เรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ จากทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ร่วมกับ ผศ.ดร. ลำแพน ขวัญพูล จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำถุงห่อ Magik Growth มาห่อผลทุเรียนในสวนของคุณนวลนภา เจริญรวย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลดต้นทุนการดูแล และลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง รวมถึงผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและความสุกแก่ของผลทุเรียนที่ได้รับการห่อ
ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูง อย่างไรก็ดี การปลูกทุเรียนมักประสบปัญหาจากโรคและแมลง เช่น หนอนเจาะผล เพลี้ยแป้ง และราดำ ทำให้เกษตรกรต้องฉีดพ่นสารเคมีในช่วงที่ผลทุเรียนกำลังเจริญเติบโตและสร้างพู คือช่วงที่ผลมีอายุ 60-120 วัน โดยฉีดสัปดาห์ละครั้งตลอดช่วง 2 เดือนก่อนตัดผล
คุณนวลนภา เจริญรวย เจ้าของสวนทุเรียนที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผู้มีประสบการณ์ในการทำสวนทุเรียนประมาณ 10 ปีเล่าว่า เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วเคยเลิกใช้สารเคมีป้องกันโรคและแมลง แต่ผลผลิตเสียหายเกินเกณฑ์การยอมรับได้ ต่อมาได้แนวคิดเรื่องการใช้ถุงตาข่ายสีฟ้าจากการห่อขนุนจึงนำมาปรับใช้กับทุเรียน ซึ่งผลที่ได้จากการมองด้วยตาก็น่าพอใจ
อย่างไรก็ดี การใช้ถุงตาข่ายสีฟ้ามีข้อด้อยคือ การแกะถุงออกเพื่อให้ผลทุเรียนโดนแดดก่อนการเก็บเกี่ยว 1 อาทิตย์ทำได้ลำบากและใช้เวลานาน โดยเฉพาะการห่อผลกลุ่มซึ่งมีประมาณ 2-3 ผล เนื่องจากเมื่อผลขยายใหญ่ หนามของทุเรียนจะเกี่ยวกับถุงตาข่าย แต่ต่อมาเมื่อได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ลำแพนให้ทดลองใช้ถุงห่อ Magik Growth ก็พบว่าการแกะถุงง่ายกว่ามาก
รู้จักนวัตกรรม Magik Growth
Magik Growth เป็นวัสดุเสริมการเพาะปลูกชนิดสปันบอนด์นอนวูเวน (spunbond nonwoven) ที่ ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ และทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) คิดค้นสูตรโพลิเมอร์คอมพาวด์จากการเลือกใช้ชนิดของโพลิเมอร์ เม็ดสี และสารเติมแต่งต่างๆ เช่น สารป้องกันยูวี และดัดแปรเนื้อวัสดุให้มีสมบัติพิเศษต่างๆ ได้แก่ มีโครงสร้าง 3 มิติในลักษณะที่เส้นใยสานกันไปมา ทำให้มีรูพรุนและความหนาที่ถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็แข็งแรงพอที่จะนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ คัดเลือกช่วงแสงที่พืชต้องการและใช้สีที่ไม่ดึงดูดแมลง อีกทั้งสามารถออกแบบให้มีลักษณะตามการใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็น ถุงห่อ ถุงปลูก หรือวัสดุคลุมดิน ดังแสดงในภาพที่ 3 ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าวนี้ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อุตสาหกรรมไทยมีอยู่แล้ว
ดร.ณัฐภพ กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เราได้ทดลองใช้ Magik Growth ห่อผลไม้หลายชนิด เช่น ส้มโอทับทิมสยามและส้มจุกพบว่า ผิวส้มสวยไม่มีจุด ผลมีน้ำหนักดี กล้วยหอมพบว่า กล้วยมีคุณภาพดีขึ้น ปกติกล้วยหอม 1 เครือจะมีประมาณ 12 หวี โดยที่ 3 หวีบนสุดของเครือมักมีผลขนาดเล็กแต่เมื่อห่อด้วยถุง Magik Growth ผลจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อ 3 ปีที่แล้วได้ร่วมกับ ผศ.ดร.ลำแพน ขวัญพูล จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการทดสอบห่อมะม่วงน้ำดอกไม้ และพบว่า มะม่วงมีผลสวย ไม่มีแมลง มีวิตามินซีสูงขึ้น มีความแข็งมากขึ้นทำให้ไม่ช้ำง่ายเวลาขนส่ง นอกจากนี้ยังร่วมกันทดสอบในทุเรียนด้วย
Magik Growth ชุดเกราะป้องกันราชา
Magik Growth สามารถนำไปใช้ห่อผลไม้ได้หลากหลายชนิด รวมถึงทุเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ไทยด้วย
ผศ.ดร.ลำแพน กล่าวถึงที่มาของการทดสอบกับทุเรียนว่า “ก่อนหน้านี้เคยร่วมวิจัยกับ ดร.ณัฐภพ เรื่องการห่อผลมะม่วงด้วย Magik Growth พบว่าให้ผลค่อนข้างดี ดังนั้นก็น่าจะนำถุงนี้มาใช้กับทุเรียนได้จึงทดลองนำมาใช้ในสวนทุเรียนของคุณนวลนภา”
ทีมวิจัยทดลองทำเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยเปรียบเทียบระหว่างการไม่ห่อผล การห่อโดยใช้ถุงตาข่ายสีฟ้า และถุง Magik Growth ที่มีสีแตกต่างกัน 4 สี เพื่อดูการคัดเลือกช่วงแสงที่แตกต่างกัน มีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นภายในถุงตลอดช่วงการห่อตั้งแต่ 60-133 วัน
