9 ตุลาคม 2566
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นำโดย ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส หัวหน้าทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร และทีมวิจัย ร่วมต้อนรับคณะจากบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และนำเสนอผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์อาหาร พร้อมหารือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันในอนาคต
ห้องปฏิบัติการวัสดุศาสตร์อาหาร มีขีดความสามารถ ในการพัฒนาสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและปรับคุณภาพเนื้อสัมผัสของอาหาร และตัวปรับคุณภาพเนื้อสัมผัสอาหาร โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวัสดุศาสตร์ ได้แก่ สมบัติรีโอโลยีที่เกี่ยวข้องกับการไหลและการเสียรูป สมบัติวิสโคอิลาสติก (ความหยุ่นหนืด) และสมบัติไตรโบโลยี (การไหลลื่น) ตลอดจนการทดสอบชีวพร้อมใช้ (Bioavailability) และการนำไปใช้ทางชีวภาพ (Bioaccessibility) ของสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่หรือสารอาหาร เมื่อผ่านกระบวนการบดเคี้ยว–กลืนอาหารในช่องปาก การย่อย และการขับถ่าย โดยใช้ระบบจำลอง
อีกทั้งยังมีลักษณะการให้บริการวิจัยพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ การวิเคราะห์ทดสอบ ให้คำปรึกษาด้านวัสดุและวัสดุอาหาร การทดลองแปรรูปวัตถุดิบอาหารและขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์สกรูคู่ และบริการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านวัสดุอาหาร https://www.mtec.or.th/apt-research-group/fom-team/
ตัวอย่างผลงานพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่
- เพคติน สารปรับความหนืดและสารก่อเจลจากเปลือกส้มโอ
- ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
- Ve-chick เนื้อไก่จากโปรตีนพืช
- ผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะบุคคล
- ขนมปัง ครัวซอง และเส้นบะหมี่ปราศจากกลูเตนที่ผลิตจากฟลาวมันสำปะหลัง หรือฟลาวข้าวเจ้า
- อาหารให้พลังงานสูงแบบแท่ง และอาหารให้พลังงานเร็วแบบเจลสำหรับพกพา
- หมูที่มีความนุ่มระดับ 2 และ 3 ตามมาตรฐาน Universal Design Food ของประเทศญี่ปุ่น สำหรับเมนูอาหารผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวการณ์เคี้ยวและการกลืนลำบาก เป็นต้น