแข่งขันหุ่นยนต์ RDC ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก โปรแกรมการพัฒนากำลังคนและเยาวชนวิทยาศาสตร์ (S&T Human Resources Development) สวทช. โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ หมุนเวียนกันสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยปาร์คเกอร์ไรซิ่ง จำกัด เดอะมอลล์ นครราชสีมา เซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา บริษัท Q Mark Factory บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเอ็มวายเคคัลเลอร์ จำกัด และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และที่สำคัญ คือ สถาบันการศึกษาที่สนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ RDC มีจำนวนกว่า 45 สถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศ และมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 200 คนในแต่ละปี

วัตถุประสงค์

  1. พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  2. พัฒนาและส่งเสริมอาชีพนักวิจัย
  3. พัฒนากิจกรรม สื่อ และอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน
  4. ขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

เป้าหมายระยะสั้น

  1. เป็นเวทีสำหรับผู้มีความสนใจพิเศษด้านหุ่นยนต์ ได้แสดงความสามารถในการออกแบบสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น (โท-เอก)
  2. เพิ่มจำนวนของผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อป้อนเข้าสู่อาชีพนักวิจัย

เป้าหมายระยะยาว

  1. สร้างบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในสังกัดของ สวทช. มหาวิทยาลัยชั้นนำ หน่วยงานภาครัฐที่สำคัญของประเทศ เช่น กฟผ. และ ปตท. ฯลฯ เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขัน
  2. สร้างความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกทั้งในและต่างประเทศ ที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการแข่งขันฯ

  1. เยาวชนระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาทั่วประเทศ
  2. เครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาค
  3. สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
  4. เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ
  5. ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การแพทย์ การทหาร และบริการ