ประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ตลาดของ อังคณา มิตรสงเคราะห์

“การศึกษาวิเคราะห์เชิงการตลาดจะต้องติดตามข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากแนวโน้มของโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การหาความรู้ การเข้าร่วมการสัมมนาเพื่อฟังบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในทำงาน”
คุณอังคณา มิตรสงเคราะห์
นักวิเคราะห์อาวุโส งานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
2 ปีกับการเป็นนักวิเคราะห์ตลาดที่บริษัทเอกชน
คุณอังคณา มิตรสงเคราะห์ นักวิเคราะห์อาวุโส งานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาว่า “หลังจากจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา และได้กลับมาประเทศไทย ก็เริ่มทำงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านที่ปรึกษา โดยเน้นการศึกษาเชิงการตลาด รวมทั้งเป็นผู้จัดการประชุมสัมมนา (organizer) ด้วย
คุณอังคณา ยกตัวอย่างงานที่เคยทำว่า “บริษัทได้รับงานจากลูกค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ลูกค้าต้องการให้สำรวจความเห็นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาจำหน่ายในประเทศไทย รวมทั้งค้นหานักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงที่คนไทยชื่นชอบ เพื่อมาเป็นพรีเซนเตอร์ในภาพยนตร์โฆษณาของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้”
“การสำรวจฯ ได้ใช้แบบสำรวจที่ลูกค้าส่งมาให้ แต่ต้องแปลเนื้อหาทั้งหมดให้เป็นภาษาไทย และให้เวลาประมาณ 3 เดือนในการทำงาน บริษัทได้จ้างกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายตามช่วงอายุและกลุ่มอาชีพต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาผลลัพธ์ที่ต้องการ หลังจากส่งผลการสำรวจฯ ให้กับลูกค้าไปไม่นาน พบว่าโฆษณาของผลิตภัณฑ์ทางทีวีมีพรีเซนเตอร์เป็นคนเดียวกับที่ได้รับคัดเลือกตามผลการสำรวจฯ”
“อีกงานที่ค่อนข้างน่าสนใจ คือ การทำ focus group เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายแบ่งตามกลุ่มอาชีพต่างๆ ต่อผลิตภัณฑ์บริการในธุรกิจประกันชีวิต โดยบริษัทเจ้าของงานต้องการจัดรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และไม่ได้บอกว่า นี่คือการทำงานสำรวจตลาดแบบคู่ขนานไปกับหน่วยงานภายในบริษัทที่ได้ดำเนินการสำรวจฯ แบบเดียวกันนี้ พบว่าผลการสำรวจฯ ที่ออกมาใกล้เคียงและเป็นไปในทางเดียวกับผลการสำรวจฯ ของบริษัท ผลงานนี้ทำให้บริษัทเจ้าของงานพึงพอใจเป็นอย่างมาก” คุณอังคณาเล่าถึงความภูมิใจ
เมื่อถามว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ทำงานที่บริษัทแห่งนี้ ได้ใช้ความรู้ด้านสถิติตามสาขาวิชาที่เรียนมาในระดับปริญญาตรีกับงานที่ทำบ้างหรือไม่ คุณอังคณา ตอบว่า “เนื่องจากลูกค้าไม่ได้ต้องการการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคทางสถิติเบื้องต้น จึงไม่ได้ใช้ความรู้ด้านสถิติในเชิงลึกกับงานที่ทำมากนัก เช่น การกำหนดขอบเขตและรูปแบบการทำงาน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง การดูโอกาสความเป็นไปได้ของข้อมูล เป็นต้น”
“ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานจะต้องขึ้นกับปัจจัยด้านงบประมาณและเวลา รวมทั้งต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และประสบการณ์กับเพื่อนๆ ในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ในการทำงานด้านนี้ เรื่องของ ‘Connection ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก’” คุณอังคณา กล่าวเสริม
จุดเปลี่ยนผันสู่หน่วยงานภาครัฐ
คุณอังคณาทำงานในบริษัทแห่งนี้ได้ราว 2 ปี ระหว่างนั้น บริษัทจัดงานประชุมสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับ Y2K จึงทำให้เธอมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับทีมงานของเนคเทค คุณอังคณาเล่าว่า “ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงปี 2540 เศรษฐกิจไม่ดี บริษัทหลายแห่งลดจำนวนพนักงาน ครอบครัวจึงเห็นว่า การทำงานในหน่วยงานราชการน่าจะมั่นคงกว่า แม้ว่าค่าตอบแทนจะน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ก็ตาม” จากนั้นไม่นาน จึงได้มาสมัครเข้าทำงานที่เนคเทคในปี 2542 ในกลุ่มงานที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนา
“การทำงานที่เนคเทคแตกต่างจากที่ทำงานเดิมมาก ตอนเริ่มงานใหม่ๆ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน คือ เรื่องขั้นตอนการทำงาน การเขียนหนังสือราชการ และการใช้ภาษาไทยแทนภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น”
