จากวันวานถึงวันเกษียณ สุปรียา กฤษณานุวัตร์ พนักงานลำดับที่ 1 แห่ง สวทช.

“เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากเป็นที่สุดในเรื่องอะไร เราจะรู้ว่าเราต้องทำงานอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมายของเรา ในระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมาย อาจจะมีอะไรมาทำให้เราเบี่ยงเบนไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เราลองทำได้ แต่ก็ต้องทบทวนและประเมินตัวเองอยู่เสมอว่า เราอยู่บนเส้นทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ที่สำคัญเราต้องหมั่นเรียนรู้ฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ”

สุปรียา กฤษณานุวัตร์

____________________________________________________________

คุณสุปรียา กฤษณานุวัตร์ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 หลังจากทำงานที่ สวทช. มานานถึง 37 ปี เป็นบุคลากรรุ่นบุกเบิกที่ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.

คุณสุปรียามีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลาย บางงานได้ทำเพียงครั้งเดียว เช่น การเป็นผู้ช่วยประสานงานขอที่ดินสำหรับสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ การติดต่อกับหมวดโหรพราหมณ์เพื่อทำพิธีวางศิลาฤกษ์ในการสร้างอาคารโยธี ซึ่งเป็นตึกที่ถือว่าเป็นบ้านแห่งแรกของเอ็มเทค

นอกเหนือจากงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อร่างสร้างสถานที่สำหรับทำงานแล้ว คุณสุปรียายังเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ได้ร่วมกันวางรากฐานระบบการบริหารงานบุคคลของ สวทช. ด้วย โดยมีประจักษ์พยานจากรหัสประจำตัวพนักงานหมายเลข 000001 (เริ่มมีการสร้างระบบหมายเลขประจำตัวพนักงานของ สวทช. ทั้งหมดเมื่อ ปี พ.ศ. 2551 โดยการเรียงลำดับตามวันและเวลาที่เข้ามาทำงานที่ สวทช. เพื่อให้ทราบจำนวนพนักงานทั้งหมด อีกทั้งช่วยบ่งบอกถึงระยะเวลาในการทำงานที่ สวทช. ได้อีกทางหนึ่ง)

คุณสุปรียา หรือพี่ต้อย หรือ ป้าต้อย ของน้องๆ และหลานๆ แห่งเอ็มเทคเล่าถึงชีวิตการทำงานตั้งแต่แรกเริ่มที่ย้ายโอนจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์มาอยู่ที่เอ็มเทค โดยผ่านกระบวนการสอบคัดเลือกเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานธุรการ ร่วมทำงานกับบุคลากรยุคบุกเบิกของเอ็มเทคที่เพิ่งจะมีประมาณสิบกว่าคน

ในช่วงเวลานั้น ดร. หริส สูตะบุตร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของเอ็มเทค และเป็นหัวหน้างานคนแรกของพี่ต้อยกำลังเตรียมร่าง พ.ร.บ. จัดตั้ง สวทช. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใหม่ในสังกัดกระทรวงวิทย์ ฯ ที่รวมศูนย์แห่งชาติทั้ง 3 ศูนย์ กับอีก 1 หน่วยงาน คือ ไบโอเทค เนคเทค เอ็มเทค และส่วนงานกลางไว้ด้วยกัน งานส่วนใหญ่ของพี่ต้อยจึงเป็นการช่วยสนับสนุนการร่าง พ.ร.บ. ของ ดร.หริส และทีมผู้บริหาร รวมทั้งนักวิจัยที่เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงวิทย์ฯ กลุ่มแรกที่กลับมาจากต่างประเทศ

