10 สิงหาคม 2564 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กรุงเทพมหานครฯ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดย ดร.ดนุ พรหมมินทร์ หัวหน้าทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ เเละนายปริญญา จันทร์หุณีย์ วิศวกรอาวุโส ทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ มอบรถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วย (RT-Wheelchair) ให้แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยมีนายแพทย์สุพพัต อิทธิเมฆินทร์ หัวหน้ากลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ติดเชื้อในการเคลื่อนย้ายและขณะทำเอกซเรย์ รวมถึงลดปัญหาการบาดเจ็บซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนย้าย พร้อมกันนี้ทีมวิจัยชีวกลศาสตร์อบรมพร้อมสาธิตการใช้ RT-Wheelchair ให้แก่บุคลากรในโรงพยาบาล
รถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วย (RT-Wheelchair) เป็นรถเข็นผู้ป่วยที่ออกแบบมาใช้งานโดยเฉพาะ โครงสร้างรองรับร่างกายทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ลดทอนคุณภาพรังสี มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย มีช่องใส่แผ่นภาพรังสีที่แผ่นดังกล่าวเคลื่อนตัวได้ตลอดในแต่ละตำแหน่งของตัวรถและสามารถปรับเอนนอนได้จึงรองรับการจัดท่าถ่ายภาพเอกซเรย์ในท่าประจำได้ทุกส่วนของร่างกาย จุดเด่นของรถเข็นรถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วย (RT-Wheelchair) ได้แก่ ลดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในขณะขนย้ายผู้ป่วยสู่เตียงเอกซเรย์ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการถ่ายภาพเอกซเรย์ เเละภาพเอกซเรย์ที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการวินิจฉัย ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานทางด้านไฟฟ้าเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 และ IEC 60601-1-2 โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)