“การจัดคอร์สอบรมจะต้องมีการวางแผนที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการประสานงานกับวิทยากร เพราะวิทยากรบางคนจะมีรายละเอียดเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนการทำงานก็ต้องสอบถามรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อจะได้จัดคอร์สได้ตรงกับความต้องการที่สุด”
บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์
ผู้ประสานงานอาวุโส งานพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีวัสดุเพื่ออุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์ หรือโต๋ว จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานอาวุโส งานพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีวัสดุเพื่ออุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
ก้าวแรกสู่ชีวิตการทำงาน
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คุณบุญรักษ์ได้เริ่มงานในโรงอุตสาหกรรมฟอกย้อมหนังสัตว์แห่งหนึ่ง คุณบุญรักษ์เล่าว่า “ในช่วงแรกเป็นการทดลองงานจึงต้องไปเรียนรู้งานต่าง ๆ ภายในโรงงาน ต้องไปทำงานคลุกคลีกับคนงานอื่น ๆ เหมือนเป็นคนงานทั่วไป งานที่ทำตอนนั้นคือการเอาหนังสัตว์ใส่เข้าเครื่องแล้วใช้สารเคมีเพื่อฟอกย้อม ถือว่าต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด เพราะความรู้ที่ใช้ในการฟอกย้อมหนังสัตว์เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่แตกต่างจากความรู้ที่เคยเรียนในสถาบันการศึกษา แต่ผมทำงานที่นี่ในระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1 เดือน เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น โรงงานตั้งอยู่ห่างไกลจากที่พัก ทำให้ใช้เวลาเดินทางค่อนข้างนาน และลักษณะงานที่ยังไม่ตรงตามที่คาดหวัง”
ก้าวสู่รั้วเอ็มเทค
“ในช่วงที่กำลังหางานใหม่อยู่นั้น ผมแวะมาหาเพื่อนที่จบรุ่นเดียวกันที่ทำงานที่เอ็มเทค ก็ทำให้พบกับ ดร.อนุชา เอื้อเพิ่มเกียรติ ซึ่งท่านเป็นอาจารย์พิเศษที่ลาดกระบังและเคยสอนผมวิชาหนึ่ง ในช่วงหนึ่งของการสนทนา อาจารย์ถามว่าทำงานที่ไหน ผมจึงเรียนให้ท่านทราบว่ากำลังหางาน ท่านจึงชวนมาร่วมงานโครงการเกี่ยวกับการศึกษาอุตสาหกรรมในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สารสนเทศ โดยเริ่มจากเป็นลูกจ้างโครงการก่อน งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือการศึกษาภาพรวมของอุตสาหกรรมโลหะว่าเป็นอย่างไร”
“เมื่อทำงานเป็นลูกจ้างโครงการได้ระยะหนึ่ง อาจารย์ก็ให้ไปช่วยงานของสภาอุตสาหกรรม ซึ่งอาจารย์เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก และเนื่องจากเอ็มเทคเป็นศูนย์แห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุจึงได้รับมอบหมายจากสมาชิกส่วนใหญ่ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำจดหมายข่าวของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ผมจึงได้รับมอบหมายให้ทำจดหมายข่าวดังกล่าว และเมื่อมีการประชุมกลุ่มก็ต้องติดตามอาจารย์ไปด้วย”
“เนื่องจากผมเป็นมือใหม่และยังไม่มีเครือข่าย ดังนั้นการทำจดหมายข่าวของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกในตอนนั้นผมจึงต้องทำเองเกือบทั้งเล่ม ยกเว้นบทบรรณาธิการเท่านั้นที่ ดร.อนุชา จะเขียนให้ แต่ถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้ได้เรียนรู้งานทั้งกระบวนการ”
การได้รับมอบหมายให้ทำจดหมายข่าวในครั้งนั้นได้บ่มเพาะศักยภาพด้านการเขียนของคุณบุญรักษ์ ซึ่งต่อมาก็ได้ใช้ทักษะนี้ในฐานะเป็นสมาชิกกองบรรณาธิการวารสารเทคโนโลยีวัสดุ มีหน้าที่เขียนบทความด้านวัสดุเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ
คุณบุญรักษ์เล่าว่า “หลังจากที่ ดร.อนุชา ลาออกจากเอ็มเทค ผมก็ยังคงทำงานที่เอ็มเทคและรับผิดชอบการทำจดหมายข่าวให้แก่สภาอุตสาหกรรมต่อไปด้วย ในขณะเดียวกันที่เอ็มเทคก็มีการริเริ่มจัดทำวารสารเทคโนโลยีวัสดุ ผมจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองบรรณาธิการด้วย ดังนั้น งานที่ทำในช่วงนั้นจึงมีทั้งการทำจดหมายข่าว เขียนบทความเผยแพร่ในวารสารเทคโนโลยีวัสดุ อย่างไรก็ดี ผมทำงานที่เอ็มเทคอีกประมาณ 1 ปีก็ลาออก และได้ส่งมอบบทบาทหน้าที่การทำจดหมายข่าวให้แก่สภาอุตสาหกรรมเพื่อจัดหาทีมในการดำเนินการต่อไป”
ค้นหาตัวตน
เมื่อได้รับคำถามถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเปลี่ยนงาน และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับจากการทำงานที่อื่น คุณบุญรักษ์ตอบว่า “เนื่องจากพี่ที่รู้จักชวนไปทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในตำแหน่งตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ แต่ทำได้แค่ 2-3 เดือนก็มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อผู้บริหารของบริษัทแจ้งว่าจะไม่ดำเนินธุรกิจด้านนี้ต่อแล้วทำให้พนักงานทั้งหมดต้องแยกย้ายกันไปหางานใหม่”
“หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมไปสมัครงานที่บริษัทที่มีเจ้าของกิจการเป็นชาวต่างชาติแห่งหนึ่งในตำแหน่งตัวแทนจำหน่ายสารเคมีให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมบำบัดน้ำเสีย และอุตสาหกรรมสี ลักษณะของงานที่ทำคือ การไปพบลูกค้าเพื่อนำตัวอย่างสารเคมีไปให้ทดลองใช้และโปรโมทสินค้า บางครั้งก็ทำหน้าที่ส่งของแทนคนขับรถในช่วงที่งานของบริษัทมาก หรือในกรณีที่ลูกค้าต้องการสินค้าแบบเร่งด่วน”
ส่วนประสบการณ์ที่ต้องใช้ความสามารถด้านการติดต่อธุรกิจ หรือใช้ความรู้เชิงวิชาการในการแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้านั้น คุณบุญรักษ์เล่าว่า “ตอนที่เป็นตัวแทนจำหน่ายได้มีโอกาสเห็นสไตล์การทำงานของหัวหน้าคือ เขาจะใช้วิธีการและลูกเล่นหลายอย่างในการรักษาลูกค้าของบริษัทไว้นาน ๆ”
“ในส่วนของงานผมเน้นขายผลิตภัณฑ์บำบัดน้ำเสียให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมกระดาษและโรงงานบำบัดน้ำเสีย คือก่อนที่โรงงานจะปล่อยน้ำทิ้งออกไปจะต้องนำน้ำเสียไปเข้าระบบบำบัดน้ำก่อน โดยจะใช้สารเคมีที่เป็นโพลิเมอร์เพื่อให้ตะกอน (sludge) จับตัวรวมกันเป็นก้อนและตกตะกอนได้เร็วขึ้น จากนั้นจึงนำตะกอนที่ได้เข้าเครื่องบีบอัดเพื่อรีดน้ำซึ่งจะได้ตะกอนเป็นก้อนออกมา” คุณบุญรักษ์อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
“อย่างบริษัทแห่งหนึ่งต้องการให้ช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากเขามีค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากของเสียที่ออกมาจากน้ำทิ้งสูงมาก เดิมทีบริษัทมีเครื่องบีบอัดกากตะกอนอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยใช้โพลิเมอร์ในการบำบัดน้ำเสีย เขาใช้ผ้าแคน-วาส (canvas) ในการบีบอัดตะกอน เมื่อใช้ไปพักหนึ่งผ้าแคนวาสที่ใช้ก็จะตัน ทำให้ไม่สามารถรีดน้ำออกจากตะกอนได้ เมื่อปล่อยตะกอนทิ้งไว้ก็จะส่งกลิ่นเหม็น เมื่อผมมาดูกระบวนการบำบัดน้ำที่โรงงานก็ได้แนะนำโพลิเมอร์ที่ช่วยในการรวมตัวของตะกอน โดยสาธิตให้เห็นที่หน้างานถึงวิธีการเตรียมโพลิเมอร์ การทดสอบเติมโพลิเมอร์ในน้ำเสียเพื่อทำให้เห็นว่าโพลิเมอร์ช่วยจับตะกอนให้เป็นก้อนและแยกออกจากน้ำได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้โรงงานสามารถยืดอายุการใช้งานของผ้าแคนวาสได้ การสาธิตดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ท่านนั้นซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกซ่อมบำรุงสนใจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์นี้ และหลังจากนั้นไม่นานก็สั่งซื้อไปใช้ในโรงงาน”
“อย่างไรก็ดี แม้จะมีการสั่งซื้อแล้ว ผมยังคงติดตามและให้บริการหลังการขายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบริษัทนี้เป็นลูกค้าใหม่ หลังจากที่ติดตั้งเครื่องมือทุกอย่างแล้ว ผมก็จะเข้าไปดูที่หน้างานเพื่อติดตามการใช้งานว่าเกิดปัญหาอะไรหรือไม่” คุณบุญรักษ์กล่าวเสริม
