บริหารงาน บริหารคน ในแบบของ รื่นเริง พรประดับ

“สิ่งที่ผมถ่ายทอดสู่รุ่นน้องไม่ใช่ความรู้ทางเทคนิค เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์และเรียนรู้จากสถาบันการศึกษามาแล้ว สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ คือเรื่องของการรับมือกับผู้ขอรับบริการในสถานการณ์ต่างๆ”
รื่นเริง พรประดับ
วิศวกรอาวุโส และรักษาการผู้จัดการ งานบริหารอาคารสถานที่ ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน
____________________________________________________________
หากเกิดปัญหาขึ้นภายในบ้านหรือในอาคารที่พักอาศัยเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบน้ำ ไฟฟ้า ปรับอากาศ และโทรศัพท์ ผู้อยู่อาศัยก็ต้องตามช่างที่ชำนาญในแต่ละด้านมาแก้ไข ซึ่งบางครั้งก็หาช่างได้ยากหรือมาล่าช้า แถมยังแก้ปัญหาไม่ได้อีก ยิ่งทำให้เสียทั้งอารมณ์และเวลา
อาคารสำนักงานขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องมีวิศวกรและช่างประจำอาคาร เพราะหากเกิดปัญหาดังกล่าวจะทำให้แก้ไขได้ทันท่วงที วิศวกรและช่างประจำองค์กรถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ภารกิจหลักขององค์กรดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
เรียนควบคู่กับทำงาน
คุณรื่นเริง พรประดับ วิศวกรอาวุโส และรักษาการผู้จัดการ งานบริหารอาคารสถานที่ เกริ่นถึงภูมิหลังก่อนเข้าทำงานที่เอ็มเทคว่า “ขณะที่ผมเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาไฟฟ้ากำลัง ที่วิทยาลัยช่างกลปทุมวัน (ชื่อเดิมในขณะนั้น) ผมก็ทำงานเป็นช่างในไซต์งานก่อสร้างพร้อมกันไปด้วย”
“เมื่อเรียนจบ ปวส. ก็ได้สมัครเข้าทำงานในบริษัทที่รับติดตั้งระบบไฟฟ้าในงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในตำแหน่งหัวหน้าคนงาน (foreman) ไซต์งานแรกอยู่ในกรุงเทพฯ บริเวณสามย่าน ชื่อโครงการในขณะนั้นคือ โครงการจุฬาไฮเทค หรือ จามจุรี สแควร์ ในปัจจุบัน หน้าที่ในตอนนั้นผมได้รับมอบหมายให้ควบคุมการติดตั้งระบบท่อไฟตั้งแต่ชั้นใต้ดินถึงชั้นที่ 9 เงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับในขณะนั้นถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่จบ ปวส. ด้วยกันที่ทำงานในธุรกิจอื่นๆ”
“ถึงแม้ว่างานก่อสร้างได้รับค่าตอบแทนสูง แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่มีอันตรายและมีความเสี่ยงสูงด้วย เพราะต้องทำงานในที่สูง ต้องปีนโครงเหล็กขึ้นไปบนนั่งร้านหรือบนโครงสร้างอาคารที่ยังไม่เรียบร้อย เพื่อไปตรวจดูการติดตั้งท่อไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้ว่าถูกต้องตามแบบหรือไม่ เมื่อทำงานได้ปีกว่าๆ ผมก็ออกมาเรียนต่อในระดับปริญญาตรี”
ก้าวสู่เอ็มเทค
คุณรื่นเริง เล่าว่า “หลังจากจบ ป.ตรีในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง ผมก็ได้เข้าทำงานเป็นช่างซ่อมบำรุงระบบประกอบอาคารที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ตึกลูกเต๋า) ซึ่งเป็นช่วงที่การก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศ (ที่ปัจจุบัน) ใกล้แล้วเสร็จ เอ็มเทคเปิดรับสมัครตำแหน่งวิศวกร งานอาคาร ผมจึงมาสมัครงานที่เอ็มเทค ซึ่งในขณะนั้นคุณศิริวรรณ [1] ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานวิศวกรรมสนับสนุน (ชื่อเดิมของงานในขณะนั้น) ผมได้มาสอบสัมภาษณ์ แล้วก็ผ่านการคัดเลือกในครั้งนั้น ตอนนั้นผมคาดเดาเองว่าสาเหตุที่ผมได้รับเข้ามาทำงานที่เอ็มเทค อาจเป็นเพราะบ้านผมอยู่ที่รังสิตซึ่งใกล้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ที่กำลังมีการก่อสร้าง สามารถเข้ามาดูแลงานก่อสร้างที่นี้ได้สะดวก”