เมื่อทำงานที่เนคเทคได้ 2 ปี คุณอังคณาได้ขอโอนย้ายระหว่างหน่วยงานภายในเนคเทคไปทำงานกับกลุ่มงานด้านพัฒนาธุรกิจ ซึ่งคาดว่าเหมาะกับตนเองมากกว่า คุณอังคณาเล่าถึงงานหนึ่งที่มีโอกาสได้ทำว่า “เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศกับหน่วยงานเอกชนในต่างประเทศ เพื่อหาความร่วมมือในโครงการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transport Systems : ITS) หลังจากนั้น การปรับโครงสร้างหน่วยงานภายในของ สวทช. ทำให้ได้ทำงานรับผิดชอบโครงการอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านยานยนต์ และวิศวกรรมการผลิต จึงทำให้ได้รู้จักคนในต่างสาขาอาชีพมากขึ้น”
เมื่อเอ็มเทคเปิดรับนักวิเคราะห์ในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โดยมีภารกิจคือการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจและการตลาด เธอจึงตัดสินใจมาสมัครสอบ คุณอังคณาเล่าถึงบรรยากาศการสอบสัมภาษณ์ว่า “ช่วงเวลานั้น ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และเป็นผู้สอบสัมภาษณ์เอง คำถามที่ประทับใจคือ ถ้าผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำขึ้น ผู้ใช้งานไม่เห็นด้วย จะทำอย่างไร? จึงตอบว่า เราเป็นผู้หาข้อเท็จจริงมาให้ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ แม้ในวันนี้อาจยังไม่เชื่อ แต่ในอนาคต ข้อมูลนี้อาจจะถูกนำมาใช้ประโยชน์อีกก็เป็นได้”
เมื่อเริ่มทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ คุณอังคณาเล่าว่า “การทำงานที่เนคเทคและเอ็มเทค มีความต่างกันทั้งในเรื่องลักษณะของเทคโนโลยี ผลงานวิจัย และวิธีการทำงาน โดยการทำงานที่เอ็มเทค จะเริ่มจากการวิเคราะห์โจทย์ความต้องการของทีมวิจัย ทำความเข้าใจกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ค้นหาข้อมูลทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงวิชาการ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางการประยุกต์ใช้งานของผลงานวิจัย รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ”
“ด้วยลักษณะของงานที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยหลายโครงการที่มีการประยุกต์ใช้งานที่แตกต่างกัน ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้น ได้ติดต่อพูดคุยกับบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาอาชีพ ทำให้รู้สึกว่า งานสนุก ไม่น่าเบื่อ และตื่นเต้นที่ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา”
อย่างไรก็ดี แม้จะสนุกกับการทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ แต่การศึกษาวิเคราะห์ตลาดในประเทศไทยก็มีอุปสรรคบางอย่าง คุณอังคณาให้ความเห็นว่า “การศึกษาวิเคราะห์ตลาดต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก ประเทศเรายังไม่ค่อยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นระบบมากนัก ยังไม่ค่อยมีฐานข้อมูลที่ดีและเข้าถึงได้ง่าย ฐานข้อมูลที่มีส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ และบางครั้งมีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน แต่ข้อมูลก็สามารถใช้งานได้ระดับหนึ่งเพื่อดูแนวโน้มของโลก แต่ยังไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยได้มาก เราจึงต้องดำเนินการศึกษาตลาดแบบขั้นปฐมภูมิ (primary research) คือ ต้องออกไปสำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูล สอบถามกลุ่มเป้าหมายด้วยตัวเอง”

“ยกตัวอย่างการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด ‘แผ่นยางปูพื้นคอกปศุสัตว์’ งานนี้ได้ข้อมูลการเลี้ยงโคนมจากกรมปศุสัตว์ เป็นข้อมูลตั้งต้นที่ครบถ้วนและทันสมัย เนื่องจากอาชีพหลักของประเทศไทยเป็นการทำเกษตรกรรม หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ จึงจัดทำฐานข้อมูลทางการเกษตรได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้การทำงานง่ายขึ้นระดับหนึ่ง”
“ในการทำงานหากไม่มีข้อมูลตั้งต้นที่ดีพอ ก็จำเป็นต้องดำเนินการเก็บข้อมูลเอง แต่ด้วยความที่เราเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองได้ไม่ยาก โดยจะแจ้งหน่วยงานเจ้าของข้อมูลว่า จะนำข้อมูลมาทำงานในเชิงวิชาการ ไม่ได้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่ประการใด แต่สำหรับข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ข้อมูลภาคอุตสาหกรรม ก็จะใช้วิธีการประมาณการตัวเลข เพื่อใช้ข้อมูลที่ได้มาอ้างอิง” คุณอังคณากล่าวเสริม
นอกจากการสืบค้นข้อมูลและพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว คุณอังคณาเน้นย้ำว่า“การศึกษาวิเคราะห์เชิงการตลาดจะต้องติดตามข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากแนวโน้มของโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การหาความรู้ การเข้าร่วมการสัมมนาเพื่อฟังบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในทำงาน”
อังคณา มิตรสงเคราะห์
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาสถิติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทจากคณะบริหารธุรกิจ (MBA) จาก Mount Vernon College, Washington DC ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์อาวุโส งานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