หวนคืนสู่เอ็มเทค
เมื่อทำงานที่บริษัทแห่งนี้ได้ 2 ปีกว่า โชคชะตาก็นำพาคุณบุญรักษ์ให้หวนกลับสู่เอ็มเทคเป็นครั้งที่ 2 คุณบุญรักษ์เล่าว่า “เนื่องจากผมรู้จักกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่ทำงานที่เอ็มเทคจึงมักแวะมาเยี่ยมเยียนเป็นระยะ ครั้งหนึ่งที่แวะมาเป็นช่วงที่พี่ที่รู้จักท่านหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศกำลังจะลาออกทำให้เอ็มเทคขาดคนที่จะมาดูแลฐานข้อมูล ซึ่งในตอนนั้นเอ็มเทคมีฐานข้อมูลจำนวนมาก ผมจึงมาสมัครงานที่เอ็มเทคอีกครั้ง โดยงานที่รับผิดชอบคือการดูแลฐานข้อมูลเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงการแปลข่าวเทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ในวารสารเทคโนโลยีวัสดุด้วย”
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่เอ็มเทค คุณบุญรักษ์ได้สร้างสรรค์ผลงานเขียนมากมาย ทั้งในรูปแบบหนังสือ เช่น รู้รอบ-รอบรู้ เทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ Mimic ธรรมชาติ และ แปลกแต่จริงในโลกวิทยาศาสตร์ หรือบทความทางด้านเทคโนโลยีและวัสดุสำหรับคนทั่วไป โดยเผยแพร่ในวารสารและนิตยสารต่าง ๆ เมื่อได้รับคำถามว่าผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจหรือชื่นชอบมากที่สุดคืออะไร
ผลงานเขียนของคุณบุญรักษ์
คุณบุญรักษ์ตอบว่า “ผมชอบหลายบทความ แต่ที่ชอบมากที่สุดคือ บทความแนวเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่กำลังจากไป (disruptive technology), มรดกจากไอน์สไตน์, 10 สุดยอดผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี, เลโอนาร์โด ดา วินชี ชีวิตและผลงานของสุดยอดอัจฉริยะ และเทคโนโลยีกระสวยอวกาศ เป็นต้น”
แสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ
เมื่อองค์กรเปิดโอกาสให้บุคลากรภายในมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน คุณบุญรักษ์ที่ทำงานสังกัดเดิมมายาวนานถึง 10 กว่าปีแล้วกำลังต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ พอดีจึงขอย้ายงานไปทำในส่วนของการฝึกอบรมแทน ซึ่งลักษณะของงานย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน
คุณบุญรักษ์เล่าความแตกต่างของงานที่ทำว่า “งานเขียนบทความสนุกตรงที่ได้ค้นคว้าหาความรู้เรื่องใหม่ ๆ เมื่อได้อ่านข้อมูลแล้วก็จะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอ ทำให้ต้องกลับไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม งานเขียนจึงเป็นการใช้เวลากับตัวเองค่อนข้างมาก ในขณะที่งานฝึกอบรมเป็นลักษณะของการติดต่อประสานงานกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งวิทยากร ผู้เข้าอบรม ซึ่งแต่ละคนก็จะมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป”
ตัวอย่างบรรยากาศคอร์สฝึกอบรมที่จัดขึ้นแบบปกติ
“ในส่วนรายละเอียดของการจัดคอร์สอบรมจะต้องมีการวางแผนที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการประสานงานกับวิทยากร เพราะวิทยากรบางคนจะมีรายละเอียดเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนการทำงานก็ต้องสอบถามรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อจะได้จัดคอร์สได้ตรงกับความต้องการที่สุด นอกจากนี้ ก็ต้องวางตารางเวลาโดยเผื่อเวลาไว้ด้วย แม้กระนั้น ทุกครั้งที่จัดอบรมผมก็จะลุ้นตลอดว่าวิทยากรจะส่งต้นฉบับเอกสารการอบรมมาทันไหม ส่วนใหญ่มักส่งแบบกระชั้นชิด บางครั้งผมต้องไปขอร้องให้ร้านถ่ายเอกสารช่วยเร่งงานให้ทันเวลา”
“งานที่ท้าทายที่สุดคืองานประชุมวิชาการระดับนานาชาติงานหนึ่งที่จัดในจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงจึงมีความท้าทายในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการด้านงบประมาณ การดำเนินเอกสารด้านการเงิน การติดต่อสื่อสารกับวิทยากรชาวต่างชาติ รวมถึงผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติเช่นกัน ซึ่งงานนี้แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างแต่ก็สามารถแก้ปัญหาและผ่านพ้นมาได้” คุณบุญรักษ์เล่าถึงประสบการณ์ประทับใจ
