อุุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายสำหรับรถบรรทุก

 

ที่มา
ข้อมูลของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่ารูปแบบอุบัติเหตุที่พบบ่อยและรุนแรงมากที่สุดคือ การที่รถบรรทุกถูกชนท้ายหรือชนจากด้านข้างขณะจอดพักรถริมทาง อุบัติเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 60 ครั้งต่อปี และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 1 คนต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน

นอกจากการแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีจุดจอดพักรถแล้ว วิธีการทางเทคนิคที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ในต่างประเทศคือ การกำหนดให้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถบรรทุก (underrun protection device) เพื่อป้องกันไม่ให้รถที่เข้ามาชนเกิดความเสียหายและมุดเข้าไปใต้ท้องรถ

ปัจจุบันมีผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุกในประเทศไทยหลายรายเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (Lateral Underrun Protection Device, LUPD) และด้านท้าย (Rear Underrun Protection Device, RUPD) แต่อุปกรณ์ดังกล่าวยังไม่แพร่หลายและยังไม่มีมาตรฐานด้านความแข็งแรงมารองรับ ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานจึงได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาแบบเชิงวิศวกรรมของอุปกรณ์ซี่งได้มาตรฐานภายใต้ความร่วมมือกับสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก และตัวแทนผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุก

เป้าหมาย
พัฒนาแบบเชิงวิศวกรรมอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย ร่างข้อกำหนดของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ และร่างข้อกำหนดสำหรับตรวจสอบการผลิตและติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุกในประเทศไทย

ทีมวิจัยทำอย่างไร

  • ศึกษาเปรียบเทียบมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องในการกำหนดอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย ได้แก่ UN R58 และ UN R73
  • ศึกษาปัญหาและรวบรวมแนวทางแก้ไขร่วมกับผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุกในประเทศไทย และกรมการขนส่งทางบก
  • ใช้แนวคิด Morphological matrix หรือการผสมฟังก์ชันย่อยของแต่ละชิ้นส่วนเพื่อให้สามารถสับเปลี่ยนชิ้นส่วนหลักต่างๆ ได้ ในการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายสำหรับรถบรรทุกในประเทศไทย 7 ลักษณะ รวม 90 แบบ สำหรับเป็นแบบเชิงวิศวกรรมที่พร้อมนำไปผลิต
  • วิเคราะห์และทดสอบต้นแบบตามข้อกำหนดในมาตรฐาน
  • วางแผนกระบวนการทดสอบเพื่อรับรองมาตรฐาน
  • จัดทำข้อเสนอแนวทางเพื่อจัดทำร่างข้อกำหนดสำหรับตรวจสอบการผลิตและติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย

ผลงานวิจัย
อุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายมีสมบัติดังนี้

  • มีความแข็งแรงรองรับแรงปะทะจากการชนตามมาตรฐานสาก
  • ใช้วัสดุที่ใช้ผลิตสามารถหาได้ภายในประเทศ
  • ใช้กระบวนการผลิตที่ผู้ผลิตขนาดใหญ่และขนาดเล็กสามารถทำได้
  • มีน้ำหนักของอุปกรณ์ที่ต่ำกว่า 120 กิโลกรัม
  • มีต้นทุนของอุปกรณ์ที่ต่ำกว่าการนำเข้า
  • ร่างข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ การตรวจสอบ การทดสอบและรับรองการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ

สถานภาพการวิจัย
ดำเนินการเสร็จสิ้น และส่งมอบแบบเชิงวิศวกรรมให้แก่สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบกแล้ว

แผนงานวิจัยในอนาคต
สนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการผลิตและทดสอบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายรถบรรทุกให้ได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงต้นทุนและความพร้อมในกระบวนการผลิต

รายชื่อทีมวิจัย
ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ, นายณรงค์ พิทักษ์ทรัพย์สิน, นายพีรกิตติ์ วิริยะรัตน์ศักดิ์, นายประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล, ดร.ฉัตรชัย ศรีสุรางค์กุล, นายเศรษฐลัทธ แปงเครื่อง, นายณรงค์ฤทธิ์ สืบนันตา, ดร.สุธี โอฬารฤทธินันท์, นางสาวรัตนสุดา แนวเงินดี

ติดต่อ
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ
กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4350
อีเมล sarawutl@mtec.or.th

นายณรงค์ พิทักษ์ทรัพย์สิน
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4357
อีเมล narongp@mtec.or.th