สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า (LIDAST) สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ครั้งที่ 3 (The third session of the Intergovernmental Negotiating Committee to develop an international legally binding instrument on plastic pollution, including in the marine environment, INC-3) ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา มีภารกิจหลักคือการสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ความเห็นทางวิชาการในการเจรจาเกี่ยวกับมลพิษของพลาสติกตลอดวัฏจักรชีวิต แก่ผู้แทนหลักจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สูงสุดคืนสู่สามัญ
พลาสติกแทบทั้งหมดเป็นวัสดุที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นสำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ของใช้ หรือเครื่องมือต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์พลาสติกจัดเป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอนที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง ประกอบด้วยโมเลกุลซ้ำๆ ต่อกันเป็นโมเลกุลสายยาว มีธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน นอกจากนี้ยังอาจมีธาตุอื่นๆ เป็นองค์ประกอบย่อย เช่น ไนโตรเจน ฟลูออรีน คลอรีน และกำมะถัน เป็นต้น
ปัจจุบันพลาสติกได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่ามีพลาสติกอยู่ทุกที่ที่เรามองออกไป คำกล่าวนี้ไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด เพราะเราพบพลาสติกแม้กระทั่งสถานที่ที่ใกล้จุดที่สูงที่สุดของโลกอย่างยอดเขาเอเวอเรสต์ (Mount Everest) หรือใกล้จุดที่ต่ำที่สุดของโลกอย่างร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana trench) หรือกล่าวให้ถูกต้องคือเราพบ “ขยะพลาสติก” หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดที่ทุกประเทศเผชิญและต้องร่วมมือกันจัดการ
เหตุที่พลาสติกซึ่งมีคุณอนันต์กลับมีโทษมหันต์จนกลายเป็นปัญหาระดับโลกเช่นนี้ ก็เพราะว่าพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเหมือนขยะอินทรีย์ แต่พลาสติกอาจแตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก (microplastics) และ นาโนพลาสติก (nanoplastics) ซึ่งมีสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก ทั้งยังมีขนาดเล็กมากทำให้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จัดเก็บและกำจัดได้ยาก จึงส่งผลกระทบด้านลบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล (marine environment) รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งร่างกายของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์อีกด้วย
ข้อมูลของสำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Environment Program (UNEP) ระบุว่าขยะพลาสติกคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 85 ของขยะทางทะเล (marine waste) ทั้งหมด ขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมบนบกและชายฝั่ง และส่วนที่เหลือเกิดจากกิจกรรมทางทะเลเอง รวมทั้งการพัดพาตามธรรมชาติทั้งลม คลื่นทะเล หรือฝน หากยังไม่มีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้วคาดว่าปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ท้องมหาสมุทรซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 11 ล้านตันต่อปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในอีกระยะเวลาราว 20 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะพลาสติกมหาศาลขนาดนี้มีน้ำหนักเทียบเท่ากับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Symphony of the Seas ถึง 178 ลำทีเดียว ที่สำคัญคือ ประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่สร้างขยะพลาสติกในปริมาณมากที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น ขยะทางทะเลจึงได้รับการยกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในการจัดการขยะอันเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม
มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.จิตติ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ นับจากวิกฤตปัญหาข้างต้นจนนำมาสู่การพัฒนาสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) โดยกล่าวว่าหมุดหมายสำคัญเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2565 ที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA-5.2) ได้มีมติครั้งประวัติศาสตร์ในการรับรองญัตติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติก และนับเป็นก้าวแรกของกระบวนการเพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee : INC) ในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล
คณะกรรมดังกล่าวมีผู้แทนจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเข้าร่วม มีพันธกิจคือการพัฒนาเครื่องมือจัดการมลพิษพลาสติก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทางแบบองค์รวมครอบคลุมวัฏจักรชีวิต (life cycle) ทั้งหมดของพลาสติกตั้งแต่การผลิต การใช้ และการกำจัดขยะพลาสติก ดร.จิตติกล่าวว่าการประชุมเจรจามีทั้งหมด 5 ครั้ง โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 ก่อนเสนอเพื่อรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุมผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งหากสำเร็จตามแผนที่วางไว้จริงก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในการพัฒนาสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา
จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 มีการประชุมเจรจาไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก (INC-1) ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่เมืองปุนตา เด เลสเต (Punta del Este) สาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย ครั้งที่ 2 (INC-2) ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และครั้งล่าสุด (INC-3) ระหว่างวันที่ 13 ถึง 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติอีกด้วย ในครั้งที่ 3 นี้เองที่ ดร.จิตติได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมพร้อมกับผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผู้แทนหลักในการเจรจาของประเทศไทย
ดร.จิตติกล่าวถึงการประชุมเจรจาอีก 2 ครั้งตามกำหนดการ นั่นคือ ครั้งที่ 4 (INC-4) ระหว่างวันที่ 21 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2567 ที่กรุงออตตาวา สมาพันธ์รัฐแคนาดา และครั้งสุดท้าย (INC-5) ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่เมืองปูซาน (Busan) สาธารณรัฐเกาหลี ว่าเขาจะยังคงเข้าร่วมการประชุมทั้งสองครั้งเพื่อสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ความเห็นทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในการเจรจาและการกำหนดแนวทางท่าทีของประเทศไทย
ทั้งนี้ ดร.จิตติ ได้ขยายความเกี่ยวกับการออกแผนแม่บท (roadmap) ของทาง UNEP ตามรายงานที่ชื่อว่า “Turning off the Tap: How the world can end plastic pollution and create a circular economy” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ว่าแผนแม่บทนี้วางกรอบแนวทางการดำเนินการและเป้าหมายในการลดปัญหามลพิษพลาสติกลงให้ได้ 80% ภายในปี พ.ศ. 2583 และเพื่อเร่งแก้ไขวิกฤตมลพิษจากพลาสติกให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสัมฤทธิ์ผล แผนแม่บทจึงประยุกต์หลักแนวทางหมุนเวียน (circular approach) ผ่านการนำเสนอเป็นภาพเหตุการณ์ (scenario) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Systems change scenario (SC scenario)
แนวทางผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตาม SC scenario เพื่อแก้ไขมลพิษพลาสติกประกอบด้วยการลดละเลิกพลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหาและไม่จำเป็น (problematic and unnecessary plastics) เช่น ลดการใช้พลาสติกที่มีวงจรชีวิตสั้น (short-lived plastics) ที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์และสินค้าบริโภค ซึ่งเบื้องต้นกำหนดนิยามให้มีวงจรอายุการใช้งานที่สั้นราว 0.5 และ 3 ปีตามลำดับ โดยให้หันมาใช้พลาสติกประเภททนทาน (durable plastics) ที่ให้สมบัติเชิงกลด้านความต้านทาน (resistance) ที่ดีและมีวงจรอายุการใช้งานยาวนานขึ้นแทน
นอกจากนี้ยังต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในตลาด (market shift) ซึ่งประกอบด้วย
• เร่งการใช้ซ้ำ (reuse)
• เร่งการแปรใช้ใหม่ (recycle)
• เร่งการปรับเปลี่ยนการใช้และหาวัสดุทางเลือกทดแทน (reorient and diversify)
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดโลกใหม่ของเศรษฐกิจพลาสติกภายในปี พ.ศ. 2583 UNEP ยังได้เสนอการขยายกรอบแนวทางปฏิบัติเชิงบูรณาการเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมถึงการจัดการกับขยะพลาสติกที่มีอยู่เดิม (Legacy plastic) ที่ไม่สามารถทั้งนำมาใช้ซ้ำหรือแปรใช้ใหม่ได้ ตลอดจนพลาสติกที่ตกค้างอยู่เดิมที่ก่อให้เกิดมลภาวะในระบบนิเวศอีกด้วย
บทสรุปการเจรจาครั้งที่ 3
