ยุพิน โชคชัยภูมิ : สุดยอดคุณแม่บ้านนักจัดการ

“สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ในการทำงานแม่บ้านคือ การเรียนรู้อุปนิสัยของคนที่ต้องให้บริการ…บางคนชอบให้จัดโต๊ะให้เรียบร้อย แต่บางคนก็ไม่ต้องการให้เคลื่อนย้ายสิ่งของบนโต๊ะ”
ยุพิน โชคชัยภูมิ
แม่บ้าน ประจำชั้น 3 ห้องผู้บริหาร
____________________________________________________________
งานสำคัญๆ ที่จัดขึ้นที่ตึกเอ็มเทค ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญปีใหม่ งานวันสงกรานต์ งานวันเกิดเอ็มเทค หรือการประชุมต่างๆ จะมีบุคคลหนึ่งที่เป็นหัวเรือสำคัญในการจัดการคือ คุณยุพิน โชคชัยภูมิ หรือที่หลายคนเรียก “ป้ากิ๊บ” แม่บ้านประจำชั้น 3 ห้องผู้บริหารนั่นเอง
ป้ากิ๊บเล่าให้ฟังว่าเดิมทีชื่อเล่นเธอไม่ได้ชื่อกิ๊บ แต่ชื่อ “เล็ก” เนื่องจากเธอเป็นลูกสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 5 คน ส่วนชื่อกิ๊บนี้เป็นชื่อที่เพื่อนร่วมงานเรียกกันเนื่องจากชอบติดกิ๊บ ป้ากิ๊บพื้นเพเป็นคนคลองสอง จังหวัดปทุมธานี เธอมาทำงานที่เอ็มเทคจากการชักชวนของอดีตหัวหน้าแม่บ้านที่อาศัยในละแวกบ้านเดียวกัน
ป้ากิ๊บเล่าว่า “ก่อนที่จะมาเป็นแม่บ้านที่ดูแลประจำที่ห้องผู้บริหาร เคยเป็นแม่บ้านประจำชั้น 2 ที่ตึกเอ็มเทคไพล็อตแพลนต์ ในสมัยนั้นนอกจากหน้าที่ที่ต้องทำความสะอาดพื้นที่ทำงานแล้ว ยังต้องให้บริการด้วย เช่น เสิร์ฟชาและกาแฟที่โต๊ะทำงานแก่เจ้าหน้าที่ แต่ต่อมาก็ได้ยกเลิกงานบริการในลักษณะนี้ไป”
สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ในการทำงานแม่บ้านคือ “การเรียนรู้อุปนิสัยของคนที่ต้องให้บริการ ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ รุ่นพี่ก็ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าใครมีอุปนิสัยเป็นอย่างไร และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการทำงาน เช่น การทำความสะอาดโต๊ะทำงานส่วนบุคคล บางคนชอบให้จัดโต๊ะให้เรียบร้อย แต่บางคนก็ไม่ต้องการให้เคลื่อนย้ายสิ่งของบนโต๊ะ โต๊ะของคนประเภทหลังนี้ก็จะเช็ดทำความสะอาดและวางของไว้เหมือนเดิม ซึ่งก็ต้องเรียนรู้ไป”
“เมื่อทำงานที่ไพล็อตแพลนต์ได้ 2 ปี ก็ย้ายมารับผิดชอบที่อาคารเอ็มเทคชั้น 1 ซึ่งมีทั้งพื้นที่ห้องปฏิบัติการ ห้องประชุม และห้องจัดอบรมสัมมนา ลักษณะของงานจะแตกต่างจากเดิม เพราะนอกจากจะต้องทำความสะอาดพื้นที่แล้ว ก็ต้องช่วยจัดและเสิร์ฟอาหารว่างและชากาแฟ สำหรับงานอบรมสัมมนา ซึ่งต้องวางแผนให้ตรงเวลาพักของผู้เข้าอบรม และวางแผนการทำงานให้ได้ตามหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบภายในเวลาอีกด้วย”

ปัจจุบันป้ากิ๊บเป็นแม่บ้านประจำชั้น 3 ห้องผู้บริหาร ป้ากิ๊บเล่าว่าเมื่อทำงานที่ชั้น 1 ได้ 2-3 ปี ก็มีการเวียนงานจนได้มาประจำที่ชั้น 3 ห้องผู้บริหาร ซึ่งสมัยนั้น ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หน้าที่รับผิดชอบคือ อำนวยความสะดวกให้ผู้บริหาร ทำความสะอาดเฉพาะห้องทำงาน และทำงานตามกิจกรรมของทีมเลขานุการ ในส่วนของการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริหาร งานหลักคือการเสิร์ฟน้ำ ชา กาแฟ และอาหารในบางครั้งที่มีการประชุมคาบเกี่ยวช่วงเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเสิร์ฟ รวมถึงจัดอาหารให้รวดเร็ว สวยงาม น่ารับประทาน

การทำงานให้สำเร็จลุล่วงและเป็นไปตามเป้าหมายนั้น ป้ากิ๊บเผยเคล็ดลับว่า “เราต้องมีการวางแผนและเตรียมการล่วงหน้า เช่น งานประชุมไหนที่ต้องใช้จานชาม ก็ต้องเตรียมล้างทำความสะอาดล่วงหน้าให้พร้อมใช้งาน งานที่ต้องเตรียมผลไม้ก็ต้องสั่งให้มาส่งเร็วเพื่อจะได้มีเวลาล้างและปอกจัดจาน หรืองานที่ต้องทำร่วมกันหลายฝ่าย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องรีบแจ้งเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที”
“เพื่อป้องกันความผิดพลาด ป้าจะต้องตรวจสอบตารางเวลาของงานต่างๆ เช่น งานประชุมหากคาบเกี่ยวช่วงเที่ยงก็จะประสานกับทีมเลขาล่วงหน้า เพื่อจะสั่งอาหารให้ทันเวลา ร้านอาหารที่เลือกจะพิจารณาจากวัตถุดิบที่ใช้ เช่น ใช้ข้าวหอมมะลิไหม รสชาติเป็นอย่างไร และราคาเหมาะสมหรือไม่”
ส่วนเคล็ดลับการสั่งอาหารและวิธีการเสิร์ฟนั้น ป้ากิ๊บบอกว่า “อาศัยประสบการณ์จากการสังเกตว่าผู้บริหารคนไหนชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประชุมหลายคน เมนูอาหารที่สั่งจะต้องหลากหลายชนิด เช่น เมนูข้าว เมนูเส้น รสชาติจืดบ้าง เผ็ดบ้าง เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้เลือก ส่วนการเสิร์ฟจะมีลำดับการเสิร์ฟด้วย เช่น คนไหนชอบเลือก ก็จะให้เลือกก่อน เป็นต้น”
เมื่อถามถึงความผิดพลาดในการทำงาน ป้ากิ๊บเล่าว่า “มีผิดพลาดบ้าง ส่วนใหญ่เป็นงานใหญ่ที่ต้องช่วยกันหลายฝ่าย ซึ่งอาจไม่ได้ตามความคาดหวังก็จะได้รับคำติกลับมา เราก็ต้องไปขอโทษและรายงานให้ทราบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น”
หลายคนในเอ็มเทคต่างสงสัยว่าป้ากิ๊บเคยทำงาน หรือเคยฝึกฝนด้านการจัดการจากที่ไหนมาก่อนหรือไม่
ป้ากิ๊บตอบว่า “เมื่ออายุ 18 ปี ได้เข้าไปทำงานในบ้านของเจ้านายราชสกุลหนึ่ง ซึ่งคุณอาที่ทำงานอยู่ที่นั่นได้ชักชวนให้มาเป็นพี่เลี้ยงของลูกหลานราชสกุลนี้ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ใหม่คือระบบการทำงานในบ้าน เช่น การดูแลรับใช้เจ้านาย การปูที่นอน การจัดโต๊ะอาหาร ป้ารับผิดชอบดูแลเจ้านาย 2 คน และลูกของเจ้านายอีก 1 คน ระบบการทำงานในบ้านจะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนไม่ปะปนกัน แต่อาสอนเสมอว่าให้รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว แม้จะไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานที่นี่คือ กฎระเบียบต่างๆ ความตรงต่อเวลา รวมถึงการจัดอาหาร”
“อาสอนเสมอว่าให้รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว แม้จะไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม”