“ตอนเริ่มทำงานที่เอ็มเทค ผมมีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและจัดทำแบบการจัดพื้นที่ในแต่ละห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมการสำหรับย้ายเครื่องมือและครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์จากอาคารโยธีมาติดตั้งที่อาคารเอ็มเทค แต่ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม เมื่อถึงตอนติดตั้งจริงก็ต้องแก้ไขที่หน้างานอยู่หลายจุดทำให้ต้องใช้เวลาเพื่อปรับแก้อยู่พอสมควร”
“หลังจากที่ย้ายเข้าอาคารเอ็มเทค งานในช่วงแรกเมื่อเริ่มใช้พื้นที่อาคารเอ็มเทคและอาคารเอ็มเทคไพลอตแพลนต์คือ งานติดตั้งระบบประกอบอาคารต่างๆ ให้กับครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ทยอยเข้ามา เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำให้เย็น (cooling system) ระบบอัดอากาศ (air compressor) เป็นต้น ซึ่งการติดตั้งระบบให้กับครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์นี้มีทั้งแบบที่มีแผนงานแจ้งไว้ล่วงหน้าและแบบที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า”
“ผมและทีมงานช่างต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาหน้างาน เพื่อให้เครื่องมือและครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เหล่านั้น สามารถเดินเครื่องหรือตรวจรับงานได้ภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาที่จำกัด ความไม่พร้อมของวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นประสบการณ์ทำงานที่ดีของผม อีกทั้งยังทำให้ผมได้มีโอกาสที่ดีที่ได้รู้จักพี่ๆนักวิจัยในกลุ่มงานต่างๆ ด้วย”
“ปัจจุบันงานที่รับผิดชอบส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบประกอบอาคารต่างๆของเอ็มเทค เช่น ลิฟต์ โทรศัพท์ ระบบไฟฟ้า ระบบส่งจ่ายน้ำประปา ระบบปรับอากาศ และระบบอื่นๆ รวมถึงงานปรับปรุงพื้นที่ทั้งในส่วนของสำนักงานและห้องปฏิบัติการเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างการทำงาน และรูปแบบของการทำงานวิจัยในปัจจุบัน”
“ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สวทช. มีนโยบายให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์แห่งชาติมากขึ้น ผมก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการในการทำงานให้กับอาคารของศูนย์แห่งชาติอื่นๆ หลายโครงการ เช่น โครงการติดฟิล์มกันความร้อนในอาคาร สวทช. โครงการฉีดพ่นโฟมกันความร้อนในอาคาร สวทช. และโครงการปรับปรุงห้องน้ำเพื่อผู้พิการ เป็นต้น”

เมื่อถามถึงปัญหาของงานระบบประกอบอาคารภายในอาคารเอ็มเทคที่พบบ่อยและแก้ยากที่สุด คุณรื่นเริงกล่าวว่า “ปัญหาที่แก้ยากที่สุดคือ ระบบปรับอากาศ เนื่องจากระบบปรับอากาศถูกออกแบบและใช้งานมาแล้วเกือบ 20 ปี ดังนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ย่อมมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งการแก้ปัญหาก็ต้องคำนึงถึงเรื่องงบประมาณ และยังต้องพิจารณาเรื่องการประหยัดพลังงานควบคู่ไปด้วย”
“นอกจากปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศแล้ว เรายังพบปัญหาของเชื้อราที่เกิดขึ้นในบางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากระบบปรับอากาศด้วยเช่นกัน ในทางเทคนิคการแก้ไขปัญหาเรื่องเชื้อราจำเป็นต้องลดปริมาณอากาศที่เติมเข้าไปในพื้นที่เพื่อทดแทนอากาศเดิม (air change) เราต้องควบคุมทั้งอุณหภูมิและความชื้นให้อยู่ในช่วงที่เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ แต่วิธีเหล่านี้จะใช้พลังงานและงบประมาณค่อนข้างสูง ปัจจุบันเราพยายามแก้ปัญหานี้ โดยเลือกใช้วิธีที่ไต่ระดับการลงทุน ตั้งแต่การลงทุนน้อย ไปจนถึงติดตั้งระบบที่มีการลงทุนสูง ตามแต่ความจำเป็นในแต่ละพื้นที่”
เรียนเพิ่ม…เสริมศักยภาพ
เมื่อถามว่าการอบรมสัมมนามีส่วนช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานหรือไม่ คุณรื่นเริง เล่าว่า “ผมไม่ได้จำกัดแนวทางว่าจะต้องไปเรียนรู้ด้วยการเข้ารับการอบรมเท่านั้น แต่ผมเห็นว่าการที่ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการที่มีความยากหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นจะช่วยพัฒนาตัวเราให้เก่งขึ้น”
“อย่างไรก็ดี หากมีหัวข้ออบรมที่เกี่ยวกับการจัดการด้านพลังงาน หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ของระบบประกอบอาคารผมก็มักเข้าร่วมด้วยเสมอ นอกจากนี้ หากมีวิศวกรงานอาคารของศูนย์อื่นไปอบรมในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ก็มักจะมาแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ และความรู้แก่กัน ในวาระที่มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน”
“อีกทั้งการได้เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ก็ช่วยให้เราทำงานเก่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคุณสุพจน์ [2] คือ การเตรียมข้อมูลที่ดีด้วยตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าประชุม เพราะข้อมูลที่ดีจะทำให้เรามีความมั่นใจและสามารถผ่านการประชุมนั้นๆ ไปได้ด้วยดี อีกทั้งยังช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้” คุณรื่นเริงกล่าวเสริม

ถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นน้อง
เนื่องจากหน้าที่หลักของงานบริหารอาคารสถานที่เป็นงานให้บริการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค ซึ่งผู้ขอรับบริการส่วนใหญ่จะนึกถึงเมื่อตอนประสบปัญหา ดังนั้น “การรับมือกับผู้ขอรับบริการ” ถือเป็นทักษะที่ต้องให้ความสำคัญ
คุณรื่นเริง เล่าว่า “การทำงานที่ผ่านมา สิ่งที่ผมถ่ายทอดสู่รุ่นน้องไม่ใช่ความรู้ทางเทคนิค เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์และเรียนรู้จากสถาบันการศึกษามาแล้ว สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ คือเรื่องของการรับมือกับผู้ขอรับบริการในสถานการณ์ต่างๆ เนื่องจากผมเคยทำงานที่ต้องติดต่อกับผู้รับบริการโดยตรงมาก่อน จึงพอมีประสบการณ์รู้ว่าคนไหนต้องรับมือแบบไหน หรือในสถานการณ์แบบไหนเราควรจะแก้ปัญหานั้นๆ อย่างไรและต่อรองอย่างไร”
“วิธีหรือเทคนิคของผมคือ เราต้องเข้าใจผู้ขอรับบริการที่เข้ามาหาเราว่า เขาเข้ามาหาเราด้วยปัญหาแบบไหน มีความเร่งรีบในการแก้ปัญหามากน้อยเพียงใด หรือปัญหานั้นเกิดจากการกระทำที่ผิดพลาดของเราหรือทีมงานเราหรือไม่ การทำความเข้าใจนิสัยใจคอของคนเหล่านี้จะทำให้เรารับสถานการณ์ได้ดีขึ้น อีกทั้งการสังเกตบุคลิกและลักษณะเฉพาะบุคคล เช่น การแต่งกาย และเครื่องประดับ ก็จะช่วยประเมินได้ว่าผู้ขอรับบริการคนนั้นมีนิสัยใจคอแบบไหนได้”
“ในกรณีที่ปัญหาเกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดของทีมงานอาคาร รวมถึงทีมช่าง แม่บ้าน และรปภ. ผู้ขอรับบริการมักจะไม่แจ้งในระบบ แต่จะแจ้งผ่านโทรศัพท์หรืออีเมล์มาที่ผมโดยตรงและผ่านสายบังคับบัญชาให้รับทราบด้วย ซึ่งถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ ผมจะไม่ตอบอีเมล์กลับในทันที แต่จะขอไปรับฟังปัญหาจากผู้รับบริการโดยตรง เพราะผมเชื่อว่าการส่งข้อความกลับในทันทีอาจไม่ได้อธิบายข้อมูลได้ทั้งหมด และการอ่านจากข้อความที่ส่งไปก็ไม่สามารถส่งหรือแสดงความรู้สึก ขอโทษ เสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นของเราให้ผู้ขอรับบริการทราบได้ การได้คุยกับผู้ขอรับบริการโดยตรงและอธิบายจนทำให้เขาเข้าใจก็จะช่วยให้ปัญหาจบลงด้วยดี”
“สำหรับการบริหารทีมงานบริหารอาคาร ผมเชื่อว่าแม้ผมจะไม่ได้อยู่ในงานนี้ ทีมงานก็สามารถรับงาน แก้ไขปัญหาเรื่องระบบประกอบอาคารและสามารถเดินงานต่อได้ เพราะทุกคนมีประสบการณ์สูงและมีความรู้ความเข้าในงานดี รู้หน้าที่ของตนเองว่าต้องทำอย่างไร ถึงแม้บางครั้งอาจมีงานที่ไม่ได้ตรงตามหน้าที่หรืองานใหม่ๆ ที่ได้รับมอบหมายมา เราก็จะพัฒนาตัวเองไปตรงจุดนั้นเพื่อให้เราสามารถให้บริการได้ตามความต้องการที่เพิ่มขั้น”
“การที่เราผลักดันให้ทีมงานพัฒนาตัวเองเพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะองค์กรเองก็มีการปรับตัวในการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทรอบตัวตลอดเวลา ดังนั้น การที่เรารู้จังหวะในการขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน เขาก็เต็มใจที่จะพัฒนาตัวเองและช่วยให้งานเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี”
อนาคตใกล้ไกล
คุณรื่นเริงกล่าวว่า “ผมภูมิใจที่ได้เป็นวิศวกร โดยเฉพาะเป็นวิศวกรที่ทำงานในเอ็มเทค ผมมีความสุขดีในสายอาชีพนี้ งานวิศวกรรมยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย ตอนนี้ผมถือว่าได้ทำบรรลุเป้าหมายในชีวิตการทำงานเป็นวิศวกรแล้ว ทั้งดูแลโครงการและทีมงานบริหารอาคารสถานที่ ผมสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่ได้กังวลว่างานนั้นจะดูดีหรือดูด้อยค่าหรือไม่ ผมยังคงทำงานหน้างานร่วมกับช่าง หรือแม่บ้าน เช่น งานตรวจสอบห้องสุขา และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าต่างๆ เพื่อหวังว่าจะทำให้เราเข้าใจปัญหา รวมถึงความรู้สึกของคนที่อยู่หน้างานได้ดีขึ้น”
“ส่วนอนาคตผมอยากกลับไปบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดเพื่อทำเกษตรพอเพียง กลับไปใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ทำงานหรือมีอาชีพในแบบที่ใช้ใจทำมากกว่าใช้สมอง สวนทางกับชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะตรงกับตัวตนของเรามากที่สุด” คุณรื่นเริงกล่าวทิ้งท้าย
____________________________________________________________
รื่นเริง พรประดับ
จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาติดตั้งไฟฟ้ากำลัง และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาติดตั้งไฟฟ้ากำลัง จากวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน ระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร