รางวัล
ระดับชาติ
ผลงานที่ได้รับรางวัล:
นวัตกรรมสารป้องกันน้ำยางพาราสดบูดเน่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางแผ่นรมควัน และคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง
นักวิจัยเจ้าของผลงาน:
นางฉวีวรรณ คงแก้ว, นายสุริยกมล มณฑา, นางสาวปิยดา สุวรรณดิษฐากุล, นายภิพัฒชา รักดี, นางสาวนันทินา มูลประสิทธิ์, ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์
ชื่อรางวัลและเกียรติยศที่ได้รับ:
รางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
หน่วยงานที่ให้รางวัลและเกียรติยศ:
รางวัลนักวิจัยดีมาก
ผู้มอบ:
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
สถานที่:
ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร
วันที่:
2 ก.พ. 2563
ที่มาและความสำคัญของรางวัลและเกียรติยศ
เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ในการนำการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ พัฒนาก้าวไกล นวัตกรรมไทยยั่งยืน”
รายละเอียดโครงการ/ผลงานที่ได้รับรางวัลและเกียรติยศ
การบูดเน่าของน้ำยางสดก่อนนำไปผลิตเป็นยางแผ่น เป็นปัญหาที่พบมากในพื้นที่กรีดยางที่อยู่ห่างไกล มีความลำบากในการเดินทาง ทำให้ต้องใช้เวลานานในการขนส่งน้ำยางสดไปยังจุดผลิตยางแผ่น หรือ มีน้ำยางสดในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถผลิตเป็นยางแผ่นได้ทันเวลา น้ำยางสดจึงเกิดการบูดเน่าไปก่อนการผลิตเป็นยางแผ่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนน้ำยางสดมีโอกาสเกิดการบูดเน่าได้ง่ายมาก ที่ผ่านมาเกษตรกรมักแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้สารกันบูด เช่น แอมโมเนีย หรือ โซเดียมซัลไฟต์ (ยากันกรอก) เพื่อช่วยยืดอายุน้ำยางสดก่อนนำไปผลิตยางแผ่น แต่แอมโมเนียระเหยง่าย มีกลิ่นฉุน เป็นพิษต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม ส่วนยากันกรอกจะทำให้เกิดฟองในแผ่นยาง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของยางแผ่น ทำให้ยางแผ่นมีราคาถูกลง จำเป็นต้องมีการตัดแต่งส่วนที่เป็นฟองอากาศออกจากแผ่นยางก่อนนำไปจำหน่าย ต้องใช้แรงงานคน เพิ่มต้นทุนการผลิต ซึ่งแอมโมเนียและยากันกรอกช่วยป้องการบูดเน่าได้เต็มที่เพียง 1 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรนิยมใช้ยากันกรอกเป็นสารป้องกันการบูดเน่าของน้ำยางพาราสดมากกว่าใช้แอมโมเนียเพราะปัญหาเรื่องกลิ่นฉุนของแอมโมเนียเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ทีมผู้ประดิษฐ์จึงได้พัฒนาสารกันบูดชนิดใหม่ ชื่อว่า บีเทพ (BeThEPS) เพื่อใช้ทดแทนแอมโมเนียและยากันกรอก เพื่อช่วยยืดอายุน้ำยางพาราสดได้นานขึ้น (บูดเน่าช้าลง) และนำไปผลิตเป็นยางแผ่นที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด
คุณสมบัติ และลักษณะเด่น
สารบีเทพ (BeThEPS) เป็นของเหลวสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่นเหม็นฉุน ป้องกันน้ำยางพาราสดบูดเน่าได้นาน 1-3 วัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้) ปริมาณการใช้ 2-8 กรัม ต่อ น้ำยางสด 1 กิโลกรัม ลดความเสี่ยงต่อการบูดเน่าของน้ำยางสดก่อนการผลลิตเป็นยางแผ่น น้ำยางพาราสดที่เติมสารบีเทพมีค่า pH อยู่ในช่วง 9-11 โดยสารบีเทพจะปลดปล่อยสารฆ่าเชื้อจุลชีพออกมาทีละน้อยในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของอนุภาคยางในน้ำยางพาราสด แผ่นยางจับตัวรีดง่าย ลายดอกได้ชัดเจน เพิ่มปริมาณยางแผ่นรมควันคุณภาพดี ลดปริมาณยางตกเกรด ยางแผ่นรมควันมีคุณภาพดี นำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตล้อยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ สายพานลำเลียง พื้นรองเท้า ยางปูพื้น และกาวยาง สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรสวนยางและผู้แปรรูปยางแผ่น ประหยัดค่าเชื้อเพลิงเพราะลดความถี่ในการขนส่งน้ำยางสดได้ ช่วยให้เกษตรกรมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น และมีเวลาเหลือไปทำงานอื่นได้อีก