บริการทดสอบการทำงานเชิงหน้าที่ของเซลล์ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ทีมวิจัยวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering team) ภายใต้กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. มีพันธกิจในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูกและกระดูกอ่อน โดยทีมวิจัยมีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงเซลล์ชนิดต่างๆ ทั้งเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์ รวมทั้งมีเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถให้บริการวิเคราะห์ทดสอบการทำงานเชิงหน้าที่ของเซลล์ในหลายรูปแบบ

ตัวอย่างการวิเคราะห์ทดสอบ เช่น การเพาะเลี้ยงเซลล์แบบ 2 มิติบนจานอาหารหรือบนวัสดุทางการแพทย์ การเพาะเลี้ยงเซลล์แบบ 3 มิติร่วมกับวัสดุโครงร่างรองรับเซลล์ และการเพาะเลี้ยงเซลล์แบบก้อนกลมสามมิติเพื่อจำลองการเจริญเติบโตและทำหน้าที่ของเซลล์จากอวัยวะต่างๆ

การวิเคราะห์ทดสอบเหล่านี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น วัสดุชีวภาพ วัสดุการแพทย์ สารสกัดจากพืชและสัตว์ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ครอบคลุมอุตสาหกรรมยาและสารเสริมอาหาร

บริการวิเคราะห์ทดสอบด้านเซลล์ มีดังนี้

  • การทดสอบความเป็นพิษ เพื่อประเมินความเป็นพิษ ของผลิตภัณฑ์ต่อเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์ เช่น เซลล์ไฟโบรบลาสต์ เซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน เซลล์ผิวหนัง เซลล์มะเร็ง
  • การทดสอบการทำงานของเซลล์กระดูกอ่อนข้อเข่า เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของสารตัวอย่างต่อการกระตุ้นการทำงานของเซลล์กระดูกอ่อนข้อเข่าให้มีการสร้างและสะสมสารประกอบนอกเซลล์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน
  • การทดสอบการทำงานของเซลล์กระดูก เพื่อทดสอบความสามารถของสารตัวอย่างในการกระตุ้นให้เซลล์กระดูกมีการเจริญเติบโต มีการสะสมแร่ธาตุ และสร้างโปรตีนที่จำเพาะต่อการสร้างกระดูก
  • การทดสอบฤทธิ์สมานแผล เพื่อทดสอบฤทธิ์ของสารตัวอย่างที่สามารถกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมตัวเองของเซลล์ผิวหนังภายหลังการบาดเจ็บ
  • การทดสอบด้วยเซลล์ต้นกำเนิดมนุษย์ เพื่อทดสอบฤทธิ์ของสารตัวอย่างที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดไปเป็นเซลล์จำเพาะ เช่น เซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน
  • การทดสอบสมบัติทางชีวภาพ เพื่อประเมินความเข้ากันได้ทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์กับเซลล์ชนิดต่างๆ
  • การให้คำปรึกษา เพื่อวางแผนงานและกำหนดแนวทางร่วมกับนักวิจัยและผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยและมีสมบัติทางชีวภาพตรงตามความต้องการ

ผู้ที่สนใจทดสอบผลิตภัณฑ์ต่อการเจริญเติบโตและการทำหน้าที่ของเซลล์สามารถขอรับบริการได้ทั้งแบบร่วมวิจัยและจ้างวิจัย

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
โทรศัพท์: 02 564 6500 ต่อ 4782-4789 (ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ)
ต่อ 74623 (ดร.พชรพรรณ สนธิไทย) และต่อ 4431, 4456 (ดร.ปวีณา อุปนันต์
)
Email : BDD-IBL@mtec.or.th