งานแรกไม่ง่าย…ท้าทายความสามารถ

งานแรกในตำแหน่งธุรการควบคู่กับงานบุคคล คือการดูแลกรอบอัตรากำลังคน ทั้งส่วนที่เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงวิทย์ฯ ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศแล้วกำลังจะกลับมาทำงาน โดยพี่ต้อยต้องดูแผนว่าแต่ละปีจะมีนักเรียนจบกลับมาจำนวนกี่คน เมื่อรู้จำนวนก็ต้องทำหนังสือไปขออัตรากำลังคนจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทย์ ฯ ไว้รอคนที่กำลังกลับมา อีกส่วนคือ แม่บ้าน คนขับรถ รวมทั้งบุคลากรสายสนับสนุนต่างๆ ก็ต้องวางแผนควบคู่ไปด้วยว่าต้องเริ่มรับคนเมื่อใด และจำนวนเท่าไหร่

จากการที่ได้สัมภาษณ์คนเพื่อรับเข้าทำงานทำให้รู้จักคนจำนวนมาก เมื่อถึงวันที่พี่ต้อยเกษียณอายุราชการก็พบว่า พนักงานแทบทุกคนของเอ็มเทค โดยเฉพาะที่เข้ามาทำงานในช่วง 5 ปีแรกของการก่อตั้งเอ็มเทคไม่มีใครที่ไม่รู้จักพี่ต้อย ดังนั้น คิวการเลี้ยงอำลาชีวิตการทำงานในช่วง 2 เดือนก่อนเกษียณนั้นจึงมีแทบทุกวัน เป็นบทสรุปของชีวิตการทำงานที่พี่ต้อยรู้สึกภาคภูมิใจไม่น้อยเลย เมื่อถามถึงงานที่ต้องทำ พี่ต้อยเล่าว่า

“การดูแลงานบุคคล พี่เริ่มด้วยการหาข้อมูลที่เกี่ยวกับระเบียบบริหารงานบุคคล ระเบียบสารบัญโดยการไปดูตัวอย่างของหน่วยงานอื่น เช่น ปตท. แล้วนำข้อมูลมาอ่านและเรียบเรียง ส่งต่อให้คณะทำงานร่าง พ.ร.บ. ในส่วนของเอ็มเทค ตอนนั้นมีนักวิจัยกลุ่มแรกที่เพิ่งกลับมาอย่าง ดร. อนุชา เอื้อเพิ่มเกียรติ และ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่างระเบียบการบริหารงานต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในร่าง พ.ร.บ.”

ในช่วงเริ่มต้น บุคลากรของเอ็มเทคยังมีไม่มาก พี่ต้อยจึงมีโอกาสทำงานหลายอย่างที่นอกเหนือจากงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง หนึ่งในเรื่องที่พี่ต้อยประทับใจอยู่ตลอดชีวิตการทำงานคือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยติดต่อและติดตามการนำร่าง พ.ร.บ. เข้าที่ประชุม ครม. โดยร่าง พ.ร.บ. ได้รับการพิจารณาผ่านในครั้งที่ 2 ที่มีการนำเสนอ ซึ่งก็เป็นไปตามที่ ดร. หริส และทีมผู้บริหาร ได้วางแผนไว้

ทั้งนี้เหตุผลหลักของการขอ พ.ร.บ. ในการจัดตั้ง สวทช. ก็เพื่อรองรับนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศให้กลับมาทำงานวิจัยในประเทศไทย เป็นการป้องกันสมองไหลออกซึ่งกำลังเป็นปัญหาในช่วงเวลานั้น

“เมื่อเราได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องที่เรายังไม่รู้ เราก็ต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมทั้งจากการอ่านและศึกษาในตำรา ทั้งการพูดคุยสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องงานนั้น”

งานที่ในชีวิตนี้คงได้ทำเพียงครั้งเดียว

หลังจาก พ.ร.บ. ผ่านแล้ว คณะผู้บริหารก็มองหาพื้นที่สำหรับตั้ง สวทช. ซึ่งประกอบด้วยศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 3 ศูนย์ และส่วนงานกลาง โดยพื้นที่ที่คณะผู้บริหารวางแผนไว้ คือ แถวรังสิตบริเวณสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology หรือ AIT) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งแต่เริ่มเจรจาเพื่อขอพื้นที่สำหรับตั้ง สวทช. พี่ต้อยและทีมงาน ได้รับมอบหมายให้ทำจดหมายติดต่อ ประสานงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งการขอพื้นที่สำหรับก่อสร้าง สวทช. สำเร็จเรียบร้อย

