เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567
ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
เอ็มเทค สวทช. ได้จัดกิจกรรม Special Talk ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจทางด้านพฤติกรรมของวัสดุที่มีลักษณะเฉพาะผ่าน Phase Diagrams ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Prof.Sinn-Wen Chen, Chair Professor จาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติฉิงหัว ไต้หวัน (National Tsing Hua University) มาเป็นวิทยากรบรรยาย
โดยในช่วงแรก Prof.Sinn-Wen Chen ได้เข้าร่วมประชุมหารือความร่วมมือทางด้านวิชาการในนาม Principal Investigator ของหน่วยงาน Taiwan-Thailand Innovation Center for Clean Water and Sustainable Energy (WISE) ร่วมกับ รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร. ชัญชณา ธนชยานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการวางแผนความร่วมมือส่งเสริมกิจกรรมทางด้าน Advancing Clean Water and Sustainable Energy Technologies within the Mekong River basin รวมถึงความร่วมมือทางด้านการส่งข้อเสนอโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ และโครงการต่างๆภายใต้ Theme “Clean Water and Sustainable Energy Technologies” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัยรุ่นเยาว์ และ ขยายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากไต้หวันและนักวิจัยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มุ่งเน้นการดำเนินโครงการเกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพของผู้ที่มีความสามารถในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีระดับสากล และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ต่อมาได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยของทีมวิจัยสารอันตรายจากวัสดุ โดย ดร.เสมอแข จงธรรมานุรักษ์ หัวหน้าทีมวิจัยสารอันตรายจากวัสดุได้นำชมห้องปฏิบัติการวิจัยฯ ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษอุบัติใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดจากของเสียอันตราย ลดการปลดปล่อยมลภาวะ และ ตอบสนองความต้องการวัสดุรักษ์สิ่งแวดล้อม
และได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Sensitive Laboratory โดย ดร.บราลี ชยสมบัติ นักวิจัยหน่วยสิ่งแวดล้อม และผู้จัดการงานจุลทรรศน์และจุลวิเคราะห์ ฝ่ายสนับสนุนเทคนิคด้านวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของวัสดุ ได้บรรยายเทคนิค scanning electron microscopy (SEM), transmission electron microscopy (TEM) และ X-ray Computed Tomography (XCT) โดย SEM และ TEM เป็นเทคนิคที่ใช้ศึกษาโครงสร้างจุลภาคของวัสดุที่สนใจศึกษา ในระดับนาโนเมตรไปจนถึงไมโครเมตร ส่วนเทคนิค XCT ใช้ในการศึกษาโครงสร้างสามมิติของวัสดุในระดับไมโครเมตรขึ้นไป โดยอาศัยการทะลุผ่านของรังสีเอกซ์ที่มุมต่างๆ และนำมาสร้างเป็นข้อมูลโครงสร้าง 3 มิติ ข้อมูลจากเทคนิคนี้ทำให้ทราบโครงสร้างภายนอกและภายในของวัสดุ โดยไม่ต้องทำการทำลายชิ้นงาน (Non-destructive testing) อุตสาหกรรมที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ยานยนต์ พลาสติกและโลหะ เกษตรและอาหาร เซรามิกและวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมบรรยายในหัวข้อ Understanding Peculiar Material Behaviors through Phase Diagrams ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนทั้งสิ้น 43 คน แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมผ่านทาง online โปรแกรม Webex จำนวน 25 คน และผู้เข้าร่วมฟัง ณ ห้องประชุม M120 จำนวน จำนวน 18 คน โดยหัวข้อบรรยายได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมรับฟัง มีการซักถามในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับ พฤติกรรมของวัสดุที่มีลักษณะเฉพาะผ่าน Phase Diagrams สำหรับนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในการศึกษา วิจัยในอนาคตของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี