จับตา ‘เทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอน’
เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ในที่ประชุมภาคีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 (COP26) ว่าจะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065
เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยได้จัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้เทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นลบ
สำหรับกลุ่มเทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นลบ เทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวภาพที่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bioenergy with Carbon Capture and Storage) เรียกย่อว่า BECCS นับเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปกักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวรแทนที่จะถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ
กลไกของเทคโนโลยี BECCS เริ่มต้นจากพืชดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศโดยกระบวนการสังเคราะห์แสง เมื่อนำชีวมวลจากพืชเหล่านี้มาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลหรืออุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อผลิตไฟฟ้าหรือความร้อนผ่านกระบวนการเผาไหม้ หรือผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (เช่น เอทานอล โดยกระบวนการหมัก)
กระบวนการดังกล่าวจะปล่อยก๊าซที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถดักจับได้ ก๊าซนี้จะถูกอัดให้เป็นของเหลวและขนส่งไปกักเก็บอย่างปลอดภัยและถาวรในแอ่งทางธรณีวิทยา เช่น ในชั้นหินใต้ดินหรือในแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หมดอายุแล้ว
ในกรณีของประเทศไทยซึ่งมีอุปทานของชีวมวล เช่น เศษไม้ วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และขยะอินทรีย์ในปริมาณมาก จึงมีศักยภาพสูงในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดด้วยการใช้ประโยชน์จากชีวมวลเหล่านี้
นอกจากนี้ BECCS ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การดำเนินงาน และการซ่อมบำรุง เป็นการเปิดโอกาสในการจ้างงานใหม่ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
การใช้เทคโนโลยี BECCS ยังจะช่วยลดต้นทุนทางภาษีที่เกิดจากมาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรปได้อีกทางหนึ่ง จึงนับเป็นโอกาสที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งในภาพรวมของประเทศ และสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานจากแหล่งผลิตที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี BECCS
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ทีมวิจัยวัสดุและระบบเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม (ดร.เปรมฤดี กาญจนปิยะ)
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4452
อีเมล premrudk@mtec.or.th