“การทำงานที่นี่ต้องได้รับการฝึกฝนจนกว่าจะพร้อม ถ้ายังไม่พร้อมก็ยังไม่สามารถเข้าไปรับใช้เจ้านายได้ ป้าใช้เวลาฝึกฝนเกือบ 1 ปี จึงสามารถดูแลลูกเจ้านายได้ การที่ได้รับพิจารณาให้ดูแลลูกหลานเจ้านายได้ เนื่องจากยังมีอายุน้อย และมีความคล่องตัวสามารถไปรับ-ส่งที่โรงเรียนได้”
“ข้อจำกัดของการทำงานที่นี่คือไม่อิสระกลับไปเยี่ยมบ้านได้ 3 เดือนต่อครั้ง เวลาจะไปไหนมาไหน ต้องแจ้งยามที่หน้าประตู ครั้งไหนที่รถไม่ว่างไปรับน้องที่โรงเรียน จะดีใจกันมากทั้งพี่เลี้ยงทั้งเจ้านาย เนื่องจากระยะทางจากบ้านและโรงเรียนไม่ห่างกันมากสามารถเดินเถลไถลได้ ป้าทำงานที่นี่ได้ 4 ปีก็ลาออก เพราะอยู่ในกรอบมานานต้องการมีอิสระ”
“ตอนออกจากงานยังไม่มีงานทำ พอดีมีนายหน้าหาคนงานไปทำโรงงานกระสอบปุ๋ย งานโรงงานมีอิสระมาก ได้พบผู้คนมากมาย มีเพื่อนทั้งชายและหญิง ทำได้ 6-7 ปี ก็เปลี่ยนมาทำงานโรงงานผลิตอะไหล่รถแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ ป้าคุมเครื่องปั๊มโลหะเพื่อทำไส้กรองของรถมอเตอร์ไซด์ เมื่อทำงานได้สักพักก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นผู้นำการประท้วงเกี่ยวกับประกันสังคม เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ด้านความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การเป็นผู้นำประท้วงก็มีความเสี่ยงที่อาจโดนลอบทำร้ายได้ จึงมักมีแนวร่วมไปส่งที่บ้านทุกวันเพื่อคอยปกป้อง”
“สถานการณ์ตอนนั้นตึงเครียด เพราะบริษัทเรียกหัวหน้างานเข้าพบเพื่อยื่นข้อเสนอให้มาปรามลูกน้อง พวกเราก็แก้เกมด้วยการประท้วงไม่ทำงานล่วงเวลา โดยป้าจะส่งข้อความผ่านเศษกระดาษให้แก่แนวร่วม เมื่อทั้งไลน์การผลิตไม่มีคนทำงานล่วงเวลา บริษัทฯ จึงมุ่งเป้ามาที่ป้าและเรียกเข้าไปต่อว่า ตอนนั้นก็คิดว่าทำดีที่สุดแล้ว และการที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าไม่ไหวจริงๆ คงลาออก และในที่สุดก็ไม่สามารถทำงานที่นี่ต่อได้ ประธานสหภาพแรงงานก็อาสาเจรจาเรื่องเงินค่าจ้างออกจากงานให้ หลังจากนั้นก็มาสมัครเป็นแม่บ้านที่เอ็มเทค ตอนนั้นก็คิดว่าตัวเองจะทำงานแม่บ้านได้ไหม เนื่องจากชอบงานโรงงานมากกว่า”
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานที่เอ็มเทค “การทำงานที่นี่มีความสุขดี นอกจากงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว งานใหญ่อื่นๆ ก็สามารถจัดการได้ตามเป้าหมายตามที่เจ้าของงานคาดหวังไว้ ซึ่งถือเป็นความภูมิใจในการทำงาน ส่วนชีวิตในวัยเกษียณอยากไปอยู่ที่ชัยภูมิ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของสามี ที่นั่นพ่อแม่สามีมีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม” ป้ากิ๊บกล่าวทิ้งท้าย
____________________________________________________________
ยุพิน โชคชัยภูมิ
จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดกล้าชอุ่ม ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี