“ชีวิตมีทางเลือกเสมอ หากเลือกที่จะสนุกและชอบในสิ่งที่ทำเราก็จะทำสิ่งนั้นได้ดีและสิ่งนั้นย่อมเหมาะกับเรา การได้ออกภาคสนาม ทำงานร่วมกับชาวสวน หรือการได้คิดค้น ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้รู้ว่าการเป็นนักวิจัยเหมาะที่สุดแล้ว”
ดร.โชติรส ดอกขัน
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลย
ดร.โชติรส ดอกขัน หรือ ดร.ปอร์ นักวิจัยจากทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ ระดับปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์พอลิเมอร์ ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (The University of Manchester)
เส้นทางการศึกษาและโอกาสสู่การเป็นนักวิจัย
ดร.โชติรส มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย เช่น เทคโนโลยีน้ำยางและผลิตภัณฑ์ยาง เทคโนโลยีการวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยรังสี พอลิเมอร์คอลลอยด์ และเพอรอฟสไกต์โซลาร์เซลล์ (perovskite solar cell) เธอเล่าถึงเส้นทางการศึกษาสู่การเป็นนักวิจัยกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางว่า
“ตอนเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสตรีทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนมีส่วนสนับสนุนในหลายด้าน เช่น สร้างห้องปฏิบัติการให้นักเรียนสามารถทำการทดลองเองได้ พาไปทัศนศึกษาชมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ หลายครั้ง ด้วยความที่ปอร์ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์อยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกสนุก อยากเรียนรู้ และทำการทดลองจึงเกิดแรงบันดาลใจ และนี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบงานวิจัยวิทยาศาสตร์มาตลอด”
“เมื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ด้านวิทยาศาสตร์โพลิเมอร์ก็ได้รับทุนเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำยางและผลิตภัณฑ์ยาง จากนั้นเมื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทก็ได้รับทุน TGIST หรือทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (Thailand Graduate Institute of Science and Technology) ทำให้ได้ร่วมงานกับดร.สุรพิชญ (ลอยกุลนันท์) และคุณฉวีวรรณ (คงแก้ว) โดยทั้งสองท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (co-advisor) ในหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับวิธีกำจัดของเสียในน้ำยางข้น การทำวิจัยในครั้งนี้ทำให้ปอร์รู้สึกว่าได้เรียนรู้ ยิ่งได้มีโอกาสออกภาคสนาม และทำงานร่วมกับชาวสวน ยิ่งทำให้สนุกกับการทำวิจัยมากยิ่งขึ้น”
“ต่อมาเมื่อจบการศึกษา ดร.สุรพิชญ และคุณฉวีวรรณ จึงชวนมาทำวิจัยที่เอ็มเทคต่อ จากนั้นได้ไปช่วย ผศ.ดร.กฤษฎา (สุชีวะ) ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการเอ็มเทคในขณะนั้น ทำงานที่ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง มหาวิทยาลัยมหิดลประมาณ 1 ปี ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการทางเทคนิค และเมื่อเอ็มเทคเปิดรับสมัครผู้ช่วยวิจัยกลุ่มวิจัยยางจึงได้มาสมัครและทำงานที่เอ็มเทคเรื่อยมาจนปัจจุบัน”
หลังจากทำงานมาได้ระยะหนึ่งเธอได้รับทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์ ตามความต้องการของเอ็มเทค ประเภททุนพัฒนาข้าราชการไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ดร.โชติรส เล่าว่า
“เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษามีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุชีวภาพ (biomaterial) และโซลาร์เซลล์ (solar cell) งานวิจัยที่ทำในตอนแรกจึงเกี่ยวกับโพลิเมอร์อ่อนสังเคราะห์ (synthetic soft polymer) สำหรับใช้ในการดูดซับโลหะในน้ำเสีย แต่จากการศึกษาทดลองในเบื้องต้นพบว่าได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ปอร์จึงพยายามเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสและหาสิ่งที่จะมาเชื่อมโยงกับความเชี่ยวชาญของอาจารย์ จึงได้เสนอกับอาจารย์ว่าจะลองนำโพลิเมอร์อ่อนสังเคราะห์มาประยุกต์ใช้ในงานโซลาร์เซลล์แทน ซึ่งปอร์ได้พิสูจน์ให้อาจารย์เห็นว่าแนวคิดนี้มีความเป็นไปได้ และท้ายที่สุดก็สามารถจดสิทธิบัตรจากผลงานนี้ได้จำนวน 2 ฉบับ ทั้งยังตีพิมพ์บทความวิชาการอีกด้วย”
“เมื่อกลับมาทำงานที่เอ็มเทคในฐานะนักวิจัยก็ไม่รู้สึกว่ามีอุปสรรคในการทำงาน เพราะคุ้นเคยกับทีมงานที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน อีกทั้งเคยได้รับการฝึกฝนในช่วงที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยมาแล้ว โดยพี่ๆ นักวิจัยช่วยฝึกสอนน้องในทีมให้ลองทำหลายอย่าง เช่น การร่างข้อเสนอโครงการวิจัย การนำเสนอผลงานวิชาการต่างประเทศ เป็นต้น จึงไม่ต้องปรับตัวเยอะ สามารถเริ่มงานได้เลย”
ดร.โชติรส ย้อนเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักวิจัยว่า “ตอนที่กำลังศึกษาปริญญาตรี ปอร์ไม่มีแผนจะศึกษาในระดับปริญญาโทต่อ แต่มีดร.วิรัช (ทวีปรีดา) ช่วยหาทุนให้ และเมื่อได้มาทำงานที่เอ็มเทคไม่นาน สวทช. ก็มีทุนให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ถือเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีที่ทำให้ปอร์ได้เดินในเส้นทางอาชีพนักวิจัย ปอร์จึงอยากบอกกับทุกคนว่า ชีวิตมีทางเลือกเสมอ หากเลือกที่จะสนุกและชอบในสิ่งที่ทำเราก็จะทำสิ่งนั้นได้ดีและสิ่งนั้นย่อมเหมาะกับเรา การได้ออกภาคสนาม ทำงานร่วมกับชาวสวน หรือการได้คิดค้น ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้รู้ว่าการเป็นนักวิจัยเหมาะที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ถ้าเราเชื่อมั่นและพยายามอย่างเต็มที่”
บทบาทนักวิจัยเอ็มเทค
เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ดร.โชติรส ได้กลับมาทำงานในฐานะนักวิจัยเอ็มเทค สังกัดกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง กลุ่มวิจัยฯ แบ่งออกเป็น 4 ทีมวิจัย ได้แก่ ทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง ทีมวิจัยยางและมาตรฐานยางยั่งยืน ทีมวิจัยวิศวกรรมยางขั้นสูง และทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่
ดร.โชติรสเล่าว่า “กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางจะโฟกัสเรื่องยางธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากยางจัดเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศจึงมีความพยายามพัฒนาให้ยางมีมูลค่าสูงขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทีมวิจัยที่ปอร์สังกัดคือผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่และมาตรฐาน ทำงานภายใต้ ดร.ปณิธิ (วิรุฬห์พอจิต) ซึ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมาตรฐานของยาง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางและทีมงานมีการทำงานที่ค่อนข้างหลากหลาย เรามองว่ายางธรรมชาติเหมือนเป็นพันธกิจหลัก แต่เราก็ยังคงเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น ยางสังเคราะห์ และวัสดุอื่นๆ เป็นต้น ดังนั้น งานที่ปอร์สนใจจึงค่อนข้างหลากหลาย เช่น การพัฒนาการวัลคาไนซ์น้ำยางไนไตรล์ (nitrile butadiene latex) ด้วยอิเล็กตรอน และการพัฒนาวัสดุที่มาจากธรรมชาติ หรือของเสีย/ของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในน้ำยางหรือยางแห้ง เป็นต้น”
