ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
ปัจจุบันหัวใจสำคัญของการเป็นเลขานุการ คือ การสื่อสารเราต้องพิจารณาว่าเรื่องใดควรสื่อสาร และเรื่องใดไม่ควรสื่อสารรวมถึงการเลือกรูปแบบหรือวิธีการที่จะสื่อสารให้เหมาะกับสาระสำคัญประกอบกันด้วย
วิรตา ศรีจันทร์
ผู้จัดการงานเลขานุการ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
การศึกษา: ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
วิรตา ศรีจันทร์ หรือที่พี่ๆ น้องๆ เรียกกันว่า เลขาฯ โอ๋ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษา หรือ วิทยาศาสตร์สุขภาพ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี เมื่อเริ่มต้นทำงานก็พบว่าวิชาชีพเลขานุการจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านการจัดการ จึงตัดสินใจศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 1 ใบ คือ รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเพื่อวางแผนการทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จาก ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงบนเส้นทางเลขานุการ
เลขาฯ โอ๋เล่าว่า “เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ในปี พ.ศ. 2545 ก็ได้ทำงานทันที ที่ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศลช.) สังกัดศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์1 รองผู้อำนวยการไบโอเทค และผู้อำนวยการ ศลช. ในขณะนั้น เป็นเจ้านายคนแรก เนื่องจาก ศลช. เป็นหน่วยงานขนาดเล็กมีพนักงานไม่ถึง 10 คน ลักษณะงานที่รับผิดชอบก็จะเป็นงานเลขานุการและงานธุรการควบคู่กัน ในตอนนั้นได้เรียนรู้การทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ การประสานงานสารบรรณระหว่างอาคารโยธีและอุทยานวิทยาศาสตร์ การจดตารางนัดหมายให้กับอาจารย์สุทัศน์ด้วยสมุดไดอารี่เล่มหนึ่ง ไปจนถึงการจัดทำแฟ้มประกอบการประชุมระดับนโยบาย แม้จะเริ่มงานจากจุดเล็กๆ แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เรียนรู้และช่วยเหลือพี่ๆ ในทีม ศลช. ด้วยการทำหน้าที่เป็นเลขานุการสำนักงาน”
“เมื่อทำงานได้ 1 ปี อาจารย์สุทัศน์ใกล้จะเกษียณอายุราชการ จึงได้ฝากฝังให้ไปทำงานในตำแหน่งเลขานุการของคุณดรุณี เอ็ดเวิร์ดส2 ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการไบโอเทค และท่านกำลังมองหาเลขานุการอายุน้อย สอนง่าย เรียนรู้ไว ก่อนเริ่มทำงานกับคุณดรุณี (พี่ติ๊ก) ได้ถูกส่งไปอบรมหลักสูตรเลขานุการมืออาชีพที่สมาคมเลขานุการสตรีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่ามืออาชีพ ผ่านการเรียนรู้ในอีกมุมหนึ่ง คือ การทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวให้กับพี่ติ๊กเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี จนเกษียณอายุราชการเช่นกัน”
“ในการทำงานต้องมีความเป็นมืออาชีพอย่าอาศัยความเชื่อใจหรือเกรงใจใคร
เพราะความสนิทสนมแต่ควรกล้าที่จะสื่อสารแบบตรงไปตรงมาด้วยความสุภาพ”
“เรามีความสุขกับการสื่อสารภายในองค์กร เมื่อผู้บริหารและพนักงานหลายท่าน
เห็นแววด้านการเป็นนักสื่อสารจึงชักชวนให้ไปเป็นคณะทำงานจัดกิจกรรมองค์กร
เพื่อช่วยคิดไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ”
ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
“ด้วยความเป็นเลขานุการยุคใหม่ เลขาฯ โอ๋ได้เปลี่ยนโฉมการจัดประชุมระดับจัดการ โดยปรับวิธีเชิญประชุมจากแบบที่เป็นทางการให้เป็นการสื่อสารแนวใหม่ที่ผสมผสานการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเข้าไปให้น่าสนใจขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเข้าร่วมประชุม ด้วยการนำเสนอในรูปแบบการโปรยหัวข้อข่าวตามสไตล์การทำงานของตัวเอง ซึ่งผู้บริหารก็ให้การสนับสนุนและได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้เรามีความสุขกับการสื่อสารภายในองค์กร เมื่อผู้บริหารและพนักงานหลายท่านเห็นแววด้านการเป็นนักสื่อสารจึงชักชวนให้ไปเป็นคณะทำงานจัดกิจกรรมองค์กร เพื่อช่วยคิดไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ”
“จากความสามารถในการบริหารจัดการ ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำท่วมสำนักงาน จึงได้รับโอกาสให้ดูแลผู้บริหารเพิ่มอีก 1 ท่าน คือ ดร. ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร5 ซึ่งตอนนั้นเป็นรองผู้อำนวยการเนคเทคสายงานวิจัย โดยทำงานร่วมกับ ดร. ศรัณย์ (พี่ตัง) ประมาณ 1 ปีกว่า รวมเวลาการทำงานที่เนคเทคประมาณ 6 ปี ก่อนโอนย้ายมารับตำแหน่งผู้จัดการงานเลขานุการที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค ซึ่งเป็นตำแหน่งงานในปัจจุบัน”
ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
ทางเลือกที่ท้าทาย
เลขาฯ โอ๋เล่าถึงทางเลือกที่ท้าทายและเส้นทางที่ต้องตัดสินใจว่า “หลังจากจบปริญญาโทในปี พ.ศ. 2557 ทางศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ประกาศรับสมัครงานเลขานุการผู้บริหาร ส่วนเอ็มเทคเปิดรับตำแหน่งผู้จัดการงานเลขานุการ ตอนนั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ให้ข้อคิดในการตัดสินใจว่า การขยับขยายงานหรือการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ถ้าเลือกย้ายงานในตำแหน่งเท่าเดิมจะสะท้อนว่าเรามีปัญหาในที่ทำงานเก่า แต่ถ้าเลือกสมัครงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นจะเป็นการพิสูจน์ความสามารถในการเติบโตตามสายงาน (career path) จึงได้ตัดสินใจสมัครงานในตำแหน่งผู้จัดการงานเลขานุการของเอ็มเทค ถึงแม้ว่าอายุและระดับงานที่ถือครองในตอนนั้น (personal grade) ยังไม่ถึงเกณฑ์ก็ตาม”
“กรรมการที่สัมภาษณ์เพื่อรับเข้าทำงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารเอ็มเทคและฝ่ายทรัพยากรบุคคล รวม 7 คน บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือก คือ ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา6 ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเอ็มเทค เนื่องด้วยอาจารย์วีระศักดิ์เป็นผู้บริหารที่มาทำงานเช้ามากและต้องการเลขานุการที่สามารถมาทำงานแต่เช้าได้เช่นกัน จึงจำลองสถานการณ์แจ้งขอนัดเวลาสัมภาษณ์ 7.30 น. เพื่อทดสอบวิธีการรับมือและการต่อรองเรื่องของเวลาจากเรา ซึ่งก็ผ่านการทดสอบตั้งแต่พบกันในครั้งแรก รู้สึกดีใจมากที่ได้รับการคัดเลือกในตำแหน่งนี้ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่นของตนเอง ตั้งแต่กระบวนการสอบแข่งขันรอบข้อเขียนจากผู้รับสมัครทั้งหมด 12 คน และเข้ารอบสัมภาษณ์ 5 คนสุดท้าย”
ประสบการณ์ที่สั่งสม
“เนื่องจากการย้ายมาทำงานที่เอ็มเทคในตำแหน่งผู้จัดการงานเลขานุการในช่วงแรก ตนเองก็ยังมีวัยวุฒิไม่มากพอนั้น การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและสังคมใหม่อาจยังไม่ได้รับการยอมรับในทันที ทำให้ทั้งเครียดและกดดันเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้รับกำลังใจจากผู้ใหญ่หลายท่าน แนะนำให้อดทนอดกลั้น จนสามารถผ่านช่วงทดลองงาน 6 เดือนมาได้”
เลขาฯ โอ๋ เล่าต่อว่า “ตลอดระยะเวลาที่ทดลองงาน อาจารย์วีระศักดิ์สอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ถึงแม้ในตอนนั้นจะมีตำแหน่งเป็นรักษาการผู้จัดการ แต่อาจารย์ก็ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการผู้บริหารระดับสูง และสรรหาเลขานุการผู้ช่วยให้ 1 คน อาจารย์วีระศักดิ์ให้เหตุผลว่าต้องการให้เราเห็นภาพรวมของการบริหารงานภายในองค์กรทั้งหมด งานเอกสารและตารางนัดหมายต้องผ่านสายตาและการพิจารณากลั่นกรองจากเราทุกเรื่อง ซึ่งจะช่วยให้เราเรียนรู้งานของเอ็มเทคได้มากที่สุด และได้รับการยอมรับเร็วที่สุดในลำดับต่อมา”
“คนโกรธคือคนโง่ คนโมโหคือคนบ้า ถ้าไม่อยากโง่และบ้า
ก็อย่าเอาใจไปตกอยู่ในสนามอารมณ์ของใคร”
“เมื่อมีตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นผู้จัดการงานเลขานุการแล้ว การบริหารอารมณ์และความรู้สึกของคนเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการบริหารงาน โดยเริ่มจากตัวเราก่อน ซึ่งอาจารย์วีระศักดิ์ได้ให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตและการทำงาน โดยเปรียบเปรยอารมณ์ของคนเรานั้นด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่า ความโกรธก็เหมือนจุดเดือด เมื่อเราโตขึ้นจุดเดือดของเราก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่สั่นไปตามความร้อนที่เข้ามากระทบ นอกจากนั้นอาจารย์วีระศักดิ์ยังได้หยิบยกคำสอนจากคนรุ่นเก่าที่ว่า คนโกรธคือคนโง่ คนโมโหคือคนบ้า ถ้าไม่อยากโง่และบ้า ก็อย่าเอาใจไปตกอยู่ในสนามอารมณ์ของใคร”
เมื่อถามถึงการทำงานที่ผ่านมาว่าได้นำประสบการณ์อะไรมาใช้บ้าง เลขาฯ โอ๋ เล่าว่า “เมื่อย้ายมาทำงานที่เอ็มเทค ประสบการณ์ทำงานที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีนั้น ประกอบกับการเป็นคนมีมาตรฐานและทำงานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการบริหารจัดการงานเลขานุการได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยทักษะทั้งการเป็นเลขานุการมืออาชีพและนักพัฒนาองค์ความรู้ ผ่านรูปแบบการจัดทำฐานข้อมูลสำคัญและคู่มือการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทีมงานเลขานุการและบุคลากรในองค์กร รวมถึงการนำเทคโนโลยี หรือ ระบบ IT มาเป็นเครื่องมือช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤตต่างๆ เช่น การใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (INFOMA) และ e-mail เป็นเครื่องมือและฐานข้อมูลในการนำเสนอเอกสารต่อผู้บริหาร ด้วยรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า e-approved และ e-signature การใช้ google calendar ในการประสานงานนัดหมายและบันทึกตารางเวลาให้กับผู้บริหารแบบ real time ไม่พลาดทุกการ update ตลอดจนการใช้ระบบบริหารการประชุม ซึ่งเป็นฐานข้อมูลและเครื่องมือในการจัดประชุมอย่างเป็นระบบและครบวงจร”
จากการที่เคยเป็นเลขานุการผู้บริหารหลายยุคหลายสมัย ผู้บริหารแต่ละคนย่อมมีวัยวุฒิและบุคลิกที่แตกต่างกัน มีวิธีการรับมืออย่างไร เลขาฯ โอ๋เล่าว่า “ในช่วงต้นของการทำงานในตำแหน่งเลขานุการ ผู้บริหารจะมีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่สูงมาก เลขาฯ โอ๋จะเรียกว่าผู้บริหารท่านนั้นๆ ว่าอาจารย์ และเปรียบตัวเองเป็นเหมือนลูกศิษย์ ที่ทั้งทำงานและใฝ่เรียนรู้ควบคู่กันไป แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจนในยุคของ ดร. จุลเทพ ขจรไชยกูล7 ผู้อำนวยการเอ็มเทคคนปัจจุบัน เลขาฯ โอ๋จะต้องปรับบริบทจากการเป็นเลขานุการมาเป็นนักบริหารจัดการมากขึ้นหรืออีกนัยนึง คือ การทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัว ช่วยหาทางเลือกที่หลากหลาย เสนอความเห็นประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้กับ ดร. จุลเทพ (พี่ต้า)”
เลขาฯ โอ๋เล่าต่อว่า “การเป็นทั้งผู้จัดการและเลขานุการต้องแยกส่วนกัน เลขานุการจะมีความต่างจากอาชีพอื่น คือ ต้องมีเคมีที่เข้ากันได้กับเจ้านาย ถึงแม้ว่าจะทำงานเก่งมากแต่ถ้าเคมีเข้ากันไม่ได้กับเจ้านาย ก็เป็นการยากที่จะได้รับความไว้วางใจจากเจ้านาย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งในการรับมือกับผู้บริหารที่มีความแตกต่างทั้งบุคลิกและสไตล์ในการทำงาน เคยมีกรณีที่ผู้บริหารและเลขานุการไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ อันเนื่องมาจากหลายๆ สาเหตุ ในฐานะผู้จัดการก็จำเป็นต้องศึกษาสไตล์การทำงานของผู้บริหาร จุดอ่อนจุดแข็งของเลขานุการ เพื่อแก้ปัญหาและหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด บางครั้งจำเป็นต้องออกแบบและมอบหมายงานให้เลขานุการแต่ละคน ซึ่งอาจไม่ตรงกับ PG ที่ถือครองบ้าง บางครั้งต้องสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเลขานุการให้ลงตัวที่สุดบ้าง หรือต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขานุการชั่วคราวด้วยตนเองบ้างก็มี เพื่อให้การบริหารงานและการบริหารทีมเดินต่อไปได้”
สำหรับหลักในการทำงาน เลขาฯ โอ๋ ยึดแนวทางที่ว่า “รู้อะไร ไม่เท่ารู้จัก” เราต้องรู้จักคนที่เราจะต้องทำงานหรือประสานงานด้วยว่าเป็นคนลักษณะอย่างไร การจะเข้าหาหรือเข้าถึงต้องใช้วิธีการใด ตลอดจนต้องรู้ลึกในเนื้องานที่เรากำลังทำอยู่ว่าเรามีความเชี่ยวชาญมากน้อยแค่ไหน ต้องการตัวเสริมในส่วนใด สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกหรือไม่ จากประสบการณ์ทำงานทั้ง 3 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ ไบโอเทค เนคเทค เอ็มเทค รวมถึงการทำหน้าที่สนับสนุนงานสำนักงานในช่วงที่ก่อตั้งอีก 1 ศูนย์ใหม่ คือ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) เลขาฯ โอ๋จะมีพันธมิตรในสายงานหรือเป็นที่รู้จักมากพอสมควร ดังนั้น เวลาที่ต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการประสานงานสอบถามในเรื่องต่างๆ ก็ดูจะเป็นการง่ายและราบรื่นไปเสียหมด”
“การพูดคือการสื่อสารที่ดีที่สุด ต่างจาการเขียนที่มักจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้อ่าน ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้คนอื่นเข้าใจเจตนาของเราก็ควรเลือกวิธีการสื่อสารด้วยการพูด”
หัวใจสำคัญของการเป็นเลขานุการมืออาชีพ
เลขาฯ โอ๋ เล่าว่าในอดีตคนที่เป็นเลขานุการจะถูกปลูกฝังผ่านชื่ออาชีพ “คำว่า Secretary มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Secretum หรือ Secret แปลว่า ผู้รู้ความลับ8 ผู้ที่ทำงานเลขานุการ คือ ผู้รู้ความลับจึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจเก็บความลับของผู้บังคับบัญชาและขององค์กรด้วย” “ในปัจจุบันการเป็นเลขานุการจะปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม การสื่อสารเริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น การพูดคือการสื่อสารที่ดีที่สุด ต่างจาการเขียนที่มักจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้อ่าน ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้คนอื่นเข้าใจเจตนาของเราก็ควรเลือกวิธีการสื่อสารด้วยการพูด การประชุมก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารด้วยการพูดที่มีสื่อประกอบการนำเสนอ ดังนั้น การเลือกรูปแบบในการจัดประชุมก็เป็นเรื่องที่ควรตระหนัก เช่น การประชุมหารือที่เกี่ยวกับเรื่องของคน ควรเลือกจัดให้การประชุมแบบ on site เพื่อให้เกิดความรับรู้สีหน้า ท่าทาง และความรู้สึกนึกคิดร่วมกัน ส่วนการประชุมทั่วไปที่เน้นการสื่อสารเพื่อทราบทางเดียวหรือเพื่อพิจารณาโดยมีเอกสารประกอบการประชุม ก็สามารถเลือกรูปแบบเป็น online ได้” เลขาฯ โอ๋ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การทำงานด้านงานเลขานุการต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ควบคู่กันไป มากน้อยแล้วแต่สถานการณ์ที่ประสบพบเจอ ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า หัวใจสำคัญของการเป็นเลขานุการ คือ การสื่อสาร เราต้องพิจารณาว่าเรื่องใดควรสื่อสาร และเรื่องใดไม่ควรสื่อสาร รวมถึงการเลือกรูปแบบหรือวิธีการที่จะสื่อสารให้เหมาะกับสาระสำคัญประกอบกันด้วย”1 ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 2นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ชมรมผู้พิพากษาสมทบ ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ 3นายขวัญชัย หลำอุบล อดีตที่ปรึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 4ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) 5ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) 6ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 7ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) 8อย่างไรก็ดี มีคำอธิบายแบบอื่นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า secretary ดูเว็บ http://talesoftimesforgotten.com/2020/03/21/no-secretary-does-not-mean-secret-keeper/