สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
การดูแลสุขอนามัยของผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น การสระผมเป็นกิจวัตรหนึ่งที่ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องทำให้ผู้ป่วยเป็นประจำ แต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเตียงเพื่อเข้าห้องน้ำสระผมนั้นทำได้ลำบาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ติดตามร่างกาย ด้วยเหตุนี้ผู้ดูแลจึงมักสระผมให้แก่ผู้ป่วยที่เตียงซึ่งเป็นภารกิจที่ทำได้ไม่สะดวกนัก อีกทั้งหากต้องดูแลผู้ป่วยหลายรายก็อาจส่งผลเสียต่อผู้ดูแลได้ เช่น เกิดการปวดเมื่อยและปวดหลังจากการยกน้ำเพื่อใช้สระผม เป็นต้น
การสระผมผู้ป่วยติดเตียง…ไม่ใช่เรื่องง่าย
สถาบันประสาทวิทยามีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง และระบบประสาทที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งผู้ดูแลจำเป็นต้องช่วยเหลือด้านสุขอนามัยให้แก่ผู้ป่วยเหล่านี้ การสระผมเป็นกิจวัตรหนึ่งของผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง สถาบันฯ จึงเริ่มพัฒนารถเข็นสระผมตั้งแต่ปี 2551 เพื่อใช้แทนวิธีการสระผมแบบดั้งเดิมที่ใช้ผ้ายางกับถังน้ำ โดยใช้รถเข็น 2 คันคือ รถสระผม และรถขนน้ำ รถสระผมจะประกอบด้วยอ่างสระผมและภาชนะรองรับน้ำทิ้ง ส่วนรถขนน้ำจะใช้วางภาชนะใส่น้ำและมีขันเป็นอุปกรณ์ตักน้ำ ทั้งนี้การใช้รถถึง 2 คันทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการทำงานมาก ส่วนขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ ผู้ดูแลต้องเตรียมน้ำใส่ภาชนะและยกวางบนรถเข็น ซึ่งการขนน้ำอาจก่อให้เกิดการปวดหลัง ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มอันเนื่องมาจากน้ำหกเลอะตามทางเดินได้
ส่วนขั้นตอนการสระผมต้องใช้ผู้ดูแล 2 คน คนแรกทำหน้าที่สระผม โดยมือข้างหนึ่งใช้รองศีรษะผู้ป่วยตลอดเวลา ส่วนมืออีกข้างใช้สระผม คนที่ 2 ทำหน้าที่ตักน้ำชำระล้าง ซึ่งผู้ดูแลผู้ป่วยของสถาบันประสาทวิทยาได้ยึดปฏิบัติตามวิธีที่ว่ามานี้เรื่อยมาจนกระทั่งต้นปี 2562
การพัฒนารถเข็นสระผม “Kathy” รุ่น 1
นายแพทย์วุฒิพงษ์ ฐิรโฆไท และคณะ จากสถาบันประสาทวิทยาได้ร่วมกับ ดร.ฉัตรชัย จันทร์เด่นดวง และคณะ จากทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค พัฒนารถเข็นสระผมสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น
ดร.ฉัตรชัย กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือว่า “ตอนปลายปี 2561 นายแพทย์วุฒิพงษ์ ได้เล่าปัญหาเรื่องการสระผมผู้ป่วยติดเตียงที่ผู้ดูแลผู้ป่วยประสบ ดังนั้น ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้ศึกษากระบวนการทำงานในสถานที่จริง รวมถึงรับฟังความต้องการของผู้ดูแลที่ต้องใช้อุปกรณ์เป็นประจำ เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด”
ข้อมูลความต้องการของผู้ใช้งานมีดังนี้
พัฒนาอุปกรณ์ทุกอย่างให้อยู่ภายในรถเข็นคันเดียว เพื่อลดทั้งพื้นที่การทำงานและจำนวนผู้ปฏิบัติงาน
ทำความสะอาดได้ง่ายด้วยน้ำร้อน
ปรับระดับสูง-ต่ำของรถได้ตามความสูงของเตียงผู้ป่วย
มีระบบถังน้ำดีและน้ำเสียที่เติมน้ำได้สะดวกและเทน้ำทิ้งได้ง่าย โดยไม่ต้องออกแรงยก
มีถังน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้เพียงพอต่อการสระ 1 คน
มีแผ่นรองศีรษะผู้ป่วย เพื่อให้สามารถใช้มือทั้ง 2 ข้างสระผมได้
มีไดร์เป่าผม แต่ต้องไม่ใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด
เข็นรถข้ามขอบพื้นประตูได้ง่าย
ดร. ฉัตรชัย เล่าถึงขั้นตอนการออกแบบว่า “เมื่อได้ข้อมูลความต้องการมาแล้ว เราก็ต้องพิจารณาถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นว่ามีอะไรบ้าง เช่น ถังน้ำดี-น้ำเสีย อ่างสระผม แบตเตอรี่ ปั๊มน้ำ ฝักบัว ไดร์เป่าผม และอุปกรณ์เหล่านี้ควรเป็นวัสดุชนิดใด มีขนาดเท่าไหร่ เช่น อ่างสระผมควรเป็นสเตนเลส เพื่อจะได้ไม่เป็นสนิมและทนต่อการทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน หรือปั๊มไม่ควรมีสียงดัง และให้ความแรงของน้ำที่เหมาะสมต่อการใช้งาน แบตเตอรี่ควรมีขนาด 12 โวลต์ มีขนาดเล็ก และสามารถชาร์จได้ ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นเมื่อนำมาประกอบกันแล้วต้องสามารถทำงานร่วมกันได้ อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ต้องหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาดด้วย”
“ส่วนกระบวนการประกอบเป็นรถเข็นก็ต้องเลือกวิธีที่ทีมวิจัยสามารถทำได้เอง เพื่อให้ปรับเปลี่ยนได้สะดวกระหว่างขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งทีมได้เลือกวัสดุสำหรับทำโครงสร้างรถเป็นอะลูมิเนียมโปรไฟล์เพราะมีข้อดีคือ ตัดและประกอบเข้ากันได้ด้วยน็อตและอุปกรณ์ยึดที่สอดตามร่องของโครงอะลูมิเนียมโปรไฟล์ การใช้วิธีนี้นอกจากจะถอดและประกอบได้ง่ายแล้ว ตัวโครงสร้างของรถยังแข็งแรงอีกด้วย ทีมวิจัยสามารถส่งมอบรถเข็นสระผมรุ่นที่ 1 ให้แก่สถาบันประสาทวิทยาเพื่อทดลองใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2562”
รถเข็นสระผมรุ่นที่ 1
ติดตามปัญหาเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่ดีขึ้น
กำเนิด Kathy รุ่น 1 ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม
หลังจากที่ได้ส่งมอบรถเข็นสระผม Kathy รุ่น 1 ให้แก่สถาบันประสาทวิทยาเพื่อทดลองใช้งานแล้ว ทีมวิจัยฯ ได้ติดตามปัญหาการใช้งานทุกเดือน โดยผู้ใช้ได้รายงานปัญหาที่พบ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงให้ดีขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นมีดังนี้
การเข็นรถข้ามขอบประตูค่อนข้างลำบาก เนื่องจากล้อมีขนาดเล็กไป
โครงสร้างอ่างสระผมสไลด์ออกจากตำแหน่งยึด
ท่อซิลิโคนวัดระดับน้ำในถังน้ำดีฉีกขาด
ดร.ฉัตรชัยเล่าวิธีแก้ปัญหาว่า “รถเข็นรุ่นแรก เราใช้ล้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้วทำให้เข็นข้ามขอบประตูยาก เราจึงเปลี่ยนล้อเป็นขนาด 3 นิ้ว และ 4 นิ้ว ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการใช้ล้อขนาดใหญ่จะทำให้รถสูงขึ้นตาม และส่งผลต่ออุปกรณ์อื่นๆ ตามมา เช่น ถังเก็บน้ำ และตัวปรับระดับความสูงซึ่งเป็นข้อจำกัด ทำให้เราต้องลดขนาดความสูงของอ่างสระผมลง ส่วนปัญหาโครงสร้างอ่างสระผมสไลด์ออกจากตำแหน่งยึด เกิดจากการที่เราต่อมือจับที่ค่อนข้างยาวเข้ากับโครงสร้างของรถด้านบน เมื่อเวลาเข็นรถข้ามขอบประตูต้องยกรถทำให้โครงสร้างด้านบนและด้านล่างเกิดการเหลื่อมกัน เราจึงปรับโครงสร้างมือจับรถเข็นใหม่โดยเสริมคานและยึดมือจับกับโครงสร้างด้านล่างเพื่อถ่ายแรงลงไปที่ฐานล่าง สำหรับปัญหาเรื่องท่อซิลิโคนวัดระดับน้ำในถังน้ำดีฉีกขาด เราเปลี่ยนท่อซิลิโคนเป็นท่อพีวีซีใสเพื่อให้ทนมากขึ้น”
รถเข็นสระผมรุ่นที่ 1 ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม
กำเนิดรุ่น 2
ทีมวิจัยคอยติดตามปัญหาที่เกิดจากการใช้งานรถเข็นสระผมรุ่น 1 ที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับข้อเสนอแนะกลับมาปรับปรุงเป็นรุ่นที่ 2 ต่อไป ปัญหาที่ยังพบในรุ่น 1 ที่มีการปรับปรุงแล้ว เช่น รถเข็นมีน้ำหนักค่อนข้างมากทำให้ต้องออกแรงเข็นมาก ระบบเติมน้ำไม่มีสัญญาณเตือนระดับน้ำในถัง และแบตเตอรี่ไม่มีตัววัดปริมาณไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงเริ่มพัฒนารถเข็นสระผม Kathy รุ่นที่ 2
