คุณชนัตถ์ ตันติวัฒน์พานิช ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เคนไซ ซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
บริษัท เคนไซ ซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 ในชื่อบริษัท พิมานเซรามิคส์ จำกัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เคนไซซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้านกระเบื้องพื้นและผนังสำหรับการใช้งานทั้งภายในและภายนอก นับเป็นบริษัทแรกของประเทศที่เป็นผู้ผลิตกระเบื้องตกแต่งใช้งานภายนอก บริษัทฯ ได้แรงบันดาลใจจากความงดงามของหินธรรมชาติที่นำมาใช้ตกแต่งบ้านและอาคารสถานที่ จึงนำมาประยุกต์ ออกแบบ และพัฒนากระเบื้องเซรามิกที่มีรูปลักษณ์เสมือนวัสดุธรรมชาติเหล่านั้น แต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งทนทานของกระเบื้องเซรามิก
คุณชนัตถ์ ตันติวัฒน์พานิช ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ เล่าถึงนิยามความเป็นธรรมชาติสำหรับบริษัทฯ ไว้ว่า “เป็นความไม่สมบูรณ์แบบ และไม่คงทนถาวร แต่ด้วยการผสานเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศญี่ปุ่นและอิตาลี ซึ่งนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผสมผสานเข้ากับกรรมวิธีการผลิตอันทันสมัย ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเคนไซยังคงความเป็นธรรมชาติที่แข็งแรงทนทานเหนือกาลเวลา ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ จึงได้รับความไว้วางใจ และได้รับการเลือกสรรในการใช้งานโดยหน่วยงานชั้นนำของภาครัฐและเอกชนมานานกว่า 40 ปี”
“ตลอดสี่ทศวรรษบริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์และนโยบายที่มุ่งเน้นการใช้กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นธรรมชาติ และคงทน เพื่อตอบสนองความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า ในปี พ.ศ. 2540 บริษัทฯ ได้รับการรับรองคุณภาพการจัดการ ISO 9001 และถัดมาอีกเพียง 2 ปี ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ก็ผ่านการรับรองมาตรฐาน ASTM และ EN 87 ซึ่งเป็นมาตรฐานของกระเบื้องเซรามิกสำหรับพื้นและผนังที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ส่งผลให้การส่งออกของบริษัทฯ ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคอาเซียน ไม่เพียงเท่านั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ยังยกระดับไปอีกขั้นสู่การคว้ารางวัลในระดับโลกมากมาย เช่น Good Design Award, Golden Pin Design Award, และ Design Excellence Award (Demark)”
คุณชนัตถ์กล่าวถึงพัฒนาการที่สำคัญคือ “บริษัทฯ ได้ก้าวข้ามกรอบความคิดเดิม คือไม่เฉพาะแต่มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของผลิตภัณฑ์ กล่าวคือบริษัทฯ มุ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต ลดของเสีย และคงคุณค่าของทรัพยากรให้ได้มากที่สุด ดังนั้นบริษัทฯ จึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) ซึ่งเป็นการแนวทางจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง และถือเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดให้น้อยที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มสัดส่วนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รักษาคุณค่าของทรัพยากรในระบบและหมุนเวียนใช้ให้นานที่สุด ตลอดจนลดการปลดปล่อยของเสียออกจากระบบให้น้อยที่สุด เพื่อก่อให้เกิดรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน”
บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การประยุกต์ใช้แนวทาง Design for Circular Economy ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม และมีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นที่ปรึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีการประยุกต์หลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการออกแบบ
เอ็มเทคได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของกลุ่มวิจัย ผนวกกับการใช้กลไกเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของเอ็มเทคที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการ โดยถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องในรูปแบบการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกผ่านการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบการใช้งาน การจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว ตามหลักคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน
คุณชนัตถ์เล่าด้วยความภาคภูมิใจเกี่ยวกับการที่บริษัทฯ เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการต้นแบบที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวว่า “โจทย์สำคัญของบริษัทฯ คือ ต้องการใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษกระเบื้องเหลือทิ้งภายในโรงงาน จำนวนมากกว่า 500 ตันที่เป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน บริษัทฯจึงได้ร่วมกับทีมวิจัยเอ็มเทคในการวิเคราะห์ปัญหา โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้และหมุนเวียนทรัพยากรในระบบของโรงงาน เพื่อออกแบบกระบวนการใหม่ที่มุ่งใช้ทรัพยากรและพลังงานให้น้อยที่สุด อันนำมาสู่แนวคิดการออกแบบการผลิตอิฐบล็อกช่องลม ที่ลดการพึ่งพาวัตถุดิบปฐมภูมิหรือทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบทุติยภูมิ ลดการใช้พลังงาน และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่”
“บริษัทฯ สามารถใช้เศษเซรามิกมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้ ที่สำคัญคือใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ต้องเผา ทำให้ช่วยลดการใช้พลังงานและต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก ที่สำคัญกระบวนการที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ยังสามารถนำกระเบื้องเหลือทิ้งกลับมารีไซเคิลใช้ได้ทั้งหมด ซึ่งผลการประเมินสมดุลการไหลของวัสดุ (Mass Balance) พบว่าแทบไม่มีของเสียเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเลย ยิ่งไปกว่านั้นจากการทดสอบสมบัติ เช่น กำลังรับแรงอัด การดูดซึมน้ำ และความหนาแน่น พบว่าต้นแบบอิฐบล็อกช่องลมที่ได้จากเศษเซรามิกนั้นมีสมบัติใกล้เคียงกับอิฐบล็อกช่องลมทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาดอีกด้วย”
สำหรับสิ่งที่คาดหวังในอนาคต คุณชนัตถ์ตอบอย่างหนักแน่นว่า “บริษัทฯ มีเป้าหมายสู่การเป็นโรงงาน Zero Waste และวาดฝันถึงการขยายผลแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนสร้างผลสัมฤทธิ์ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง บริษัทฯ จึงไม่จบเพียงแค่การนำของเสียทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ (zero waste to landfill) โดยละเลยการบริหารจัดการและตั้งใจปล่อยให้เกิดของเสียขึ้นในกระบวนการผลิต เพียงเพื่อหวังผลการใช้ประโยชน์จากของเสียเหล่านั้น”
“การที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการและร่วมสะท้อนการประยุกต์ใช้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน อันได้แก่ การคิดเชิงระบบ (system thinking) การสร้างคุณค่า (value creation) และการคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากร (resource availability) ช่วยให้บริษัทฯ ได้เรียนรู้กระบวนการและตกผลึกความคิด จนสามารถมองภาพใหญ่ได้กว้างและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น”
“ปัจจุบันหลังจากที่บริษัทฯ ประสบผลสำเร็จจากโครงการจนทำให้สามารถหมุนเวียนของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการมาใช้ประโยชน์ได้ บริษัทฯ จึงขยายขอบเขตระบบนิเวศ (ecosystem) ไปสู่การนำเศษเซรามิกหรือของเสียจากบริษัทอื่น ทั้งตามห่วงโซ่อุปทาน และจากกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเซรามิกด้วยกันมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งนับเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน สามารถนำไปขยายผลต่อในวงกว้างได้ นับเป็นเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่เราจะเกื้อกูลร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งต่อแนวคิดและได้ร่วมลงมือทำไปด้วยกัน ในยุคที่ความยั่งยืนหรือความสมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกอีกต่อไป”