วันที่ 7 เมษายน 2564 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) นำโดยนางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัย ทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. ผศ.ดร. ลำแพน ขวัญพูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมด้วยนายพีรพันธ์ จิวะพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี Magik Growth และคุณอรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต ร่วมลงพื้นที่มอบ “ถุงห่อทุเรียน Magik Growth สู่ต้นแบบสวนทุเรียนพรีเมียมเพื่อการส่งออก” ณ สวนทุเรียนคุณนวลนภา ต.วังหว้า อ.แกลง ระยอง โดยมี นางสาวนวลนภา เจริญรวย เจ้าของสวนทุเรียนคุณนวลนภา “สวนสไตล์ช๊าลฮิ” อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้การต้อนรับ
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มุ่งพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ นำมาขยายผลพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีเพื่อการทดสอบประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth โดยทางทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ซึ่งได้ร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการทดสอบภาคสนามตั้งแต่ปี 2562 และมีการจัดเก็บข้อมูลผลวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าถุงห่อทุเรียน Magik Growth สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 2 ฤดูกาลผลิต เป็นการช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช สามารถเพิ่มน้ำหนัก และคุณภาพผิวผลทุเรียนและสามารถจำหน่ายเป็นเกรดพรีเมียมได้ โดยทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2564 เพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศ สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่รัฐบาลที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งนวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth ตอบโจทย์ ‘ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน’ ที่สามารถนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด รวมทั้งตอบโจทย์ ‘ระบบเศรษฐกิจสีเขียว’ ที่มีการมุ่งเน้นแก้ปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลก และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน สวทช. ยังดำเนินการในส่วนของพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของ EECi ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่นวัตกรรมในจ.ระยอง ที่สวทช. ดูแลอยู่
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ในปี 2564 ทุเรียนเป็นพืชส่งออกอันดับ 2 แต่ชาวสวนทุเรียนยังประสบปัญหาทั้งเรื่องโรคแมลงศัตรูพืชและสัตว์กัดแทะที่ทำลายทุเรียนในระยะพัฒนาผลจนเกิดความเสียหาย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่แก้ปัญหาโดยใช้สารเคมียาฆ่าแมลงในการฉีดพ่น ซึ่งนอกจากจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ยังเกิดปัญหาสุขภาพตามมา
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. จึงนำองค์ความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์โดยพัฒนาสูตรผสมเม็ดพลาสติก (polymer compound) ร่วมกับเทคโนโลยีการขึ้นรูปนอนวูฟเวน เพื่อให้วัสดุนอนวูฟเวนมีสมบัติให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้โดยง่าย รวมถึงมีสมบัติการคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมกับเซลล์รับแสงที่ผิวผลไม้ โดยได้ผลิตเป็นนวัตกรรมวิจัยต้นแบบชื่อทางการค้าว่า Magik Growth หรือ นวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวน ช่วยให้ทุเรียนที่ถูกห่อด้วยถุงห่อ Magik Growth สามารถสร้างสารสำคัญในผลไม้ทั้งแป้ง น้ำตาล สารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ โดยได้ทดลองทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับภาคสนามร่วมกับ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในพื้นที่สวนทุเรียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน และมีการจัดเก็บข้อมูลผลวิจัยอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ถุงห่อทุเรียน Magik Growth สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 2 ฤดูกาลผลิต เป็นการช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช
ทั้งนี้การห่อทุเรียนด้วยถุงห่อทุเรียน Magik Growth มีข้อดีเรื่องน้ำหนักผลทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยผลการทดสอบเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา น้ำหนักทุเรียนเพิ่มขึ้น 17.7 % จากจำนวนสวนทุเรียน 6 สวนในจังหวัดระยอง และน้ำหนักเพิ่มขึ้น 14.4% จากจำนวนสวนทุเรียน 4 สวนในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส สำหรับนวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth ขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่ได้รับสิทธิถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายแล้ว
ผศ.ดร. ลำแพน ขวัญพูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทีมวิจัย สจล. ซึ่งมีส่วนในการทดสอบให้กับทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ภายใต้ โครงการการขยายผลนวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวสวนทุเรียน ได้นำถุงห่อ Magik Growth จำนวน 4 สี (น้ำเงิน ขาว ดำ และแดง) มาทดสอบห่อทุเรียนที่สวนคุณนวลนภา อ.แกลง จ.ระยอง เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับทุเรียนที่ไม่ได้ห่อ และทุเรียนที่ห่อด้วยถุงตาข่ายทางการเกษตรซึ่งเกษตรกรใช้อยู่เดิม เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของถุงห่อ Magik Growth โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งความชื้น อุณหภูมิตลอดช่วงการห่อ ผลจากทดสอบต่อเนื่อง 3 ฤดูกาลผลิต พบว่าถุงห่อทุเรียน Magik Growth สีแดง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจที่จะนำมาใช้ห่อทุเรียนแทนการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขนาดผลทุเรียนตลอดจนมีปริมาณเนื้อของทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลจากการทดสอบปี 2564 น้ำหนักผลทุเรียนสดที่ไม่ห่อผล มีน้ำหนักเฉลี่ย 3.56 กิโลกรัม เปรียบเทียบกับการห่อผลด้วยถุง Magik Growth น้ำหนักเฉลี่ย 4.05 กิโลกรัม ความหนาเปลือกทุเรียน พบว่าผลที่ไม่ห่อเปลือกหนา 1.36 เซนติเมตร ส่วนผลที่ห่อด้วยถุง Magik Growth เปลือกหนาเพียง 1.01 เซนติเมตร และเมื่อวัดสัดส่วนน้ำหนักเปลือก น้ำหนักเนื้อ และน้ำหนักเมล็ด จะได้น้ำหนักในพูทุเรียน เปรียบเทียบการไม่ห่อผล (control) ได้น้ำหนัก 290 กรัม กับการห่อผลด้วยถุง Magik Growth ได้น้ำหนักสูงถึง 379 กรัม
“จากการเก็บข้อมูลภายในลูกทุเรียน พบว่าทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growth มีความหนาของเปลือกบางลง 30% ทำให้ได้น้ำหนักรวมผลทุเรียน เพิ่มขึ้น 10% มีความแน่นเนื้อมากขึ้น และสีเนื้อเหลืองขึ้น และการห่อผลด้วยถุง Magik Growth ไม่มีผลต่อการแก่ของผลทุเรียนบนต้น โดยผลที่ห่อมีการสะสมน้ำหนักแห้งเพิ่มขึ้น เมื่อนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องพบว่า ผลทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growth มีการสุกช้ากว่าผลที่ไม่ได้ห่อประมาณ 2 วัน”
อย่างไรก็ตามจุดเด่นของทุเรียนที่ห่อด้วยถุงห่อทุเรียน Magik Growth จะมีสีของเปลือกที่สวยเป็นสีเขียวแกมเหลืองซึ่งเป็นธรรมชาติของสีผิวของผลไม้ที่ห่อถุง เปลือกสวยและแม้จะดูภายนอกไม่เหมือนทุเรียนแก่ แต่ผลผลิตที่ผ่านการทดสอบมาหลายฤดูการผลิตมีคุณภาพมาตรฐาน
นางสาวนวลนภา เจริญรวย เจ้าของสวนทุเรียนสไตล์ช๊าลฮิ อ.แกลง จ.ระยอง เปิดเผยว่า เป็นชาวสวนทุเรียนมือใหม่จากการปลูกทุเรียนเมื่อปี 2554 และได้ผลผลิตครั้งแรกใน 5 ปีถัดมา โดยในสวนมีการปลูกทุเรียนแบบกอ (1 โคก 3 ต้น) เพื่อช่วยในเรื่องของการค้ำยันลำต้นไม่ให้ล้มง่าย ลดปริมาณการไว้ผลต่อต้นลง ทำให้ต้นไม่โทรมหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต และเน้นการตัดแต่งต้นให้มีทรงพุ่มสูงไม่เกิน 6 เมตร ทั้งนี้จากประสบการณ์ทำสวนทุเรียนเกือบ 10 ปีทำให้เห็นว่าทุเรียนเป็นพืชที่ต้องอาศัยความใส่ใจดูแลทุกขั้นตอน จึงมีความตั้งใจที่จะลดใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงจากปัญหาโรคและแมลง โดยเฉพาะทุเรียนระยะพัฒนาผล (อายุ 65-70 วัน ผลทุเรียนมีขนาดเท่าขวดน้ำอัดลมขนาด 1.5 ลิตร) ซึ่งเป็นระยะที่ผลมีการสะสมแป้งก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเมื่อผลสุก (อายุ 110-120 วัน) โดยระยะพัฒนาผลนี้มักจะถูกหนอนเจาะผลทุเรียน หรือ หนอนรัง เพลี้ยแป้ง และราดำเข้าทำลาย ทำให้ผลทุเรียนเล็กแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต คุณภาพของผลทุเรียนไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค กระทั่งช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา ได้ทราบผลทดสอบการใช้นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth จากทีมนักวิจัย เอ็มเทค สวทช. และอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ผลปรากฏว่าถุงห่อทุเรียน Magik Growth นอกจากจะช่วยตอบโจทย์การลดสารเคมี ป้องกันหนอนเจาะผลทุเรียน และเพลี้ยแป้ง ราดำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ผิวผลทุเรียนสวย ผลได้น้ำหนักดีและมีปริมาณเนื้อทุเรียนเพิ่มขึ้นด้วย
“เดิมทีเราก็ใช้ถุงตาข่ายทางการเกษตร ห่อทุเรียนเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชแทนการฉีดพ่นสารเคมีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งป้องกันหนอนรังได้ แต่ก็ยังประสบปัญหาว่าไม่สามารถป้องกันเพลี้ยแป้ง กับราดำได้ ทำให้ผิวทุเรียนไม่สวย และเกิดความเสียหาย แต่เมื่อเริ่มทดลองใช้ถุงห่อทุเรียน Magik Growth มาได้ระยะหนึ่งแล้ว นอกจากจะช่วยลดต้นทุนจากสารเคมีประมาณ 6 ครั้ง ยังช่วยป้องกันเพลี้ยแป้งและราดำได้ด้วย ทำให้ทุเรียนมีผิวผลสวย ผลเจริญเติบโตได้ดี ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งส่งผลถึงความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่ได้บริโภคทุเรียนที่ปลอดภัย ปริมาณน้ำหนักผลเพิ่มขึ้นช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นและลดการใช้สารเคมีส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสิ่งแวดล้อมในสวนดีขึ้นมาก ถือเป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับชาวสวนทุเรียนยุคใหม่ โดยเฉพาะหากอนาคตมีปัญหาวิกฤติราคาทุเรียนจะทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่จะขายทุเรียนที่เป็นผลผลิตจากถุงห่อทุเรียน Magik Growth โดยจะทดลองส่งไปที่ประเทศจีนซึ่งติดต่อจองขอรับซื้อแล้ว”
นายพีรพันธ์ จิวะพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี Magik Growth กล่าวว่า เมื่อ 5 ปี ที่แล้วทางบริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ฯ ได้เลือกนวัตกรรมของเอ็มเทค ถุงห่อทุเรียน Magik Growth ซึ่งมีการทดลองร่วมกับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในเครือข่ายของ เอ็มเทค สวทช. มานานเกือบ 4 ปี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งเรื่องคุณภาพของถุงที่ใช้ได้นานใช้ซ้ำได้ถึง 2 ปี และประสิทธิภาพของถุงห่อยังช่วยให้ทุเรียนมีคุณภาพมาก ปัจจุบันได้มีการผลิตถุงห่อทุเรียน Magik Growth สำหรับจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการชาวสวนทุเรียนแล้ว ผู้สนใจสามารถหาซื้อถุงห่อทุเรียน Magik Growth จากบริษัทบริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ฯ และเร็วๆ นี้กำลังพัฒนาช่องทางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด เช่น โฮมโปร เป็นต้น เดิมทีบริษัทจะรับนวัตกรรมมาจากต่างประเทศทั้งหมดซึงถุง Magik Growth ถือเป็นนวัตกรรมไทยผลงานแรกที่บริษัทซื้อสิทธิ์มาผลิตเพื่อจำหน่าย บริษัทเชื่ออย่างหนึ่งว่าสินค้านวัตกรรม ต้องมีพาร์ทเนอร์ที่เห็นตรงกัน ซึ่งทางเอ็มเทค สวทช. สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้”
คุณอรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กล่าวว่า การห่อผลทุเรียน ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่เคยเห็น ซึ่งจากการตรวจดูสวนแล้วเห็นว่าเป็นการตอบโจทย์เรื่องการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัยพืชซึ่งต่างประเทศให้การยอมรับระดับหนึ่ง โดยการใช้ถุงห่อทุเรียน ถือเป็นการลดการใช้สารเคมีได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาศัตรูพืชทำลายผลทุเรียน ดังนั้นควรส่งเสริมให้ทำต่อเนื่องเพื่อรักษามาตรฐานการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาศัตรูพืชและสารตกค้างในทุเรียน ซึ่งจะทำให้ทุเรียนไทยไปได้ไกลอีกมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศจีนและญี่ปุ่นติดต่อขอซื้อทุเรียนที่ใช้ถุงห่อทุเรียน Magik Growth ทั้งสวนของคุณนวลนภาแล้ว เนื่องจากเชื่อมั่นในมาตรฐานและการลดสารเคมีในกระบวนการผลิต
เกี่ยวกับ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’
โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและประชาชนมีรายได้มากขึ้นด้วยการต่อยอดจุดแข็งของประเทศทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ประกอบด้วย Bioeconomy (ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร Circular Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน) การนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจสีเขียว) ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลก โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นกลไกลสำคัญที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเดิมจาก ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ไปสู่ ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน