เมื่อเห็นคนพิการทุพพลภาพ บางครั้งเราอาจนึกขึ้นมาว่า “โชคดีเท่าไรแล้วที่เกิดมาครบ ๓๒”
อวัยวะต่างๆ ทำให้กิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนเป็นไปอย่างราบรื่น แต่หากส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป หรือมีความผิดปกติบิดเบี้ยว คดงอ หรืออ่อนแรง เรื่องง่ายๆ อย่างเช่นการแปรงฟันก็อาจกลายเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขาในทันที เมื่อเกิดความผิดปกติหรือมีอวัยวะขาดหายไป แพทย์มักจะส่งต่อไปยังนักกายอุปกรณ์
นักกายอุปกรณ์ต้องทำงานใกล้ชิดกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ เช่น พยาบาลด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดและ นักจิตวิทยา โดยทำหน้าที่ผลิตอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะหรือมีอวัยวะภายนอกส่วนหนึ่งส่วนใดผิดปรกติ พวกเขาทำหน้าที่ผลิต “กายอุปกรณ์เทียม” เพื่อทดแทนอวัยวะในส่วนที่หายไป และผลิต “กายอุปกรณ์เสริม” เพื่อช่วยให้อวัยวะที่ผิดปรกติกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปรกติอีกครั้ง
คุณบงกช แพรวพิพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า หลักสูตรนี้ต้องเรียนหนักมาก คนที่เรียนจบจากคณะนี้ยังมีจำนวนน้อยกว่าความต้องการอย่างมาก นักกายอุปกรณ์ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือและทักษะหลากหลาย ไม่ว่ากลศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ฯลฯ ทั้งยังต้องมีไหวพริบในเชิงศิลปะเพื่อให้สามารถผลิต “กายอุปกรณ์เทียมและกายอุปกรณ์เสริม” ที่มีคุณภาพสูงเพื่อคืนชีวิตที่สมบูรณ์ ให้แก่คนพิการอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนระดับอุดมศึกษา หลักสูตร “กายอุปกรณ์ศาสตรบัณฑิต” ของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงเรียนกายอุปกรณ์แห่งแรกที่ได้การรับรองขั้นสูงในระดับนานาชาติ (ISPO category 1) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ผลิต นักกายอุปกรณ์ (Prosthetist/Orthotist-นักประดิษฐ์กายอุปกรณ์เทียมและกายอุปกรณ์เสริม) อย่างจริงจัง
เธอบอกว่า นอกจากโรงเรียนสอนบทเรียนทางเทคนิคแล้ว ยังต้องผลิตนักกายอุปกรณ์ที่เข้าใจและดูแลผู้พิการได้อย่างแท้จริงอีกด้วย
ในการเรียนปีแรกวิชาที่สำคัญที่สุดสำหรับเธอคือ “ศาสตร์ว่าด้วยกายอุปกรณ์เสริมและกายอุปกรณ์เทียม (Introduction to Prosthetics & Orthotics)” ซึ่งทำให้เธอรู้จักกับหน้าที่ของนักกายอุปกรณ์และความรู้ที่เกี่ยวข้อง
“กายอุปกรณ์เทียม หมายถึงอวัยวะเทียมที่สร้างขึ้นเพื่อทดแทนอวัยวะจริง ไม่ว่าขาเทียม แขนเทียม มือเทียม รวมทั้งข้อต่อต่างๆ ที่ทำขึ้นแทนหัวเข่าและ ข้อศอกจริง ส่วนกายอุปกรณ์เสริม เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ช่วยอวัยวะที่ผิดปรกติสามารถกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปรกติมากที่สุด เช่นแผ่นรองในรองเท้า เหล็กพยุงขาและ ที่ดัดหลัง” คุณบงกชอธิบาย
ในการทำงานภาคปฏิบัติกับผู้ป่วยอาสาสมัครในวิชาว่าด้วยการสร้างขาเทียม สิ่งที่ต้องทำคือการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อเข้าใจถึงความสามารถของร่างที่ยังเหลืออยู่และเป้าหมายสูงสุดของผู้ป่วยในการใช้ชีวิตเพื่อใช้ในการประเมินและออกแบบอุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยแต่ละคน รวมทั้งต้องสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้ป่วยเพื่อให้การผลิตอวัยวะเทียมดำเนินไปอย่างราบรื่นและเหมาะสมกับพวกเขามากที่สุด
คุณบงกช ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช มาใช้กับงานของเธอในโครงการรองเท้าเฉพาะบุคคลสำหรับผู้สูงอายุ เธอยังบอกอีกว่า เธอจะทำงานในองค์กรของรัฐเพื่อที่เธอจะได้สามารถช่วยเหลือผู้คนที่ขาดแคลนโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ดีได้
เธอได้รับ “รางวัล” ที่มีคุณค่าทางจิตใจหลายครั้งจากผู้ที่ได้ใช้อุปกรณ์ที่เธอผลิตขึ้น เธอช่วยทำกายภาพบำบัด ช่วยฝึกเดิน ปรับแต่งกายอุปกรณ์จนผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นด้วยขาเทียม หรือกายอุปกรณ์เสริม ผู้ป่วยบางคนกลับมาพร้อมกับผลไม้ในสวน หรือขนมอร่อยๆ มามอบให้พร้อมคำขอบคุณจากใจจริงที่ทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากขึ้น น้ำใจเล็กๆ น้อยๆ พร้อมคำขอบคุณด้วยแววตาเปี่ยมสุขทำให้เธอรับรู้ได้ และนี่คือแรงผลักดันที่ทำให้เธอมีพลังและมุ่งมั่นทำงานผลิตกายอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการ
เธอทิ้งท้ายว่าหากมีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ก็จะนำความรู้และประสบการณ์ มาประยุกต์กับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งานกายอุปกรณ์ หนึ่งที่สำคัญคืออยากพัฒนางานของนักกายอุปกรณ์ให้สามารถผลิตกายอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและเหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุดในราคาที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ -นั่นคือความใฝ่ฝันของเธอ
บงกช แพรวพิพัฒน์ : จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขากายอุปกรณ์ศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบัน ทำงานตำแหน่ง วิศวกร ห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