“อีกกรณีหนึ่งเป็นการจัดคอร์สอบรมเชิงวิชาการ มีลูกค้าท่านหนึ่งแจ้งผมว่าสนใจอยากเข้าอบรมในคอร์สนี้ ผมก็ดำเนินการลงทะเบียนให้ ออกใบแจ้งหนี้ สำรองอาหาร ส่งรายละเอียดของคอร์สและเอกสารที่ใช้ในการอบรมให้ทางอีเมล เมื่อถึงวันอบรมลูกค้าไม่มาโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ซึ่งตามระเบียบจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน อีกทั้งไม่ยอมชำระค่าอบรมที่มีการเรียกเก็บตามใบแจ้งหนี้ เมื่อเราติดต่อไปก็ไม่ติดต่อกลับ จนกระบวนการล่วงเลยไปถึงขั้นต้องดำเนินการทางกฎหมายทำให้ในที่สุดเขาก็ต้องยอมชำระหนี้ กรณีนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่เคยลืม”
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน การจัดคอร์สฝึกอบรม การสัมมนา หรือการประชุมวิชาการต่าง ๆ ย่อมไม่สามารถจัดได้ในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไปทำให้ต้องปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ (new normal) คุณบุญรักษ์ เล่าว่า “เราต้องมีการปรับตัวมากขึ้นโดยเปลี่ยนไปจัดคอร์สฝึกอบรม การสัมมนา หรือการประชุมวิชาการต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ ดังนั้น เราเองก็จำเป็นต้องไปเรียนรู้เรื่องการจัดอบรมออนไลน์เพิ่มเติมทั้งรูปแบบให้เพื่อนมาสอนเบื้องต้นก่อน จากนั้นก็มาลองผิดลองถูกกันเอง”
ตัวอย่างบรรยากาศคอร์สฝึกอบรมที่จัดขึ้นแบบออนไลน์
จากการที่คุณบุญรักษ์มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ จึงทำให้เห็นมุมมองของการทำงานที่แตกต่างกัน
คุณบุญรักษ์เล่าว่า “จากประสบการณ์หน่วยงานเอกชนที่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่ผมเคยทำงานจะมุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก เขาจะใช้กลยุทธต่าง ๆ เพื่อรักษาลูกค้าไว้ให้ได้ ซึ่งวิธีการนั้นอาจเป็นวิธีปกติ หรือวิธีพิเศษก็ได้ ในขณะที่ภาครัฐก็จะมุ่งเน้นให้ผลงานออกอย่างจริงจัง โดยจะพิจารณาทั้งประสิทธิภาพการทำงาน และการใช้งบประมาณด้วย”
“การทำงานในองค์กรของรัฐที่ผ่านมาเน้นเชิงรุกมากขึ้น อย่างงานฝึกอบรมก็ต้องแสวงหาลูกค้าใหม่ ๆ โดยพิจารณาหัวข้อหลักสูตรที่เป็นจุดแข็งของวิทยากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยเอ็มเทค จากนั้นจะกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้สอดคล้องกับหัวข้อ ซึ่งก็ได้เริ่มทำในส่วนนี้ไปแล้ว นอกจากนี้ ยังทำผลสำรวจความต้องการของลูกค้าถึงหัวข้อที่ต้องการอบรมด้วย แต่จุดเด่นของหัวข้อหลักสูตรที่เป็นตามความเชี่ยวชาญของนักวิจัยนั้นก็ทำให้เราไม่มีคู่แข่ง”
อนาคตที่วางไว้
เมื่อถามถึงอนาคตที่ใฝ่ฝัน คุณบุญรักษ์ให้แง่มุมในหลายเรื่องว่า “ในเรื่องของการทำงาน ผมวางแผนว่าจะทำงานฝึกอบรมต่อไปจนเกษียณอายุ ส่วนเรื่องการออม เราต้องยอมรับว่าชีวิตหลังเกษียณรุ่นเรากับรุ่นพ่อแม่มีความแตกต่างกัน รุ่นพ่อแม่หากมีเงินเก็บในธนาคาร ดอกเบี้ยที่ได้รับก็อาจจะพออยู่ได้สบาย แต่ปัจจุบันเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้แล้ว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากน้อยมาก เราจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม หุ้น หรือการทำประกันชีวิตด้วย”
“สำหรับเรื่องสุขภาพ เราก็ต้องดูแลด้วยการออกกำลังกาย ปกติจะเข้าฟิตเนสบ่อย แต่พอเกิดสถานการณ์โควิดก็ไม่สามารถทำได้ ตอนนี้ก็ได้แต่ออกกำลังกายด้วยการวิ่งในหมู่บ้าน หรือทำงานบ้านบ้าง การออกกำลังกายนอกจากจะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงแล้วก็ยังช่วยไม่ให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมด้วย” คุณบุญรักษ์กล่าวทิ้งท้าย