ในขณะเดียวกัน กระทรวงวิทย์ฯ ก็ได้แบ่งพื้นที่ของกระทรวง ซึ่งตั้งอยู่ถนนพระรามที่ 6 ให้แก่ สวทช. สำหรับสร้างตึก พี่ต้อยและทีมงานจึงต้องช่วยกันคิดและทำหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตึก พี่ต้อยได้เล่าถึงเรื่องพิธีการก่อนสร้างตึกไว้ว่า

“พี่ต้องไปติดต่อหมวดโหรพราหมณ์ ที่สำนักพระราชวัง เพื่อขอข้อมูลเรื่องการวางศิลาฤกษ์ของตึก รวมถึงติดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ฯ ซึ่งในขณะนั้นคือ ดร.สง่า สรรพศรี ให้มาเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ ที่จริงตอนได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องพิธีการ พี่ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่พี่มองว่าส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยคือเรื่องฤกษ์งามยามดี พี่เลยคิดว่าเราทำไว้ก็ไม่เสียหายอะไร ซึ่งพอทำแล้วผู้บริหารก็พอใจ ทุกท่านให้ความร่วมมือในพิธีการด้วยดี เสียดายที่ตอนนั้นไม่ค่อยได้ถ่ายภาพเก็บไว้”

อีกหนึ่งงานที่แปลกใหม่และท้าทายสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ คือ งานตรวจรับตึกที่สร้างเสร็จแล้ว เพราะไม่มีรายละเอียดวิธีการตรวจรับที่เขียนไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ทำตาม ทุกอย่างต้องเรียนรู้กันใหม่หมด

“พี่อาศัยการอ่านหนังสือ และการสอบถามผู้รู้ เช่น ถ้าเป็นเรื่องระบบไฟก็ถามแฟนพี่ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเรื่องไฟฟ้าอยู่ที่เทคนิคดอนเมือง เรื่องการคำนวณพื้นที่ การจัดวางเครื่องปรับอากาศ ว่าพื้นที่เท่านี้ต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาดไหน จะต้องติดตั้งจุดไหน เพื่อให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบสวิตช์เปิดปิดต่างๆ เราก็สอบถามวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น และที่สำคัญพี่ได้เรียนรู้มุมมอง แง่คิด และวิธีการทำงานจากผู้บริหารทั้ง ดร. หริส และ ดร. กฤษฎา สุชีวะ (เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ในช่วงปี พ.ศ. 2535 จนถึง ปี พ.ศ. 2558) และผู้บริหารอีกหลายท่าน ทำให้ตลอดชีวิตการทำงานสามารถทำงานได้ราบรื่น และงานแทบทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายล้วนสำเร็จลุล่วงด้วยดี ช่วยให้พี่มีความมั่นใจในตัวเองว่าสามารถรับมือกับงานรูปแบบต่างๆ ที่เข้ามาได้”

อยากทำงานให้ได้ดี เราต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง

พี่ต้อยยังได้ให้แง่คิดเรื่องการทำงานไว้ว่า “งานที่เราไม่ถนัดหรือไม่มีความรู้ที่เป็นหลักวิชาการ ทำให้เราไม่สามารถแนะนำแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่ผู้รับผิดชอบได้ ดังนั้น เมื่อเราได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องที่เรายังไม่รู้ เราก็ต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจากการอ่านและศึกษาในตำรา หรือทั้งการพูดคุยสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องงานนั้น”

“ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการรถตู้ของสำนักงาน ซึ่งมักมีเรื่องของการซ่อมบำรุงรถ ถ้าพนักงานขับรถมาแจ้งว่าต้องซ่อมรถส่วนนี้ หรือเปลี่ยนอะไหล่ส่วนนั้น ถ้าเราไม่รู้เรื่องเลย เราก็อาจอนุมัติการซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่ โดยที่ความเป็นจริงอาจไม่ต้องซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่เลยก็ได้”

“พี่มักสำรวจบริเวณรอบรถตู้ในตอนเช้าของทุกวันที่มาทำงาน เพื่อตรวจสภาพก่อนว่ามีร่องรอยความเสียหายตรงไหนหรือไม่ ก่อนพนักงานขับรถจะนำไปใช้งาน การที่ทำเช่นนี้ทำให้ถ้ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับรถ เช่น เกิดอุบัติเหตุแล้วพนักงานขับรถไม่แจ้ง เราก็รู้ได้ทันที”

วิธีที่พี่ต้อยใช้ตรวจสอบอาจดูเป็นวิธีเรียบง่าย แต่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบ

วางรากฐานงานบริหารบุคลากรของ สวทช.

นอกจากงานบุคคลที่เอ็มเทคแล้ว พี่ต้อยได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในทีมงานร่างระเบียบการบริหารงานบุคคลของ สวทช. ซึ่งงานนี้ยังคงเป็นสิ่งแปลกใหม่และท้าทายเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคืองานครั้งนี้เป็นการบุกเบิกเพื่อวางรากฐานเรื่องระเบียบการบริหารงานบุคคลของ สวทช. ซึ่งจะไม่ใช่งานที่ทำจบแล้วจบเลยเหมือนหลายงานที่ผ่านมา

งานที่ต้องทำมีหลายเรื่อง ทั้งโครงสร้างฐานเงินเดือน โครงสร้างองค์กร เส้นทางอาชีพของพนักงาน และที่สำคัญคือเรื่องสวัสดิการต่างๆ ของพนักงาน หนึ่งในนั้นคือการจัดเตรียมรถสวัสดิการสำหรับรับส่งพนักงานเมื่อ สวทช. ย้ายไปที่รังสิต

คณะทำงานฯ มาจากทุกศูนย์แห่งชาติ ช่วยกันวางแผนแบ่งโซนเส้นทางการเดินรถว่าควรมีรถกี่เส้นทาง เริ่มต้นที่จุดไหนบ้าง จากนั้นก็จับคู่กับพนักงานอีกคนเพื่อลองนั่งรถสำรวจเส้นทางที่วางแผนไว้ โดยเริ่มวิ่งรถจากจุดเริ่มต้น แล้วสำรวจว่าแต่ละเส้นทางสามารถจอดรถเพื่อรับส่งพนักงานได้ตรงจุดไหนบ้าง ถ้าเป็นป้ายรถเมล์ ก็ต้องดูว่าต้องไปขออนุญาตจอดไหม หรือจอดรับได้เลย ใช้เวลาเตรียมการหลายปี จนกระทั่งเมื่อย้ายมาทำงานที่รังสิต รถรับส่งพนักงานก็ทยอยทำหน้าที่กันอย่างขยันขันแข็ง

ทุกครั้งที่ได้เห็นรถรับส่งพนักงานของ สวทช. ทั้งหมด 15 เส้นทาง พี่ต้อยก็อดภาคภูมิใจไม่ได้ ที่ครั้งหนึ่งได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเส้นทางการเดินรถด้วย

จากเอ็มเทคย้ายไปส่วนงานกลาง แล้วหวนกลับคืนสู่เอ็มเทคอีกครั้ง

ความจริงแล้วพี่ต้อยสังกัดอยู่ที่เอ็มเทค แต่ในช่วงที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างระเบียบบริหารงานบุคคลของ สวทช. ทำให้ติดพันจนต้องย้ายไปสังกัดส่วนงานกลาง โดยอยู่งานแชร์เซอร์วิส (shared services) ที่เป็นศูนย์กลางรวมงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานบุคคลของ สวทช. ช่วงนั้นมีการจัดระเบียบรหัสพนักงานทั้งหมดของ สวทช. ใหม่ โดยเรียงลำดับตามเวลาที่แต่ละคนเริ่มเข้ามาทำงานที่ สวทช. รหัสพนักงานหมายเลขของพี่ต้อยคือ 000001 บ่งบอกว่าพี่ต้อยเป็นบุคลากรลำดับแรกขององค์กร

