วันที่ 8 ก.พ. 2567 ณ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง: ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางการวิเคราะห์องค์ประกอบเคมีของถ่านหินอย่างรวดเร็วในกระบวนการลำเลียงถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะสู่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 14 โดยมี ดร.ศรชล โยริยะ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง (เอ็มเทค) เป็นหัวหน้าโครงการ นำร่องโครงการในเฟสที่ 1 สามารถตรวจสอบคุณภาพของถ่านหินได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 15 นาที ลดลงจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 7-9 วัน จากการใช้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเรียกว่า “Coal Scan Technology”
ขอขอบคุณภาพข่าวจาก EGAT NEWS
https://shorturl.asia/tRzw4
ผลลัพธ์จากโครงการในเฟสที่ 1 ช่วยลดความสูญเสียให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 ในปี 2566 ได้อย่างมากช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากความเสียหายของหม้อไอน้ำ ด้วยการนำความรู้จากการวิจัยมาใช้ในการควบคุมกระบวนการเผาไหม้ให้สอดคล้องกับคุณภาพของถ่านหิน ช่วยให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และป้องกันการสะสมของตะกรัน (Slag)
โครงการนี้ไม่เพียงแต่สามารถป้องกันปัญหาในโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 14 เท่านั้น แต่ยังมีผลลัพธ์ที่สามารถนำไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในการสร้างระบบการเตรียมตัวอย่างถ่านหินอัตโนมัติ และระบบตรวจวัดองค์ประกอบถ่านหินออนไลน์แบบอัตโนมัติ (Automatic Online Coal Scan System) ที่จะทำให้ทราบค่าแคลเซียมออกไซด์ในถ่านหินแบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสามารถขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ ได้อีกด้วย และจากผลลัพธ์ที่ได้ในโครงการวิจัยเฟสที่ 1 ได้รับความเชื่อมั่นจาก กฟผ. สนับสนุนงบประมาณโครงการ ให้ดำเนินการวิจัยต่อยอดในเฟส 2 ในปี 2567 ภายใต้โครงการ “การวิจัยต้นแบบระบบตรวจวัดองค์ประกอบของถ่านหินออนไลน์แบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยี ED-XRF และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความแม่นยำในการตรวจวัดภายใต้สภาวะแวดล้อมการทำงานจริง”