ขยายขีดจำกัดของการออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารด้วยศาสตร์รีโอโลยีแบบดึงยืด
โดยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร
ปัจจุบันนี้การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการพัฒนาสินค้าและบริการในภาคเอกชนเป็นอย่างมาก โดยหัวใจหลักของการพัฒนาคือ การทำให้สินค้าและบริการดียิ่งขึ้น รวมถึงมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง การมีนวัตกรรมหรือการทำให้สินค้าเกิดความแตกต่าง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินกิจกรรมทางการค้าในปัจจุบัน
รีโอโลยี (rheology) เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนรูปร่างและการไหลของวัสดุ โดยเฉพาะด้านอาหาร รีโอโลยีมีความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพเนื้อสัมผัส (texture) ของอาหาร เช่น ความแข็ง ความนุ่ม ความลื่น ความฉ่ำ รวมถึงความสามารถในการขึ้นรูป การไหลของผลิตภัณฑ์ผ่านท่อในกระบวนการผลิต การบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการใช้งานผลิตภัณฑ์ เช่น การปาดทา บทความนี้คณะผู้เขียนจึงนำเสนอศาสตร์รีโอโลยี โดยเน้นที่รีโอโลยีแบบดึงยืด รวมถึงความสำคัญของศาสตร์นี้ต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์อาหาร
ตัวอย่างของรีโอโลยีแบบดึงยืดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น การดูดของเหลวจากหลอด (รูปที่ 1A) การปาดเนยหรือแยมที่แผ่กระจายได้ง่ายอย่างต่อเนื่องบนแผ่นขนมปัง (รูปที่ 1B) การบดเคี้ยวอาหารในช่องปากเพื่อให้เกิดโบลัส (ก้อนอาหารที่รวมตัวกับน้ำลาย) ที่มีสมบัติการยึดเกาะตัวและการดึงยืดที่ดี กล่าวคือ ถ้าอาหารมีความหนืดสูง มีสมบัติดึงยืดต่ำก็จะทำให้รู้สึกกลืนลำบาก และมีอาการจุกแน่นที่ลิ้นปี่เมื่อกลืนอาหารนั้น แต่ถ้าอาหารมีความหนืดน้อยมาก เช่น น้ำ หากกลืนเร็วเกินไปก็อาจทำให้สำลักได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก (dysphagia) ดังนั้น การปรับความหนืด รวมถึงสมบัติรีโอโลยีแบบดึงยืดของอาหารให้เหมาะสมกับวัย และ/หรืออาการของผู้ป่วยจะช่วยให้อาหารสามารถไหลเข้าสู่หลอดอาหารได้อย่างปลอดภัย (รูปที่ 1C) [1] การทำขนมปังจากแป้งโดที่มีสมบัติ “ไหลยืด” จะสามารถโป่งตัวได้ดีในกระบวนการหมัก ทำให้ได้เนื้อขนมปังที่ฟูนุ่ม (รูปที่ 1D) การออกแบบอาหารแบบโมเลคิวลาร์แกสโทรโนมี โดยการผสมผงโพลิแซ็กคาไรด์เข้าไปในซอสหรือน้ำผลไม้ เพื่อทำให้ซอสหรือน้ำผลไม้ “ไหลยืด” เมื่อทำให้เกิดฟองก็จะได้ฟองที่คงตัวอยู่ได้นานหลายนาที (รูปที่ 1E) แล้วพฤติกรรมการ “ไหลยืด” ดังกล่าวที่ในวงการวิชาการเรียกว่า “รีโอโลยีแบบดึงยืด หรือการไหลแบบดึงยืด (extensional/elongational rheology)” นั้นคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?
รูปที่ 1 ตัวอย่างรีโอโลยีแบบดึงยืดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน (A) การดูดของเหลวจากหลอด, (B) การปาดทาเนยหรือแยมบนขนมปัง, (C) การกลืนโบลัสอาหารในระยะคอหอย, (D) การทำขนมปัง [2] และ (E) การออกแบบอาหารแบบโมเลคิวลาร์แกสโทรโนมี (molecular gastronomy)
รีโอโลยีแบบดึงยืดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
รีโอโลยีแบบดึงยืดหรือการไหลแบบดึงยืดคือ สมบัติรีโอโลยีที่เกี่ยวข้องกับความต้านทานต่อการดึง มักแสดงด้วยค่าความหนืดที่เกิดจากการยืดตัวหรือความหนืดแบบดึงยืด (elongational viscosity) โดยกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และการขึ้นรูปวัสดุในอุตสาหกรรมต่างๆ มักเกี่ยวข้องกับกระบวนการไหลที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไหลแบบดึงยืดของวัสดุที่มีหลายองค์ประกอบ และมีสมบัติยืดตัวที่แตกต่างกัน เช่น การไหลในกระบวนการอัดรีด (extrusion) การไหลในกระบวนการเคลือบผิววัสดุ (coating) การขึ้นรูปเส้นใยด้วยวิธีการปั่น (fiber spinning) การพิมพ์หมึก (ink jetting) หรือการไหลในระบบไมโครฟลูอิดิกส์ (microfluidics) เป็นต้น ในอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับกลไกการไหลแบบดึงยืดอย่างแพร่หลาย เช่น กระบวนการทำแคปซูล (encapsulation) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพโดยใช้เทคนิคไมโครฟลูอิดิกส์ หรืออิเล็กโทรสปินนิง (electrospinning) [3, 4] การรีดและการม้วนแป้งโดในอุตสาหกรรมเบเกอรี่ [5] การพิมพ์อาหาร 3 มิติด้วยเทคนิคเอ็กซ์ทรูชัน (extrusion-based 3D printing) [6] หรือแม้กระทั่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมจากโปรตีนพืชโดยใช้กระบวนการอัดรีดที่กำลังเป็นกระแสนิยมที่มาแรงในปัจจุบันนี้ สำหรับกลุ่มผู้บริโภคกินคลีน-รักษ์โลก ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ [7] ดังแสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 2 ตัวอย่างกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมบัติการไหลแบบดึงยืด (A) การไหลในท่อแคบ (channel-flow) ในระบบไมโครฟลูอิดิกส์ (microfluidics), (B) การรีดและม้วนแป้งโด (sheeting/calendering), (C) การพองตัวของเอ็กซ์ทรูเดต/การปั่นเส้นใย (extrudate expansion/fiber spinning) และ (D) การพิมพ์อาหาร 3 มิติโดยกระบวนการเอ็กซ์ทรูชัน (extrusion-based 3D printing)
ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมและสมบัติการไหลแบบดึงยืดของวัสดุ/วัตถุดิบอาหาร ตลอดจนผลิตภัณฑ์สุดท้าย [8, 9] เพื่อลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต รวมถึงผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด
ตัวอย่างความสำคัญของสมบัติรีโอโลยีแบบดึงยืดต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว
เพื่อให้เห็นความสำคัญของพฤติกรรมการไหลแบบดึงยืดต่ออุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงได้นำการศึกษาสมบัติรีโอโลยีแบบดึงยืดของผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวมาแสดงเป็นตัวอย่าง
ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ผู้เขียนขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผงเพิ่มความหนืด (thickening powders) สำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก โดยผลิตภัณฑ์ผงเพิ่มความหนืดทางการค้ามีค่อนข้างหลากหลายแต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผงเพิ่มความหนืดฐานกัม (gum-based) และฐานสตาร์ชดัดแปร (modified starch-based)
จากงานวิจัยของทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารที่เกี่ยวกับสมบัติรีโอโลยีของผลิตภัณฑ์ผงเพิ่มความหนืดที่เติมลงในน้ำดื่ม พบว่าค่าความหนืด (shear viscosity) ของตัวอย่างผงเพิ่มความหนืด 2 ชนิดที่อยู่ในกลุ่มของฐานกัม (Thickener A และ Thickener B) ที่วิเคราะห์โดยเครื่องรีโอมิเตอร์แบบหมุน (rotational rheometer) มีค่าใกล้เคียงกันตลอดช่วงอัตราเฉือนที่ศึกษา (รูปแทรกในรูปที่ 3)
อย่างไรก็ดี เมื่อนำตัวอย่างทั้งสองไปวิเคราะห์การไหลแบบดึงยืดด้วยเครื่องรีโอมิเตอร์แบบดึงยืด HAAKE CaBER1 พบว่าทั้ง 2 ตัวอย่างมีพฤติกรรมการไหลแบบดึงยืดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ฟิลาเมนต์ (filament) ของตัวอย่าง Thickener A ขาดเร็วกว่าตัวอย่าง Thickener B (รูปที่ 3 และ 4) แสดงถึงอันตรกิริยาระหว่างโมเลกุลภายในตัวอย่าง Thickener B ที่แข็งแรงกว่า Thickener A ซึ่งอาจเป็นผลมาจากขนาดโมเลกุลหรือลักษณะโครงสร้างโมเลกุลขององค์ประกอบที่อยู่ในผงเพิ่มความหนืดนั้น [10]
นอกจากนี้ การขาดของฟิลาเมนต์ที่ระยะเวลาแตกต่างกัน ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมบัติการเกาะติด (cohesiveness) ของตัวอย่างที่แตกต่างกันอีกด้วย ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ผงเพิ่มความหนืดที่เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากควรมีสมบัติรีโอโลยีแบบดึงยืดและสมบัติการเกาะติดที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการสำลัก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่โรคปอดติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
รูปที่ 3 สมบัติการไหลแบบดึงยืดแสดงการเปลี่ยนแปลงของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์ (แกน Y) ตามระยะเวลา (แกน X) ของผลิตภัณฑ์ผงเพิ่มความหนืดทางการค้า 2 ชนิดที่ผสมกับน้ำดื่ม โดย D คือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ดึงยืด ขณะที่ D0 คือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์เริ่มต้น (รูปแทรก: สมบัติรีโอโลยีแบบเฉือนแสดงค่าความหนืดที่ใกล้เคียงกันของตัวอย่างผงเพิ่มความหนืดทั้งสองชนิด)
รูปที่ 4 ลักษณะการบางลงของฟิลาเมนต์ของตัวอย่างสารละลายผงเพิ่มความหนืดเป็นฟังก์ชันของเวลาในระหว่างการทดสอบด้วยเทคนิค Capillary Break-up Extensional Rheometry (CaBER)
ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว เช่น แชมพูบรรจุซอง ที่จำเป็นต้องมีการควบคุมพฤติกรรมการไหลในระหว่างกระบวนการผลิตให้เหมาะสม กล่าวคือสมบัติการไหลแบบดึงยืดช่วยให้การควบคุมปริมาณแชมพูที่จะบรรจุในแต่ละซองได้อย่างถูกต้อง และลดการสูญเสียในระหว่างกระบวนการผลิต จากการทดสอบสมบัติรีโอโลยีของผลิตภัณฑ์แชมพูในตัวอย่าง 2 ชนิดพบว่า มีค่าความหนืดเฉือนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (รูปแทรกในรูปที่ 5) แต่เมื่อวิเคราะห์สมบัติการไหลแบบดึงยืดพบว่า ทั้งสองตัวอย่างมีการขาดของฟิลาเมนต์ที่เวลาแตกต่างกันอย่างชัดเจน (รูปที่ 5) โดยฟิลาเมนต์ของ Shampoo A ขาดเร็วกว่า Shampoo B ทำให้การบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ง่ายและรวดเร็วกว่า
รูปที่ 5 สมบัติการไหลแบบดึงยืดแสดงการเปลี่ยนแปลงของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์ (แกน Y) ตามระยะเวลา (แกน X) ของตัวอย่างแชมพูทางการค้า 2 ชนิด โดย D คือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ดึงยืด ขณะที่ D0 คือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์เริ่มต้น (รูปแทรก: สมบัติรีโอโลยีแบบเฉือนแสดงค่าความหนืดที่ใกล้เคียงกันของตัวอย่างแชมพูทั้งสองชนิด)
นอกจากนี้ การที่ฟิลาเมนต์ของ Shampoo B ขาดช้ากว่า Shampoo A อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ สตริงฟอร์เมชัน (string formation) หรือแชมพูเกิดการไหลเยิ้มจนส่งผลต่อการปิดผนึกซองด้วยความร้อน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์แชมพูที่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบซองจำเป็นต้องเลือกใช้สารเติมแต่ง (additive) ที่เหมาะสม เพื่อลดการเกิดสตริงฟอร์เมชันในกระบวนการผลิต ส่งผลให้อัตราการสูญเสียลดลงและอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ได้จากกรณีศึกษาที่เป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารได้เช่นเดียวกัน
แนวทางการทดสอบสมบัติรีโอโลยีแบบดึงยืด
งานวิจัยด้านรีโอโลยีอาหารมีการพัฒนาโมเดลวัสดุเพื่อใช้ทำนายกระบวนการขึ้นรูป การผลิตผลิตภัณฑ์ รวมถึงคุณภาพเชิงประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากการไหลแบบเฉือนจะเป็นพฤติกรรมที่สำคัญแล้ว การไหลแบบดึงยืดก็ถือเป็นพฤติกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย โดยความหนืดแบบดึงยืด (ในเชิงวิชาการมักแทนด้วย ) มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักโมเลกุลและโครงสร้างสายโซ่โมเลกุลขนาดใหญ่ เช่น โพลิแซ็กคาไรด์ หรือโปรตีนที่มักเป็นองค์ประกอบหลักในอาหาร ทำให้ค่าความหนืดแบบดึงยืดเป็นพารามิเตอร์สำคัญอีกตัวหนึ่งนอกเหนือจากค่าความหนืดเฉือน (shear viscosity หรือ ηs )
ที่ผ่านมามีการวิจัยและพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือสำหรับทดสอบความหนืดแบบดึงยืดและวิเคราะห์สมบัติการไหลแบบดึงยืดหลากหลายวิธี เช่น เทคนิค Entrance capillary flows, two- หรือ four-roll mills, thread-line rheometry, Filament-Stretching Extensional Rheometry (FISER), Rayleigh Ohnesorge Jetting Extensional Rheometry (ROJER), Dripping-onto-Substrate (DoS) rheometry และ Capillary break-up Extensional Rheometry (CaBER) [9-12] โดยแต่ละเทคนิคมีช่วงที่สามารถวิเคราะห์สมบัติการไหลแบบดึงยืดของตัวอย่างได้เหมาะสม อ้างอิงตามค่าความหนืดที่อัตราเฉือนเข้าใกล้ศูนย์ (zero shear viscosity) ของตัวอย่างและอัตราการเสียรูป (deformation rate) ของแต่ละเทคนิค ดังแสดงในรูปที่ 5
อย่างไรก็ตาม เทคนิคที่กล่าวมาข้างต้นส่วนมากพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในงานวิจัยในห้องปฏิบัติการเป็นหลักจึงไม่ได้ใช้งานอย่างแพร่หลายมากนัก ยกเว้นเทคนิค CaBER ที่มีเครื่องมือจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว จึงเป็นเทคนิคที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์สมบัติการไหลแบบดึงยืดของวัสดุและผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
รูปที่ 6 เทคนิคการวิเคราะห์สมบัติการไหลแบบดึงยืด และช่วงที่สามารถวิเคราะห์ได้ อ้างอิงตามค่าความหนืดที่อัตราเฉือนเข้าใกล้ศูนย์ (zero shear viscosity) ของตัวอย่างและอัตราการเสียรูป (deformation rate) ของแต่ละเทคนิค [13]
การทดสอบด้วยเทคนิค CaBER มีหลักการค่อนข้างง่ายและใช้ปริมาณตัวอย่างไม่มาก ขึ้นกับขนาดของแผ่นทดสอบที่ใช้ ซึ่งมักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในช่วง 4-8 มิลลิเมตร โดยตัวอย่างของเหลวที่ต้องการทดสอบจะถูกฉีดใส่ระหว่างแผ่นทดสอบชิ้นบนและล่างที่กำหนดระยะห่าง (gap size) ที่เหมาะสม จากนั้นแผ่นทดสอบชิ้นบนจะเคลื่อนที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว (ระยะเวลาในช่วง 20-100 ms) ทำให้ตัวอย่างยืดตัวออกและเกิดฟิลาเมนต์ โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์จะมีขนาดเล็กลงเป็นฟังก์ชันของเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นอยู่กับแรงแคปพิลลารี (capillary force) แรงตึงผิว (surface tension) และสมบัติแบบอิลาสติก (elasticity) ของตัวอย่าง และจะถูกวิเคราะห์ด้วยเครื่องเลเซอร์ไมโครมิเตอร์ (รูปที่ 7A) ทำให้ได้ข้อมูลเวลาที่ฟิลาเมนต์ขาด (filament break-up time) (รูปที่ 7B) และความหนืดแบบดึงยืด (extensional viscosity) (รูปที่ 7C) ของตัวอย่างได้
รูปที่ 7 (A) การทดสอบสมบัติรีโอโลยีแบบดึงยืดด้วยเทคนิค Capillary Break-up Extensional Rheometry (CaBER) ด้วยเครื่องรีโอมิเตอร์ CaBER1 (Thermo Haake GmbH, Karlsruhe, Germany) และตัวอย่างผลการทดสอบที่ได้แสดงในรูปความสัมพันธ์ระหว่าง (B) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟิลาเมนต์เป็นฟังก์ชันของเวลา และ (C) ความหนืดแบบดึงยืดเป็นฟังก์ชันของค่าความเครียดแบบ Hencky สำหรับตัวอย่างของไหลนิวโทเนียน (newtonian fluid), Boger fluid หรือกาว (adhesive) [14]
ในเชิงกลศาสตร์ของไหล พบว่าวัสดุหลายชนิดสามารถแสดงพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อแรงเฉือน และมีพฤติกรรมการไหลแบบเฉือน (shear flow) ที่ใกล้เคียงกัน แต่อาจแสดงสมบัติยืดตัวหรือการตอบสนองต่อการยืดตัวที่แตกต่างกัน ดังนั้น การวิเคราะห์สมบัติยืดตัวของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์จึงเป็นเทคนิคที่ให้ข้อมูลของสมบัติวัสดุที่จำเป็นเพิ่มเติมจากสมบัติการไหลแบบเฉือนที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยเครื่องรีโอมิเตอร์แบบหมุน ทำให้สามารถวิเคราะห์สมบัติและประสิทธิภาพการใช้งานวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่สนใจได้เหมาะสมขึ้น
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นจะเห็นว่า สมบัติรีโอโลยีแบบดึงยืดมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารอย่างมาก ทั้งในด้านการวิเคราะห์โครงสร้าง การออกแบบ และการควบคุมกระบวนการผลิต ตลอดจนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ สมบัติการไหลแบบดึงยืดยังเกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น กระบวนการเคลือบและการชุบชิ้นส่วน การขึ้นรูปฟิล์ม การพัฒนาหมึกพิมพ์ การพ่นสเปรย์ การผลิตน้ำมัน ดังนั้น การวิเคราะห์สมบัติรีโอโลยีที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ ทั้งยังสามารถควบคุมและรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Nishinari, K., Turcanu, M., Nakauma, M., & Fang, Y. (2019). Role of fluid cohesiveness in safe swallowing. Npj Science of Food, 3(1), 5.
- Crease, R. P. (2017). The physics of bread. Physics World, 30(10), 26–31.
- Formenti, S., Castagna, R., Momentè, R., Bertarelli, C., & Briatico-Vangosa, F. (2016). The relevance of extensional rheology on electrospinning: The polyamide/iron chloride case. European Polymer Journal, 75, 46–55.
- Matuła, K., Rivello, F., & Huck, W.T.S., (2020). Single-Cell Analysis Using Droplet Microfluidics. Advanced Biosystems, 4, 1900188.
- Davidson, I. (2019). Dough Piece Forming: Biscuit Cutting Machine. In Industrial Biscuit Production (pp. 45–57). Elsevier.
- Sun, J., Zhou, W., Yan, L., Huang, D., & Lin, L., (2018). Extrusion-based food printing for digitalized food design and nutrition control. Journal of Food Engineering, 220, 1–11.
- Osen, R., & Schweiggert-Weisz, U. (2016). High-Moisture Extrusion: Meat Analogues. In Reference Module in Food Science (pp. 1–7). Elsevier.
- Padmanabhan, M., & Bhattacharya, M. (1993). Planar extensional viscosity of corn meal dough. Journal of Food Engineering, 18(4), 389–411.
- Padmanabhan, M. (1995). Measurement of extensional viscosity of viscoelastic liquid foods. Journal of Food Engineering, 25(3), 311–327.
- Evageliou, V. (2020). Shear and extensional rheology of selected polysaccharides. International Journal of Food Science and Technology, 55(5), 1853–1861.
- Mckinley, G. H., & Sridhar, T. (2002). Filament-stretching rheometry of complex fluids. Annual Review of Fluid Mechanics, 34, 375–415.
- Dinic, J., Jimenez, L. N., & Sharma, V. (2017). Pinch-off dynamics and dripping-onto-substrate (DoS) rheometry of complex fluids. Lab on a Chip, 17(3), 460–473.
- Sharma, V., Haward, S. J., Serdy, J., Keshavarz, B., Soderlund, A., Threlfall-Holmes, P., & McKinley, G. H. (2015). The rheology of aqueous solutions of ethyl hydroxy-ethyl cellulose (EHEC) and its hydrophobically modified analogue (hmEHEC): extensional flow response in capillary break-up, jetting (ROJER) and in a cross-slot extensional rheometer. Soft Matter, 11(16), 3251–3270.
- Publications for HAAKE CaBER 1, ThermoScientific (https://www.thermofisher.com/)
- James, D. F. (2009). Boger Fluids. Annual Review of Fluid Mechanics, 41(1), 129–142.