สำหรับการประชุมครั้งที่ 3 นี้ ดร.จิตติกล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการพิจารณาร่างเอกสารฉบับแรก หรือที่เรียกกันว่า Zero draft โดยในภาพรวมพบว่าหลายประเทศสนับสนุนการพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติก และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีบางประเทศที่แสดงความกังวลหรือไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นส่วนต้นน้ำ (Upstream) ของวัฏจักรชีวิต ซึ่งจะกระทบประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตโพลิเมอร์พลาสติกปฐมภูมิ (Primary plastic polymers) ทั้งนี้การเรียกร้องให้มีระดับการผลิตและจัดหาโพลิเมอร์พลาสติกปฐมภูมิไม่ให้เกินเป้าหมายการลดที่กำหนดไว้ จึงถูกมองว่าไม่เพียงส่งผลเสียโดยตรงต่อรายได้ของอุตสาหกรรมการผลิต แต่ยังเป็นการเพิ่มภาระในเชิงต้นทุนจากการส่งเสริมการใช้พลาสติกทุติยภูมิ เพราะด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีจึงทำให้มีต้นทุนการผลิตโดยใช้พสาสติกทุติยภูมิสูงกว่าการใช้พลาสติกปฐมภูมิ นอกจากนี้บางประเทศยังมองว่าข้อเสนอใน Zero draft เป็นการขัดกับอธิปไตยที่พึงมีของแต่ละรัฐในการแสวงหาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของตนเอง หรือกรณีข้อเรียกร้องเรื่องการห้ามและเลิกใช้พลาสติกที่มีวงจรชีวิตสั้นและพลาสติกใช้ครั้งเดียว ซึ่งหลายประเทศเห็นว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน จึงควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนอีกครั้ง
สำหรับประเด็นเรียกร้องอื่นๆ เช่น การสนับสนุนมาตรการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม สร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้งานวัสดุทดแทนที่ไม่ใช่พลาสติก (Non-plastic substitutes) การส่งเสริมวิธีการดำเนินการสำหรับระบบการจัดการขยะ (Waste management) การจัดทำกรอบกฎหมายเพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติกข้ามพรมแดนและฟื้นฟูโดยเฉพาะกับรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากขยะพลาสติกที่ถูกพัดพามาจากที่อื่น ฯลฯ
ถึงแม้ว่าการเจรจาในครั้งนี้จะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นและหัวข้อของการดำเนินงานระหว่างสมัยประชุม (intersessional work) ได้ แต่ ดร.จิตติ มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพิจารณาจัดทำมาตรการจัดการมลพิษตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก อีกทั้งบทบัญญัติหลักที่ต้องพิจารณาทั้งหมดไม่ได้ถูกลบหรือละทิ้งแต่อย่างใด ทว่าทางเลือกและข้อเรียกร้องต่างๆทั้งหมดของแต่ละบทบัญญัติจะถูกรวบรวมและนำไปปรับปรุงเอกสาร Zero draft ฉบับใหม่ ตลอดจนมีการจัดตั้งหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคเพื่อร่วมพิจารณาสำหรับการประชุมครั้งหน้าที่กรุงออตตาวาต่อไป
ความท้าทายในอนาคต
อย่างไรก็ดียังมีความท้าทายรออยู่เบื้องหน้าทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ดร.จิตติมองว่า การหาจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายหรือขอบเขตที่กำหนดไว้ กับความต้องการและข้อจำกัดของแต่ละประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญ หากขาดการประสานผลประโยชน์ร่วมกันที่ดีระหว่างนานาประเทศย่อมส่งผลถึงฉันทามติต่อตัวสนธิสัญญาและการปฏิบัติต่อไปที่จะตามมาในอนาคต
อีกประการหนึ่งคือ การจัดหาแหล่งทุนและกลไกในการสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ขณะเดียวกันสำหรับประเทศไทยเอง ก็ต้องเร่งปรับตัวลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมตามบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นบทบาทของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติก รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร เพื่อผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมและเกิดการบูรณาการในทิศทางที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของสนธิสัญญาที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในฐานะนักวิจัย ดร.จิตติ ยังอยากเห็นภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจากหลากหลายสาขาวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานของพลาสติก เช่น การพัฒนาวัสดุทดแทนพลาสติกที่เป็นวัสดุแบบยั่งยืนอย่างพลาสติกชีวภาพ (bioplastics) หรือการวิจัยเพื่อให้พลาสติกที่นำมาแปรใช้ใหม่เพื่อทดแทนพลาสติกใหม่ (virgin plastics) แบบเดิม ให้มีสมบัติเทียบเท่าและต้นทุนที่ต่ำลงทำให้สามารถแข่งขันได้
พลาสติกได้รับการใช้งานมาอย่างยาวนาน นำมาซึ่งความสะดวกสบายแก่คนจำนวนมาก ทว่าความสะดวกสบายจะมีคุณค่าอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อมนุษย์เราสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
สนใจบริการติดต่อ
ดร.จิตติ มังคละศิริ
ทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า (LIDAST)
สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS)
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4063
อีเมล: jittim@mtec.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.จิตติ มังคละศิริ นักวิจัย
ทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า (LIDAST)
สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS)
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
https://www.unep.org/interactives/pollution-to-solution/
https://www.genevaenvironmentnetwork.org/resources/updates/towards-plastic-pollution-inc-2/