เมื่องานของแชร์เซอร์วิสเริ่มอยู่ตัว พี่ต้อยก็ขอย้ายกลับบ้านหลังเดิมคือเอ็มเทค โดยตอนที่ย้ายมานั้น ดร. ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเอ็มเทค

จากประสบการณ์การทำงานและผลงานที่ผ่านมาของพี่ต้อย ทำให้ ดร. ปริทรรศน์ เสนอให้พี่ต้อยทำงานด้านบริหารงานวิจัยที่เอ็มเทค โดยให้เป็นเจ้าภาพโปรแกรม แต่พี่ต้อยเล่าว่า ในวันและวัยตอนนั้น แม้พี่ต้อยมั่นใจว่าตัวเองสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เกือบทุกอย่าง แต่มีอยู่ 2 อย่างที่ไม่มั่นใจและเกรงว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดีพอ นั่นคือ เรื่องวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นหัวใจของเอ็มเทค และเรื่องภาษาอังกฤษ ดังนั้นพี่ต้อยจึงขอทำงานด้านสนับสนุนการวิจัยแทนงานบริหารงานวิจัย

อย่างไรก็ดี งานที่พี่ต้อยรับผิดชอบก่อนเกษียณอายุราชการนั้น กลับเป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง

เริ่มบุกเบิกงานใหม่อีกครั้ง

การหวนกลับสู่อ้อมอกของเอ็มเทค พี่ต้อยต้องมาบุกเบิกงานสนับสนุนการวิจัย ที่ต้องใช้คำว่าบุกเบิกก็เพราะในขณะที่ได้รับมอบหมายงานนั้น ยังไม่มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่มีเป้าหมายว่าจะสนับสนุนงานวิจัยกันอย่างไร ทำให้พี่ต้อยและน้องๆ ในทีม ต้องช่วยกันคิดหาแนวทางและวิธีการทำงาน

“พี่เริ่มต้นด้วยการถามความต้องการของนักวิจัย ว่าต้องการให้ทีมพี่ช่วยสนับสนุนอะไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลว่านักวิจัยอยากให้ช่วยเรื่องการเก็บข้อมูลองค์ความรู้ของแต่ละคนและแต่ละงาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบ พี่กับน้องในทีมก็ช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้มีการเก็บข้อมูลองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ มีคุณค่า และมีประโยชน์สูงสุด สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้สะดวกและรวดเร็ว โดยข้อมูลนั้นมีความถูกต้องน่าเชื่อถือ”

ในที่สุดงานที่พี่ต้อยเริ่มบุกเบิกใหม่ในช่วงก่อนการเกษียณอายุราชการก็เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน โดยนอกจากจะเริ่มทำภายในเอ็มเทคแล้ว ส่วนกลางก็เริ่มมีการวางรากฐานระบบงานบริหารจัดการองค์ความรู้ขององค์กร หรืองาน KM (Knowledge Management) พี่ต้อยก็ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานอีกครั้งในฐานะตัวแทนจากเอ็มเทค ด้วยการที่ทำงานมาหลากหลายอย่างเป็นเวลานาน ทำให้พี่ต้อยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานใน สวทช.