ดร.ฉัตรชัย เล่าถึงแนวทางการปรับปรุงรถเข็นสระผมรุ่นที่ 2 ว่า “เราแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนักรถด้วยการเปลี่ยนอะลูมิเนียมโปรไฟล์จากเดิมที่เป็นสี่เหลี่ยมมาเป็นแบบกลม ทำให้น้ำหนักโครงสร้างตัวรถลดลงครึ่งหนึ่ง ทำแขนจับรถเข็นให้สั้นลง รวมถึงลดขนาดถังบรรจุน้ำจากเดิม 20 ลิตรเหลือ 10 ลิตร ปรับระบบเติมน้ำใหม่ให้ทำงานได้สะดวกขึ้น โดยติดข้อต่อสวมเร็วที่ฝาถังน้ำดี และติดตั้งไฟวัดระดับน้ำในถังเพื่อแจ้งเตือนระดับน้ำ เพิ่มตัววัดกำลังไฟแบตเตอรี่พร้อมช่องเสียบ USB และเต้าเสียบรถยนต์ 12 โวลต์ เพื่อใช้กับไดร์เป่าผมแบบพกพาได้”
“นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น ปรับที่รองศีรษะให้มีความลาดลงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ศีรษะสูงเกินไป ออกแบบที่แขวนฝักบัวให้เหมาะกับผู้ใช้งานทั้งคนถนัดมือซ้ายและมือขวา และปรับลดขนาดอ่างสระผมเพื่อให้ตัวรถเล็กมีขนาดเล็กลงทำให้สามารถใช้งานในที่แคบได้” ดร.ฉัตรชัย กล่าวเสริม
เมื่อพัฒนารถเข็นสระผมรุ่นที่ 2 ได้สำเร็จ ทีมวิจัยได้ส่งมอบแก่สถาบันประสาทวิทยา รวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อนำไปทดสอบการใช้งานต่อไป
รถเข็นสระผมรุ่นที่ 2
ภายหลังจากที่ได้ส่งมอบให้โรงพยาบาลหลายแห่งช่วยทดสอบ ทำให้ทีมวิจัยได้รับข้อเสนอแนะเพิ่มเติม และได้นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมระบบเพื่อให้ใช้งานสระผมได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มเติมระบบตัดน้ำอัตโนมัติเมื่อเติมน้ำเต็มถัง ระบบตัดการทำงานของปั๊มน้ำเมื่อน้ำหมดถังหรือน้ำทิ้งใกล้ล้นออกจากถัง ระบบไฟแจ้งเตือนให้ถ่ายน้ำทิ้งก่อนใช้งานและไฟแจ้งเตือนว่าน้ำหมดถัง รวมทั้งเตรียมช่องเสียบสำหรับใช้อะแดปเตอร์ 12 โวลต์ 20 แอมป์ต่อตรงเข้ากับตัวรถเพื่อให้ใช้งานได้ในกรณีที่แบตเตอรี่หมดระหว่างการใช้งาน ซึ่งโดยรวมเป็นการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยและการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
แผนการพัฒนาในอนาคต
ดร.ฉัตรชัย จันทร์เด่นดวง
เครดิตภาพ: กฤษณ คูหาจิต
ดร.ฉัตรชัย เผยถึงแผนการพัฒนาต่อไปว่า “สำหรับรถเข็นสระผมรุ่นที่ 2 ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่องระบบตัดน้ำเองได้เพื่อแก้ปัญหาน้ำล้น และมีช่องเสียบอะแดปเตอร์สำหรับเสียบกับปลั๊กไฟโดยตรงในกรณีที่แบตเตอรี่หมด จะมีการนำไปทดสอบในโรงพยาบาลต่อไป เพื่อเก็บข้อมูลและปัญหาในการใช้งาน แล้วนำมาปรับปรุงให้เป็นที่พอใจแก่ผู้ใช้งานมากที่สุด ส่วนรถเข็นสระผมรุ่นใหม่ทีมตั้งใจจะพัฒนาให้อ่างสระผมแยกออกจากตัวรถ ดังนั้น บนรถเข็นจะมีเพียงถังน้ำดี-น้ำเสีย หัวฉีดชำระ ปั๊มน้ำ และแบตเตอรี่ ส่วนอ่างสระผมสามารถวางบนเตียงผู้ป่วยได้เลย แล้วต่อท่อน้ำเสียให้ไหลกลับมาที่รถเข็น ซึ่งการออกแบบลักษณะนี้ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสระผมบนเตียงได้โดยที่ไม่ต้องขยับศีรษะมาที่อ่างที่ติดตั้งบนรถเข็น ลดปัญหาเรื่องความสูงของเตียงผู้ป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละสถานที่ได้ ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้ทั้งที่บ้าน โรงพยาบาล แคมป์ รวมทั้งค่ายของแพทย์อาสาหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)”
สถานภาพรถเข็นสระผม
ปัจจุบันเทคโนโลยีรถเข็นสระผมได้ถูกถ่ายทอดไปยังบริษัท มหานครมิทอล จำกัด แล้ว ทั้งนี้แผนการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการส่งทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งานว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งไม่รบกวนการทำงานของเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ที่ติดกับตัวผู้ป่วยด้วย
สนใจรายละเอียดงานวิจัยติดต่อ
สุนทรีย์ โฆษิตชัยยงค์
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4783
อีเมล: soontaree.kos@mtec.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร. ฉัตรชัย จันทร์เด่นดวง นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)