สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มเลี้ยงสัตว์มากขึ้น รวมถึงคนไทยก็นิยมเลี้ยงแมวและซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับแมวเพิ่มขึ้น ‘ทรายแมว’ จากวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นนวัตกรรมทางเลือกเพื่อตอบสนองคนรักแมวและรักษ์โลก ปลอดภัยกับทั้งแมวและผู้เลี้ยง ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่มา
ปัจจุบันทรายแมวที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติได้รับความสนใจจากผู้เลี้ยงแมวยุคใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่พรีเมียมมากขึ้น นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ตลาดทรายแมวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่มีอยู่ในท้องตลาดมีหลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามต้องการ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความปลอดภัยต่อแมวและผู้เลี้ยง และกำจัดได้ง่าย แต่ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ดร.สิทธิศักดิ์ ประสานพันธ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยอีโคเซรามิกและจีโอพอลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงที่มาของงานวิจัยว่า “เริ่มต้นทีมวิจัยได้รับโจทย์ให้พัฒนาสูตรทรายแมวจาก บริษัท เอส.ไอ.พี. สยามอินเตอร์ แปซิฟิค จำกัด บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมขบเคี้ยว สำหรับหมาและแมว เน้นอาหารประเภทออร์แกนิค จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และบริษัทฯ เล็งเห็นช่องทางธุรกิจที่สามารถใช้วัสดุทางการเกษตรที่บริษัทฯ ใช้เป็นประจำอยู่แล้วในอีกธุรกิจหนึ่ง เพื่อเป็นส่วนประกอบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทรายแมว เป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า”
จุดเด่นของทรายแมวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบันทรายแมวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมี 4 ชนิด ได้แก่ 1) ทรายแมวชนิดจับตัวเป็นก้อน โดยมีเบนโทไนท์เป็นองค์ประกอบหลัก ทรายแมวชนิดนี้ดูดน้ำได้ดี แต่เมื่อสัมผัสกับน้ำจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง ย่อยสลายยาก 2) ทรายแมวชนิดไม่จับตัวเป็นก้อน เหมือนทรายทั่วไป มีสารแมกนีเซียมออกไซด์เป็นส่วนประกอบหลัก สามารถดูดซับน้ำได้ดี 3) ทรายแมวคริสตัลหรือซิลิกาเจล เป็นเม็ดทรายเล็กๆ ผลิตจากโซเดียมซิลิเกต ทรายแมวชนิดนี้ช่วยดูดซับกลิ่นได้ดี แต่มีราคาแพง และ 4) ทรายแมวจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือที่รู้จักกันว่า ทรายเต้าหู้ ดูดซับน้ำได้ดี และไม่มีฝุ่น”
“เมื่อทีมวิจัยได้รับโจทย์จากผู้ประกอบการ จึงเริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตสูตรของทรายแมวที่ตอบโจทย์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนได้สูตรเป็นที่น่าพอใจ ได้ทรายแมวสูตร TPBSB0.5 มีคุณสมบัติคือ เมื่อสัมผัสกับน้ำหรือฉี่แมวจะเกาะกันภายใน 1 นาที ประสิทธิภาพการเกาะตัวได้ดี ประมาณ 13.0 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่เกาะตัวแน่นมาก จะสามารถย่อยสลายได้ง่าย สามารถตักออกทิ้งได้เลย ละลายน้ำได้ดี และสามารถทิ้งในโถชักโครกได้ สามารถต้านจุลชีพ ดูดซับกลิ่นแอมโมเนียของฉี่แมวได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรเกรดอาหาร (food-grade) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและสิ่งแวดล้อม และมีอายุการเก็บรักษานานกว่า 1 ปี”
ดร.สิทธิศักดิ์ กล่าวว่า “ทรายแมวสูตรที่ทีมวิจัยศึกษาจะเป็นทรายแมวที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดังนั้น การนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตทรายแมว จึงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุทางการเกษตร และยังเป็นแนวทางในการช่วยลดปัญหาการกำจัดอีกด้วย นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้วิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของทรายแมวที่พัฒนาขึ้น เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ทรายแมวในท้องตลาดเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคอีกด้วย”
ผลักดันสู่กระบวนการผลิต
หลังจากได้สูตรทรายแมวต้นแบบพร้อมผลิตแล้ว ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับบริษัท แต่พบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ
ดร.สิทธิศักดิ์ เล่าว่า “หลังจากที่ได้สูตรทรายแมวที่ดีแล้ว มีการทดลองผลิตกับเครื่องปั้นเม็ดทรายแมวแต่ได้ผลผลิตน้อย จึงต้องหาเครื่องจักรที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ปริมาณตามเป้าที่บริษัทตั้งไว้ 1 ตัน ต่อชั่วโมง และทดลองกับเครื่องหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์ (extruder) ที่เป็นเครื่องจักรที่ใช้เพื่อการแปรรูปอาหาร แต่ก็ยังพบปัญหาเรื่องความร้อนที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของทรายแมวที่ได้จึงไม่สามารถใช้ผลิตได้ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอีกประเด็นหนึ่งที่ทีมวิจัยต้องหาเครื่องจักรใหม่ที่เพิ่มปริมาณการผลิตโดยที่เกิดความสูญเสียจากผลต่างของน้ำหนักของดีที่ผลิตได้กับวัตถุดิบ (น้ำหนัก) ที่ใส่เข้าไป หรือเกิดการสูญเสียผลผลิตต่อวัตถุดิบให้น้อยที่สุด”
“ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าสูตรทรายแมวก็คือ กระบวนการและเครื่องมือในการผลิต ทีมวิจัยต้องการผลักดันผลงานให้สามารถผลิตและออกสู่ตลาดได้ จึงเริ่มขอทุนประกอบเครื่องสำหรับผลิตทรายแมวสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยมีกำลังการผลิต 1 ตันต่อชั่วโมง เพื่อพัฒนาและออกแบบเครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับการผลิตทรายแมว และทดสอบคุณสมบัติเพื่อให้แน่ใจก่อนผลิตจำหน่าย จะมีการสำรวจผู้ใช้งานจริง เตรียมพร้อมก่อนขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นทีมวิจัยก็จะยังให้คำปรึกษากับทางบริษัทเพื่อพยายามผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้ผลงานกลายเป็นสินค้า โดยดูทั้งระบบการผลิต การประเมินและการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต เพื่อร่วมหาแนวทางในการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป”
สนใจรายละเอียดติดต่อ
คุณภัทรวรรณ เฉยเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์: 0 2564 6500 ต่อ 4305 อีเมล: pattarac@mtec.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.สิทธิศักดิ์ ประสานพันธ์ นักวิจัย ทีมวิจัยอีโคเซรามิกและจีโอพอลิเมอร์ กลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)