ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2529 เพื่อเป็นหน่วยงานเฉพาะทางที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านโลหะและวัสดุ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2534 ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ชื่อในขณะนั้น)
วิสัยทัศน์
ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ เพื่อตอบโจทย์สำคัญและเป็นความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาสังคมและชุมชน
พันธกิจ
พัฒนาและสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีวัสดุให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีกิจกรรมหลักดังนี้
- วิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม ทั้งในรูปแบบการร่วมวิจัย การรับจ้างวิจัย กับภาคการผลิตและบริการหรือผู้ใช้ในภาคส่วนต่างๆ และการทำวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับอนาคต
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาการผลิตสำหรับภาคการผลิตและบริการ
- พัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ
ค่านิยมหลัก
Nation First
คำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเสียสละ คิดถึงทิศทางของส่วนรวม
Science and Technology Excellence
ยึดมั่นในการสร้างความเป็นเลิศในทุกสิ่งที่ทำ อันเกิดจากการใฝ่รู้ ริเริ่ม และสร้างสรรค์ด้วยมาตรฐานสูงสุด
Teamwork
ทำงานเป็นทีม พร้อมที่จะเปิดใจรับฟัง กล้าวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ มีการสื่อสารสองทาง
Deliverability
มุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพให้ได้ตามคำมั่นสัญญา มุ่งเน้นให้ทุกคนทำงานด้วยความกระตือรือร้น และเน้นความคล่องตัว |
Accountability
มีจริยธรรม จรรยาบรรณ โปร่งใส กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
แนวทางการวิจัยและพัฒนา
เอ็มเทคดำเนินงานตามพันธกิจในทิศทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฉบับที่ 7 (ปีงบประมาณ 2565-2570) ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 และแผนแม่บทระดับต่างๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” เพื่อสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขบรรเทาปัญหาหรือพัฒนากิจการ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม
แนวทางการทำงาน
เอ็มเทคมุ่งเน้นความร้อยเรียงตามกรอบแนวคิด 4 ด้าน ดังนี้
- Excellence การดำเนินงานด้วยความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ
- Relevance ความเชื่อมโยงและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ประเทศและความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์
- Impact การสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความสามารถในการแข่งขันจากการดำเนินงานวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม
- Visibility ความเชื่อมั่นและการยอมรับในคุณภาพและความเชี่ยวชาญในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก
งานวิจัยของเอ็มเทคครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ เทคโนโลยีการออกแบบและการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่จากหลายศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ และเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถให้รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
กลไกการดำเนินงาน
เอ็มเทคพัฒนากลไกการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และการส่งมอบ ใช้ Technology/Research S-curves เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารงานวิจัย การจัดสรรทรัพยากร และวางแผนการทำงาน เอ็มเทคมุ่งเน้นการวางแผนงานวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแก้ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
เอ็มเทคส่งมอบผลผลิต (output) จากการวิจัยในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ บทความ ต้นแบบ และทรัพย์สินทางปัญญา ต่อยอดไปสู่ผลลัพธ์ (outcome) คือ การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี การรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย อันนำไปสู่การสร้างผลกระทบ (impact) และการลงทุน (investment) ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและบริการทางวิศวกรรม ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม และเกษตรกรรม โดยชูประเด็นด้าน Circular Economy, Health and Wellness ที่เป็นโจทย์ของประเทศและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ คือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) รวมถึงด้าน Industry 4.0 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ
จากการปฏิรูประบบงบประมาณของประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 ที่จัดสรรงบประมาณวิจัยผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) แทนการจัดสรรโดยตรงจากสำนักงบประมาณ ยังคงเป็นความท้าทายของเอ็มเทคในการปรับตัว เพื่อการพัฒนากระบวนการบริหารการวิจัยให้สอดรับกับแหล่งเงินภายนอก และระบบงบประมาณวิจัยของประเทศ เอ็มเทคจึงมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมกับพันธมิตรเป้าหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย และสร้างโอกาสในการขอสนับสนุนงบประมาณวิจัยในลักษณะโครงการขนาดใหญ่จากแหล่งทุนต่างๆ พร้อมทั้งปรับกระบวนการบริหารภายใน โดยเฉพาะการปรับกลไกการสนับสนุนกระบวนการบริหารงานวิจัยให้เกิดความคล่องตัว เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว