ที่มา
ภาวะเท้าแบน (flat feet) คือ ลักษณะของเท้าที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า ฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้นทั้งหมด มีสาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น เอ็นข้อเท้าหย่อนยาน ข้อเท้าเสื่อม ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากและ/หรืออายุมาก หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติตั้งแต่เกิดหรือถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ผู้ป่วยเนื่องจากภาวะเท้าแบนจะรู้สึกเจ็บเท้า โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้าหรืออุ้งเท้า อาการเจ็บจะรุนแรงขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ วิธีรักษาภาวะเท้าแบนแบบหนึ่งที่แพทย์แนะนำคือ การใส่กายอุปกรณ์เสริมแผ่นรองในรองเท้าที่พอดีกับลักษณะฝ่าเท้าของแต่ละคน เพื่อปรับแนวการลงน้ำหนักและสรีระของเท้าในขณะที่สวมอุปกรณ์และส่งผลทำให้อาการปวดเท้าลดลง ทีมวิจัยเอ็มเทคได้พัฒนาสูตรพอลิเมอร์ผสมสำหรับเตรียมเส้นฟิลาเมนต์ที่มีสมบัติแข็งแรงและเหนียวร่วมกับการนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D printing technology) ที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ในการผลิตแผ่นรองในรองเท้าที่มีรูปทรงรับกับขนาดและสรีระเท้าของแต่ละบุคคล โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการสร้างแบบจำลองสามมิติของแผ่นรองในรองเท้า
ทีมวิจัยทำอย่างไร
- พัฒนาสูตรพอลิเมอร์ผสมสำหรับการเตรียมเส้นฟิลาเมนต์ที่มีสมบัติแข็งแรงและเหนียวเหมาะสมสำหรับขึ้นรูปเป็นแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติระบบเอฟดีเอ็ม
- ออกแบบแบบจำลองสามมิติของแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้แผ่นรองในรองเท้าที่มีรูปทรงใกล้เคียงกับสรีระเท้าของแต่ละบุคคล
- สร้างต้นแบบรวดเร็วด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีความแม่นยำสูง โดยใช้เวลาไม่นานในการขึ้นรูปที่และได้ชิ้นงานที่แข็งแรง
จุดเด่น
- แผ่นรองในรองเท้ามีความแข็งแรงและเหนียว ไม่เสียรูปในขณะเดินหรือยืน
- แผ่นรองในรองเท้ามีรูปทรงเฉพาะกับสรีระเท้าของแต่ละบุคคล สามารถรองรับน้ำหนักและพยุงอุ้งเท้าได้ดี
- แผ่นรองในรองเท้าไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง
- แผ่นรองในรองเท้ามีความบาง สามารถถอดเปลี่ยนไปใช้กับรองเท้าคู่อื่นได้
- กระบวนการผลิตที่รวดเร็วและลดการสูญเสียวัสดุเหลือทิ้ง
สถานภาพงานวิจัย
อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานทางคลินิกที่คลินิกหน่วยกายอุปกรณ์สิรินธร โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล (การทดสอบจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนมีนาคม 2564)
กลุ่มเป้าหมาย
- กลุ่มผู้ป่วยเท้าเเบนหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเท้า
- กลุ่มบริษัทที่ผลิตแผ่นรองในรองเท้าและรองเท้า
- กลุ่มโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยเท้าแบน
- ผู้ผลิตเส้นฟิลาเมนต์สำหรับการพิมพ์สามมิติด้วยระบบเอฟดีเอ็ม
สนใจสอบถามข้อมูล
กัณฐมณี กลกานนท์ (ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ)
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4782
อีเมล kanthamanee.kal@mtec.or.th