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังวัดขนาดทั้งด้านข้าง และความยาว ดูสีเนื้อ และวิเคราะห์ % น้ำหนักแห้ง หรือ %แป้ง ซึ่งทุเรียนหมอนทองควรมี % แป้งที่ 32% จึงจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งทีมวิจัยต้องการศึกษาว่าถุงห่อมีผลต่อพัฒนาการของผลทุเรียนทั้งเรื่องความเจริญเติบโตและความสุกแก่หรือไม่
จากการทดสอบเบื้องต้น เห็นแนวโน้มว่า Magik Growth ช่วยลดแมลงศัตรูพืชได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะสวนทุเรียนออร์แกนิก การห่อถุงจะช่วยลดการเข้าทำลายของสัตว์กัดแทะ เช่น กระรอก กระแต หรือ กระถิก ได้มาก อีกทั้งยังเห็นพัฒนาการของผลในเรื่องการเจริญเติบโตและการสะสมน้ำหนักแห้งค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับผลที่ไม่ได้ห่อหรือห่อด้วยถุงตาข่ายสีฟ้า
ถุง Magik Growth มีความเหมาะสมที่จะนำมาห่อผลทุเรียน เพราะนอกจากจะป้องกันโรคและแมลงได้แล้ว ยังแกะถุงห่อได้ง่ายโดยไม่โดนหนามเกี่ยว ทั้งยังสามารถออกแบบให้มีขนาด ความหนา และลักษณะการปิดปากถุง เช่น ใช้เชือกผูก ใช้ลวด หรือตีนตุ๊กแก ได้ตามที่เกษตรกรต้องการ
ภาพที่ 6 ลักษณะการปิดปากถุงแบบต่างๆ ใช้เชือกผูก (ซ้าย) ใช้ลวด (กลาง) หรือตีนตุ๊กแก (ขวา)
ดร.ณัฐภพกล่าวว่า “การห่อด้วย Magik Growth นอกจากจะช่วยป้องกันโรคและแมลงโดยไม่ต้องใช้สารเคมีแล้ว ยังทำให้ทุเรียนมีเปลือกบางลงและมีเนื้อหนาขึ้นด้วย โดยผลทุเรียนที่หนัก 2 กิโลกรัม เดิมมีน้ำหนักเนื้อ 1.2 กิโลกรัม แต่เมื่อห่อด้วย Magik Growth จะเพิ่มเป็น 1.4-1.5 กิโลกรัม ซึ่งจะเหมาะกับในอนาคตที่จะทำทุเรียนแกะเนื้อแช่แข็ง”
ภาพที่ 7 ภาพเปรียบเทียบเปลือกทุเรียนที่ไม่ได้ห่อ (ซ้าย) และห่อด้วย Magik Growth (ขวา) จะเห็นว่าเปลือกบางลง
การที่ทุเรียนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนสุทธิระหว่างการห่อและไม่ห่อผลทุเรียนพบว่า การห่อให้ผลตอบแทนสุทธิที่สูงกว่าราว 75,000 บาทและยังมีข้อดีอื่นๆ ที่ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าเงินได้อีกด้วย ดังแสดงในตารางที่ 1
คุณนวลนภา กล่าวว่า “ถ้าเปรียบเทียบการห่อผลทุเรียนกับการใช้สารเคมีพบว่า การห่อลดต้นทุนได้อย่างชัดเจน เพิ่มคุณภาพผลผลิตได้ตามเป้า ช่วยให้เกษตรกรปลอดภัยจากสารเคมี เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ช่วยให้การบริหารจัดการภายในสวนง่ายขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสร้างความยั่งยืนให้แก่อาชีพทำสวนต่อไปในอนาคต”
ทีมวิจัยได้จดความลับทางการค้าของสูตรเม็ดสารประกอบโพลิเมอร์ที่มีสีคงทนต่อสภาวะแวดล้อมและสะท้อนแสงที่ช่วงคลื่นจำเพาะ รวมถึงอนุสิทธิบัตร เลขที่ 14718 เรื่องกระบวนการผลิตผ้าไม่ทอชนิดสปันบอนด์ที่มีสมบัติเพิ่มการเจริญเติบโตและผลิตผลของพืช และในปี พ.ศ. 2563 ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ Magik Growth ให้แก่บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว
ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนจะขยายผลการทดสอบไปยังพืชชนิดอื่นๆ รวมถึงพืชสมุนไพรอย่างกัญชาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสำคัญอย่าง CBD หรือ แคนนาบิไดออล (Cannabidiol)[1] สำหรับใช้ประโยชน์ในการแพทย์
[1]CBD (Cannabidiol) เป็นสารที่พบในกัญชา มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดการชักเกร็ง ช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย และมีคุณสมบัติยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง และมีข้อบ่งใช้ที่ไม่เกิดพิษเมื่อใช้ในทางการแพทย์
ผู้ที่สนใจงานวิจัยหรือสิทธิในผลงานวิจัยสามารถติดต่อได้ที่
คุณชนิต วานิกานุกูล
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
โทร 02 564 6500 ต่อ 4788
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อได้โดยตรงที่
บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน)
โทร 092 907 8565
เรียงจากซ้ายไปขวา
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
คุณนวลนภา เจริญรวย เจ้าของสวนทุเรียนที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ผศ.ดร. ลำแพน ขวัญ นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ ทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
- ผศ.ดร.ลำแพน ขวัญพูล คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- คุณนวลนภา เจริญรวย เจ้าของสวนทุเรียนที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
- ทีมงาน NSTDA Chanel