การศึกษาพฤติกรรมการกัดกร่อนของท่อเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงจากการกัดกร่อนของชิ้นส่วนใช้งานในเครื่องควบแน่นของระบบผลิตไฟฟ้า
โรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำมีขั้นตอนการควบแน่นไอน้ำด้วยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโดยปกติมีคลอไรด์ปนเปื้อนในปริมาณต่ำ อย่างไรก็ตามในบางฤดูกาล เช่น ฤดูแล้ง ปริมาณคลอไรด์อาจสูงขึ้นถึง 5,000 ppm จากปัญหาน้ำทะเลหนุน และคงสภาพเช่นนี้นาน 3-5 วัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ท่อเหล็กกล้าไร้สนิม 304 เกิดความเสียหายจากการกัดกร่อนได้หากไม่มีการป้องกัน หรือไม่มีขั้นตอนการเฝ้าระวังที่เหมาะสม โรงไฟฟ้าอาจต้อง shutdown โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการสำรองไฟฟ้า 3 วัน มีมูลค่า 8 ล้านบาทต่อครั้ง ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงได้ดำเนินโครงการการศึกษาพฤติกรรมการกัดกร่อนของท่อเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 ในระบบควบแน่น เพื่อหาเงื่อนไขการทำงานที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการกัดกร่อน
ผลที่ได้จากโครงการดังกล่าว ได้แก่
- ต้นแบบเครื่องทดสอบการกัดกร่อนภายใต้การไหลของระบบควบแน่น
- เงื่อนไขอุณหภูมิและอัตราการไหลของของเหลวที่ไม่ก่อให้เกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม
- วิธีการดำเนินงานเพื่อป้องกันความเสียหายของท่อ
- โรงไฟฟ้าลดค่าใช้จ่ายจากผลกระทบเมื่อมีเหตุความเสียหายมูลค่ารวม 4.1 ล้านบาท