ไทย
EN
โฟมโลหะ (metal foam) เป็นวัสดุที่มีสมบัติพิเศษ เนื้อที่พรุนทำให้มีน้ำหนักเบา สามารถยุบตัวรับแรงกระแทก ทั้งยังอาจใช้ดูดซับเสียงได้ด้วย แม้ในต่างประเทศจะมีการใช้งานมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การเปิดตลาดในประเทศยังมีโอกาสอยู่ไม่น้อย
ดร.สมพงษ์ ศรีมโนเสาวภาคย์ ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโฟมโลหะมาราว 10 ปีแล้ว โลหะที่ใช้คืออะลูมิเนียมผสม ในระยะแรกได้เลือกวิธีพ่นแก๊ส เนื่องจากกระบวนการมีต้นทุนต่ำ และได้รับสิทธิบัตรการพัฒนาหัวพ่นแก๊สที่สามารถผลิตฟองขนาดเล็กจำนวนมาก
ต่อมาจึงได้พัฒนาวิธีวัสดุแทนที่โพรง (space holder) โดยใช้เม็ดเกลือโซเดียมคลอไรด์เป็นวัสดุแทนที่โพรง เนื่องจากเกลือมีจุดหลอมเหลวสูงกว่าอะลูมิเนียม ด้วยวิธีนี้น้ำอะลูมิเนียมจะแทรกตัวไปตามช่องว่างระหว่างเม็ดเกลือ เมื่ออะลูมิเนียมแข็งตัว ก็จะใช้น้ำชะเพื่อละลายเกลือ ผลก็คือได้เนื้ออะลูมิเนียมมีช่องว่างเชื่อมถึงกันตลอด เรียกว่า โครงสร้างแบบเซลล์เปิด (open cell structure)
แม้ว่าการใช้เม็ดเกลือเป็นวัสดุแทนที่โพรงจะไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เมื่อได้ลงมือด้วยตนเองก็พบอุปสรรคทางเทคนิคหลายอย่าง เช่น ต้องให้ความร้อนกับเม็ดเกลือก่อนเทอะลูมิเนียม เพื่อไล่ความชื้น และยังทำให้น้ำอะลูมิเนียมไหลไปตามช่องว่างระหว่างเม็ดเกลือได้อย่างทั่วถึงโดยไม่แข็งตัวเร็วเกินไป
แต่การให้ความร้อนทำให้เม็ดเกลือแตกเป็นผง ทีมวิจัยจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการนำประสบการณ์ที่เคยใช้ตัวประสาน หรือ binder ในงานเซรามิกมาผสมกับเกลือ สารที่ใช้ทำให้สามารถปั้นเกลือเป็นเม็ด หรือ template ball ขนาดต่างๆ ด้วยเครื่องได้ ต่อมามีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซื้อสิทธิเทคโนโลยีไปใช้
แม้ว่าจะสามารถผลิตโฟมอะลูมิเนียมได้แล้วและมีบริษัทเอกชนมาซื้อสิทธิเทคโนโลยี แต่ทีมวิจัยก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้
ทีมวิจัยของ MTEC จึงได้ร่วมกับบริษัทเอกชนเพื่อพัฒนาโฟมอะลูมิเนียมสำหรับใช้งานด้านการดูดซับเสียงแบบปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ ยังต่อยอดด้วยการพัฒนาโฟมอะลูมิเนียมที่มีเม็ดภายในช่องโฟมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับเสียงให้ดีขึ้น
ผลงานชิ้นล่าสุดนี้ถือว่าใหม่ในระดับโลกทีเดียว เพราะมีจุดขายในเรื่องสมบัติการดูดซับเสียงในช่วงความถี่ที่ปรับได้ ทนแดดทนฝน แถมยังไม่ติดไฟ
เส้นทางที่ต้องไปต่อคือ การขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้น ทีมวิจัยจึงคุยกับกลุ่มเป้าหมายที่อาจเป็นผู้ใช้ ไม่ว่าบริษัททางด่วน โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนหน่วยงานความมั่นคง
ตัว ดร.สมพงษ์ เองยังเข้าร่วม Boot Camp ซึ่งเป็นกิจกรรมสนับสนุนผู้เริ่มต้นธุรกิจด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะและองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอผลงานให้แก่นักลงทุนใน NSTDA Investors’ Day
ต่อมาได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะในการผลักดันงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยการเข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่างๆ เช่น LIF (Leaders in Innovation Fellowships) และ GCIP (Global Cleantech Innovation Programme)
ผลก็คือ ทักษะการนำเสนอผลงานดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนสามารถคว้ารางวัลประกาศนียบัตรจากโครงการ LIF รุ่นที่ 4 รางวัลที่ 2 ได้สำเร็จจากเรื่อง “High precision sound absorber”
“คนทำงานวิจัยควรรู้เรื่องธุรกิจด้วย เพราะจะช่วยส่งเสริมงานที่ทำไปสู่เชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดความภูมิใจมากขึ้นเมื่องานที่ทำเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจริงๆ”
ดร.สมพงษ์แสดงทัศนะ
เรียบเรียง : อรวรรณ สัมฤทธิ์เดชขจร / อังคาร 1 พฤษภาคม 2561
ดร.สมพงษ์ ศรีมโนเสาวภาคย์จบการศึกษาด้านหล่อโลหะจาก University of Oxford สหราชอาณาจักร มีความเชี่ยวชาญด้านหล่อโลหะ หล่อเครื่องประดับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตโฟมโลหะและเซรามิก
ปัจจุบันเป็นนักวิจัย ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