“งานหนึ่งที่ทำหลังจากจบปริญญาเอกคือ การนำวัสดุธรรมชาติหรือสารสกัดจากของเสีย/วัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมต่างๆ มาเตรียมและผสมในน้ำยางและยางแห้ง เพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติและน้ำยางสังเคราะห์ที่สามารถย่อยสลายได้ การนำเพียโซอิเล็กทริกมาใช้ในยาง เนื่องจากคุณสมบัติของเพียโซอิเล็กทริกเมื่อได้รับการกระตุ้นจะทำให้เกิดพลังงาน หากพื้นยางทั่วไปมีความนุ่มและรับแรงได้ดีก็น่าสนใจ ดังนั้นจึงมีการศึกษาเบื้องต้นโดยนำเพียโซอิเล็กทริกใส่เข้าไปในยางทำให้เกิดวัสดุใหม่ซึ่งมีความร่วมมือกับดร.จิรภา (ตั้งศรีตระกูล) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นผู้พัฒนาวัสดุเพียโซอิเล็กทริก และคุณศิริชัย (พัฒนวาณิชชัย) จากทีมวิจัยยางและมาตรฐานยางยั่งยืน เอ็มเทค นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสารตัวเติมจากสะเก็ดสนิมที่เกิดจากการรีดร้อนสำหรับอุตสาหกรรมยาง โดยมีความร่วมมือกับดร.จิรภา (ตั้งศรีตระกูล) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ปิยนันท์ (บุญพยัคฆ์) และดร.ศิริกาญจน์ (ขันสัมฤทธิ์) มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย” ดร.โชติรส ยกตัวอย่าง
ผลงานในปัจจุบัน
เมื่อถามถึงงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ดร.โชติรส เล่าว่า “ปัจจุบันเทรนด์ของโลกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติเริ่มมีผลกระทบจากสถานการณ์ที่สหรัฐฯ ออกมาตรการห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ เนื่องจากมีผู้ใช้บางรายเกิดอาการแพ้โปรตีนในถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ใช้บางส่วนอาจจะแพ้โปรตีน หรือบางส่วนอาจแพ้สารเคมีที่ใช้ในสูตรการวัลคาไนซ์ด้วยระบบกำมะถันหรือแป้งที่ใช้ในการเคลือบถุงมือยางก็ได้ นอกจากนี้ บางประเทศในโซนยุโรปเริ่มมีการสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารเคมีในระบบการวัลคาไนซ์ด้วยกำมะถันบางชนิด ดังนั้นทีมวิจัยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้นมาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว”
“ก่อนหน้านี้กลุ่มวิจัยเคยดำเนินโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีการวัลคาไนซ์น้ำยางธรรมชาติด้วยลำอิเล็กตรอน (electron beam) ภายใต้การดูแลของผศ.ดร.กฤษฎา (สุชีวะ) และดร.สุรพิชญ (ลอยกุลนันท์) โดยมีการใช้น้ำยางข้นชนิดที่รักษาสภาพน้ำยางด้วยสารรักษาสภาพไร้แอมโมเนีย (TAPS) แต่โครงการนี้เสร็จสิ้นแล้ว ทีมวิจัยเห็นว่ายังไม่มีการพัฒนาการวัลคาไนซ์น้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียเกรดเชิงพาณิชย์ด้วยอิเล็กตรอน ดังนั้น ทีมวิจัยจึงร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ขอทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนาระบบการผลิตน้ำยางวัลคาไนซ์แบบต่อเนื่องด้วยเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำหรับการแพทย์และอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและได้ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางที่มีความปลอดภัยมากขึ้นเนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีในระบบการวัลคาไนซ์ด้วยกำมะถัน”
“โครงการนี้ สทน. และเอ็มเทคไม่ได้มองว่าเป็นการพัฒนาแค่ในระดับห้องปฏิบัติการ แต่ต้องการพัฒนาให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม โดย สทน. ได้มีการพัฒนาระบบลำเลียงแบบต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตน้ำยางวัลคาไนซ์ได้ในปริมาณมากตอบสนองความต้องการใช้ของอุตสาหกรรม และเอ็มเทคได้มีการทดสอบการผลิตน้ำยางวัลคาไนซ์จากระบบลำเลียงน้ำยางแบบต่อเนื่อง พัฒนาปรับสูตรน้ำยางที่จะนำเข้าสู่ระบบต่อเนื่องและน้ำยางที่ผ่านการวัลคาไนซ์ด้วยเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนให้มีคุณสมบัติเหมาะสมและผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำหรับการแพทย์และอาหาร ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการและได้รับทุนจาก วช. เป็นปีที่ 2 แล้ว”
