ที่มาของโจทย์วิจัย
จากสถิติด้านอุบัติเหตุที่เกิดกับรถพยาบาลฉุกเฉินทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ระบุว่าผู้โดยสารภายในรถพยาบาล ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเนื่องจากรถพลิกคว่ำจำนวนไม่น้อย* สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้มีการหารือ ร่วมกับผู้ผลิตรถพยาบาลในประเทศ มีแนวคิดที่จะให้มีการออกแบบโครงสร้างของตัวรถและห้องโดยสารให้แข็งแรงและปลอดภัยที่สูงขึ้น
ในประเทศไทย พบว่าในปี พ.ศ. 2558 รถพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเกิดอุบัติเหตุขณะนำส่งผู้ป่วย รวม 33 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 68 คน เสียชีวิต 9 คน
เป้าหมาย
ทีมนักวิจัยของเอ็มเทค และ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างแบบซูเปอร์สตรัคเจอร์ เพื่อให้ห้องโดยสารของรถพยาบาลมีความแข็งแรง ลดความรุนแรงจากการพลิกคว่ำ ช่วยยกระดับความปลอดภัย ของผู้โดยสาร
ทีมวิจัยทำอย่างไรในการออกแบบและพัฒนาห้องโดยสารรถพยาบาล
1. ออกแบบโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง โดยใช้เกณฑ์ตามมาตรฐาน UN ECE R66 และ FMVSS 220 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ระบุเงื่อนไขและเกณฑ์สำหรับการทดสอบโครงสร้างความแข็งแรงของรถโดยสาร โดยจำลองเหตุการณ์ รถพลิกคว่ำด้วยการทดสอบแบบพลวัตและแบบสถิต ตามลำดับ
2. ออกแบบวิธีการเชื่อมต่อชิ้นส่วนโครงสร้าง และเลือกวัสดุคอมโพสิตที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความแข็งแรง ความทนทาน น้ำหนัก รวมทั้งต้นทุน
3. วิเคราะห์แบบจำลองด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์เปรียบเทียบผลกับเกณฑ์ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของ สมมติฐานที่ใช้ในการออกแบบและเลือกชนิดของวัสดุที่เหมาะสม
4. จำลองเหตุการณ์รถพลิกคว่ำตามมาตรฐาน UN ECE R66 โดยใช้ตอนแบบขนาดเท่าของจริง ที่พัฒนาโดยบริษัทฯ และมีการจำลองน้ำหนักผู้โดยสารและเครื่องมือแพทย์เทียบเท่ากับการใช้งานจริง
ผลการทดสอบ
ไม่เกิดความเสียหายยุบตัวของโครงสร้างอย่างรุนแรง อีกทั้งไม่มีวัตถุใดเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ residual space
สถานภาพปัจจุบัน (กันยายน พ.ศ. 2559)
– บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด ผลิตรถพยาบาล และรถเอกซ์เรย์เคลื่อนที่แล้ว (มากกว่า 50 คัน)
– เอ็มเทคถ่ายทอดทักษะความรู้ในการวิเคราะห์และทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างห้องโดยสารให้แก่ผู้ผลิตซึ่งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นรถโดยสารประเภทอื่นๆ เช่น รถบริการทางการแพทย์ รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น
แผนงานในอนาคต
พัฒนาโครงสร้างรถพยาบาลให้สามารถป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุประเภทอื่นๆ เช่น การชนจากด้านข้าง