สิ่งที่พี่ต้อยหลีกเลี่ยง เพราะไม่ค่อยมั่นใจว่าตัวเองจะทำได้ในเรื่องเกี่ยวกับความรู้วิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลับเป็นหัวใจของงาน KM ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีความรู้วิชาการในแต่ละด้านให้มากพอ เพราะการเก็บข้อมูลผลงานของนักวิจัย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้นั้น จะต้องมีการพิจารณาคุณภาพของงานว่าผ่านเกณฑ์ไหม ต้องสามารถหาจุดเด่นของงาน เพื่อช่วยให้นักวิจัยเจ้าของผลงาน หรือคณะผู้บริหารของศูนย์สามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการวิชาการเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งของนักวิจัย

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุราชการ พี่ต้อยก็ส่งต่องานให้น้องๆ ในทีมช่วยกันทำต่อไป งานบุกเบิกเพื่อทิ้งทวนได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจ อิ่มเอิบใจ ที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยสนับสนุนความก้าวหน้าในอาชีพของนักวิจัย และยังทำให้พี่ต้อยค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้วความรู้ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ขอแค่มีใจใฝ่เรียนรู้ รักการอ่าน เปิดกว้างทางความคิด เราก็ทำงานที่เป็นวิชาการได้แล้ว

“เมื่อทำงานให้เขาแล้ว เขาพอใจในผลงานที่เราทำให้ เท่ากับพี่ประสบความสำเร็จในงานที่ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานในฐานะฝ่ายบุคคล หรือ งานในฐานะ KM พี่ก็จะประเมินผลงานตัวเองด้วยรอยยิ้มและความพึงพอใจของผู้ที่เราทำงานสนับสนุนให้เขา”

แต่ละงานล้วนมีคุณค่า

เมื่อถามถึงงานที่ทำผ่านมาว่า งานที่พี่ต้อยชอบมากที่สุดคืองานไหน ก็ได้คำตอบว่า “แทบจะทุกงานในช่วงแรกๆ ที่ได้ทำกับอาจารย์หริส พี่มีความรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ใหญ่ แต่คนเล็กๆ อย่างเรากลับมีโอกาสทำ อย่างเช่น การมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. การสร้างตึก การร่วมกันสร้างระเบียบบริหารงานบุคคลของ สวทช. ในชีวิตการทำงานของพี่ได้มีโอกาสทำงานเหล่านี้เป็นสิ่งที่พี่ภูมิใจและประทับใจมาก”

“ประมวลจากงานหลากหลายที่ผ่านมา พี่พบว่าตัวเองชอบงานที่ให้บริการคนอื่น เมื่อทำงานให้เขาแล้ว เขาพอใจในผลงานที่เราทำให้ เท่ากับพี่ประสบความสำเร็จในงานที่ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานในฐานะฝ่ายบุคคล หรือ งานในฐานะ KM พี่ก็จะประเมินผลงานตัวเองด้วยรอยยิ้มและความพึงพอใจของผู้ที่เราทำงานสนับสนุนให้เขา”

และจากประสบการณ์ของการทำงานหลากหลายในเวลายาวนาน พี่ต้อยก็อยากจะฝากข้อคิดสำหรับคนทำงานว่า การประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นเรื่องที่เราจะต้องตั้งเป้าหมายให้ถูก แล้วทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเรา

มองย้อนกลับไปในชีวิตการทำงานของพี่ต้อยเองแล้วพบว่า พี่ต้อยทำงานแบบบุกเบิกไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะบุกเบิกจนกระทั่งวางรากฐานของงานได้สำเร็จ แต่มันไม่ได้โดดเด่นไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากเป็นที่สุดในเรื่องอะไร เราจะรู้ว่าเราต้องทำงานอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมายของเรา ในระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมาย อาจจะมีอะไรมาทำให้เราเบี่ยงเบนไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เราลองทำได้ แต่ก็ต้องทบทวนและประเมินตัวเองอยู่เสมอว่า เราอยู่บนเส้นทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ที่สำคัญเราต้องหมั่นเรียนรู้ฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ

พี่ต้อยอยากเห็นทุกคนทำงานอย่างมีความสุข เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรของเราให้เจริญก้าวหน้า ได้สร้างประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อประเทศชาติสมดังเจตนารมณ์ของทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง สวทช.