“การเป็นนักวิจัยทำให้เรารู้สึกสนุกกับการได้คิดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ
ยิ่งถ้าสามารถแก้ไขอะไรได้…
จะรู้สึกมีความสุขกับการทำงานที่เกิดประโยชน์และใช้งานได้จริง”
การวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยลำอิเล็กตรอน
ดร.โชติรส อธิบายเพิ่มเติมว่า “โดยปกติการวัลคาไนซ์น้ำยางจะใช้สารเคมีต่างๆ ในระบบกำมะถัน (ซัลเฟอร์) เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสายโซ่ของโมเลกุลยาง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรง ส่วนการวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยอิเล็กตรอนอาศัยหลักการเดียวกันกับการวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยสารเคมี คือทำให้เกิดการเชื่อมโยงแบบโครงสร้างตาข่าย 3 มิติ โดยการใช้อิเล็กตรอนแทนการใช้สารเคมี ซึ่งอิเล็กตรอนจะกระตุ้นปฏิกิริยาการเกิดอนุมูลอิสระ (free radical) และทำให้เกิดการเชื่อมโยง (crosslinking) โมเลกุลยาง โดยมีการสร้างพันธะระหว่างคาร์บอน (C-C bond) ในสายโซ่โมเลกุลยาง หลังการวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยอิเล็กตรอนจะมีการนำน้ำยางไปทดสอบระดับการวัลคาไนซ์ก่อนที่จะนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์”
“น้ำยางที่วัลคาไนซ์แล้วยังคงอยู่ในรูปของน้ำยาง เราจึงสามารถนำน้ำยางที่ผ่านการวัลคาไนซ์ไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงมือ จุกนม และถุงยางอนามัยได้เหมือนเดิม ข้อดีของวิธีนี้คือน้ำยางที่เตรียมได้ไม่มีการใช้สารเคมีในระบบกำมะถัน จึงมีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถ้าเทรนด์โลกเปลี่ยนและมีการห้ามใช้สารเคมีในระบบกำมะถัน เราก็จะได้เปรียบที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้พร้อมใช้ได้ก่อน ซึ่งทีมวิจัยก็ยังมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนนี้”
เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนและระบบลำเลียงน้ำยางเข้าฉายวัลคาไนซ์แบบต่อเนื่อง (สทน.)
ผลงานที่สร้างความภูมิใจ
ดร.โชติรส มีงานวิจัยที่หลากหลาย เช่น การพัฒนานวัตกรรมการวัลคาไนซ์น้ำยางธรรมชาติด้วยลำอิเล็กตรอน, การทดสอบการผลิตน้ำยางวัลคาไนซ์จากระบบลำเลียงน้ำยางแบบต่อเนื่องด้วยเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำหรับการแพทย์และอาหาร, เทคโนโลยีการแก้ปัญหาของเสียในอุตสาหกรรมน้ำยาง (GRASS), การพัฒนาต้นแบบเครื่องตรวจจับการเสียสภาพของน้ำยางข้น (MST) อัตโนมัติ รวมถึงอุปกรณ์เสริมสำหรับติดตั้งกับเครื่องทดสอบเสถียรภาพต่อการปั่น (MST) เพื่อให้อ่านค่าแบบอัตโนมัติ, การพัฒนาสารเคมียางจากใบกระถินและใบยางพาราสู่ผลิตภัณฑ์ยางวงที่มีความเป็นพิษต่ำและย่อยสลายได้ และการวิจัยและพัฒนาการผลิตถุงมือยางสำหรับปฏิบัติงานไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น ซึ่งผลงานทุกชิ้นล้วนเป็นความภาคภูมิใจของเธอที่ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยทุกท่านและช่วยกันสร้างสรรค์งานที่มีประโยชน์ อย่างไรก็ดีผลงานที่ท้าทายที่สุด ได้แก่ “การวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยอิเล็กตรอน”
ดร.โชติรส เล่าว่า “การวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยอิเล็กตรอนมีปัญหาค่อนข้างเยอะ เช่น การวัลคาไนซ์น้ำยางด้วยอิเล็กตรอนนั้นการเชื่อมโยงโมเลกุลยางจะไม่แข็งแรงเท่ากับการวัลคาไนซ์ด้วยระบบกำมะถัน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับสมบัติของผลิตภัณฑ์ และสมบัติหลังการบ่มเร่งด้วยความร้อน (aging) ซึ่งจะไม่ผ่านมาตรฐาน ปอร์จึงต้องหาวิธีการหรือสารเคมีที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ที่ยาก และอาจเป็นหนึ่งในปัญหาที่ผ่านมาที่ทำให้งานไม่สามารถออกสู่อุตสาหกรรมได้”
“ทีมวิจัยจึงพยายามแก้ปัญหานี้เพื่อผลักดันให้งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งตอนนี้ปอร์สามารถหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว อย่างไรก็ตามน้ำยางธรรมชาติจัดเป็นของที่ได้จากธรรมชาติ มีองค์ประกอบที่หลากหลาย จึงทำให้มีสมบัติไม่นิ่ง ถึงแม้จะมีการควบคุมสมบัติของน้ำยางเบื้องต้นตามมาตรฐานแล้วก็ตาม แต่เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าในกระบวนการผลิตน้ำยางข้นมีการเติมอะไรลงไปบ้างทำให้จำเป็นต้องมีการที่ปรับน้ำยางในห้องปฏิบัติการหรือหน้างานอีกครั้งก่อนที่จะนำน้ำยางมาวัลคาไนซ์ด้วยอิเล็กตรอนหรือใช้งาน สิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นความท้าทายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และนี่อาจเป็นข้อเสียเปรียบหนึ่งเมื่อเทียบกับน้ำยางสังเคราะห์ที่มีสมบัติที่แน่นอน ซึ่งก็นับเป็นความท้าทายที่ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการพัฒนางานวิจัยต่อไปเรื่อยๆ”
การวางแผน พัฒนา และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
การแก้ปัญหาเรื่องสมบัติที่ไม่นิ่งของน้ำยางเพื่อให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีในอนาคตราบรื่นนั้น ดร.โชติรส กล่าวว่า “ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการใหม่ในการปรับสภาพ/เตรียมน้ำยางก่อนที่จะนำน้ำยางมาวัลคาไนซ์ด้วยลำอิเล็กตรอน ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจและมีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ และเมื่อลองทำซ้ำก็ยังได้ผลดีเช่นเดิม ดังนั้นวิธีการใหม่นี้สามารถควบคุมสมบัติน้ำยางก่อนที่จะเข้าฉายด้วยอิเล็กตรอนได้”
“ส่วนเรื่องสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางหลังการบ่มเร่งด้วยความร้อน ปอร์ได้ค้นพบสารป้องกันการเสื่อมสภาพ (antioxidant) ตัวใหม่ที่เหมาะสมกับน้ำยางที่ผ่านการวัลคาไนซ์ด้วยอิเล็กตรอน และนำมาทดลองกับน้ำยางที่ผ่านการวัลคาไนซ์ด้วยอิเล็กตรอน พบว่าสมบัติค่อนข้างนิ่งแล้ว ปัจจุบันเราสามารถผลิตน้ำยางที่ผ่านการวัลคาไนซ์ด้วยอิเล็กตรอนแบบแบตช์ (batch) ได้ในปริมาณประมาณ 1 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อคือการนำน้ำยางเข้าฉายด้วยระบบลำเลียงแบบต่อเนื่องเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและตอบสนองความต้องการใช้ของอุตสาหกรรม ดังนั้นในปี 2566 นี้จึงเป็นการพัฒนาระบบลำเลียงน้ำยางเข้าฉายแบบต่อเนื่อง และการทดสอบการผลิตน้ำยางวัลคาไนซ์จากระบบลำเลียงน้ำยางแบบต่อเนื่องด้วยเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน รวมถึงการปรับน้ำยางให้มีสมบัติเหมาะสมสำหรับการนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำหรับการแพทย์และอาหารต่อไป และเมื่อได้น้ำยางวัลคาไนซ์ที่มีสมบัติเหมาะสมแล้วก็จะส่งเข้าไปทดลองในไลน์การผลิตของโรงงานผลิตภัณฑ์เพื่อศึกษาการขึ้นรูป และปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจริง ซึ่งถ้าผ่านตรงนี้ได้ก็จะมีโอกาสเข้าสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น”
ภาพการทำงานร่วมกับทีมอื่น และเครื่อง MST ที่ทีมพัฒนาขึ้น
สไตล์การทำงาน
นอกจากการทำงานภายในกลุ่มวิจัยเดียวกันแล้ว ดร.โชติรสยังได้สร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยด้วย ดร.โชติรส เล่าว่า “ปอร์ได้ร่วมกับคุณเอนก (ภู่จำนงค์) และดร.จอมขวัญ (มั่นแน่) วิศวกรและนักวิจัยจากทีมวิจัยระบบวิศวกรรมขั้นสูง กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ในการพัฒนาเครื่องตรวจจับการเสียสภาพของน้ำยางข้น (MST, Mechanical Stability Testing) อัตโนมัติ โดยทั่วไปโรงงานจะใช้เครื่องทดสอบ MST ที่ต้องอาศัยคนในการระบุจุดยุติที่น้ำยางเสียสภาพ (ค่า MST) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้ทดสอบ อย่างไรก็ตามลูกค้าของโรงงานต้องการเครื่องมือที่แม่นยำมากกว่าคนโดยอาจใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ทีมวิจัยจึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อไป ดังนั้นจึงได้ขอทุนสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อพัฒนาอุปกรณ์เสริมสำหรับติดตั้งกับเครื่องทดสอบเสถียรภาพต่อการปั่น (MST) เพื่อให้อ่านค่าแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ปอร์ยังร่วมงานกับ ดร.บงกช (หะรารักษ์) นักวิจัย ทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ โดยสนใจจะนำลิกนิน (lignin) ซึ่งเป็นสารสกัดจากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตรมาใช้ในน้ำยางและยางแห้งเพื่อพัฒนาหาแนวทางการใช้งานใหม่ๆ เช่น พัฒนาโฟมยางดูดซับน้ำมัน และถุงมือยางย่อยสลายได้ เป็นต้น สำหรับเป็นแนวทางในการขอทุนสนับสนุนการวิจัยต่อไป”
ดร.โชติรส เล่าต่อว่า “ปอร์ยังได้มีโอกาสร่วมกับดร.ชาญวิทย์ (สุริยฉัตรกุล) ทีมวิจัยจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (ไบโอเทค) และคุณปรียวิศว์ (ณ อุบล) จากทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยางเอ็มเทค ในเรื่องการพัฒนายางที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยไบโอเทคสามารถพัฒนาเชื้อที่ย่อยยางธรรมชาติ เซลลูโลส และสารอื่นๆ รวมถึงพัฒนาเอนไซม์ที่ใช้เป็นตัวเร่งในการย่อยสลายได้”
นอกจากงานวิจัยแล้ว ดร.โชติรส ยังทำงานในส่วนของการเป็นวิทยากรรับเชิญ อาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจ็คให้กับนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน รวมถึงรับนักศึกษาฝึกงาน เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และแนวทางในการทำวิจัย อีกทั้งยังสอนงานแก่ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัยภายในทีม ดร.โชติรส กล่าวว่า “ส่วนใหญ่ปอร์จะเขียนแผนงานหรือโปรเจ็คก่อน จากนั้นจะคุยสรุปสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร เป้าหมายเป็นอย่างไร และเปิดโอกาสให้ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย นักเรียน นักศึกษาแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ หลังจากนั้นจะมีการติดตามงานเพื่อให้ได้งานที่มีความถูกต้อง”
เมื่อถามถึงการเป็นนักวิจัยในสไตล์ของเธอ ดร.โชติรสตอบว่า
“ปอร์เป็นนักวิจัยในแบบที่สนุกกับการได้คิดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ปอร์มองว่าปัญหาต่างๆ เป็นสิ่งที่ท้าทายและยิ่งถ้าสามารถแก้ปัญหาอะไรได้ก็จะมีความสุขที่ได้มีโอกาสทำงานที่เป็นประโยชน์และใช้งานได้จริง ชอบที่ได้ทำวิจัยและสนุกกับการได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น พร้อมที่จะแบ่งปันความสำเร็จไปด้วยกัน อนาคตก็ยังอยากทำวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ นอกจากงานวิจัยแล้วก็ชอบทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม เช่น เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปเพื่อแบ่งปันสิ่งที่เรารู้ค่ะ”