วันที่ 13 พฤษภาคม 2567
ณ ห้องประชุม SD-601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมเปิดงานสัมมนาวิชาการและหารือแนวทาง “การติดตาม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยมีวิทยากรผู้ทรงวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ให้ข้อคิดเห็นและรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทย
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) ข้อมูลจาก Air Quality index : AQI พบว่า ในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่คุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก โดยมีค่าเฉลี่ย US AQI อยู่ที่ 74 และมีความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ย 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ซึ่งสูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก 4.7 เท่า และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และหลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุหลักของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย เกิดจากการเผาพื้นที่ป่า การเผาในที่โล่ง การจราจรขนส่ง และการทำอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบทางตรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดน จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหา มลพิษด้านฝุ่นละออง” (พ.ศ. 2562 – 2567) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศและพื้นที่วิกฤตไว้ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 2. การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และ 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน นอกจากนี้รัฐบาลได้เสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เช่น พรบ.อากาศสะอาด และนโยบายแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และไฟป่า ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สวทช. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนงานวิจัย พัฒนา และเทคโนโลยีของประเทศ มีผลงานวิจัยที่สนับสนุนการติดตาม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่นดังกล่าว จึงต้องการผลักดันการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นประเด็นเร่งด่วนของประเทศจึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการวันนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับทราบและให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 การดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎหมาย และแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ในมิติต่าง ๆ รวมทั้งระดมความคิดเห็นเพื่อผลักดันกลไก แนวทาง และสร้างเครือข่ายทำงานในการติดตาม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศได้อย่างแท้จริง เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเครือข่ายการจัดการฝุ่น PM 2.5 การนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยติดตามและตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง” รองผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ
รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ในการติดตาม ป้องกัน และแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่น PM 2.5 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศ ทั้งในด้านการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม การบูรณาการขับเคลื่อนระบบวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือในการติดตามและแก้ไขปัญหาวิกฤตทางอากาศ ตลอดจนร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการให้ความรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ สวทช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กำกับของ อว. ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นดังกล่าว รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สนับสนุนภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ให้เดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการจัดงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านฝุ่น PM 2.5 ในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือการรวบรวมประเด็นจากการระดมความเห็นเพื่อร่วมกันหาแนวทาง ติดตาม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งในส่วนของการดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎหมาย และกลไกการสร้างเครือข่าย ตลอดจนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสนับสนุนการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขวิกฤตมลพิษทางอากาศได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://shorturl.asia/umMiY