สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ในปี พ.ศ. 2562 ทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารราว 931 ล้านตันคิดเป็นร้อยละ 17 ของอาหารที่ผลิตขึ้น มากแค่ไหนน่ะหรือ? หากนำรถบรรทุกขนาด 40 ตัน จำนวน 23 ล้านคันมาเรียงต่อกัน จะสามารถวนรอบโลกได้ถึง 7 รอบ เลยทีเดียว!
การสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 8 (~4.4 GtCO2eq) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลในปี พ.ศ. 2564 ระบุว่ามีขยะอาหารถึงร้อยละ 39 ของปริมาณขยะทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่มาจากครัวเรือนถึงร้อยละ 77
ก่อนอื่นควรเข้าใจว่าการสูญเสียอาหารและขยะอาหารแตกต่างกันอย่างไร เมื่อพิจารณาตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร?
การสูญเสียอาหาร คือ การลดลงของมวลอาหารในส่วนที่คนสามารถบริโภคได้ โดยเกิดขึ้นในขั้นตอนการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการฆ่าสัตว์ การเก็บรักษา การขนส่ง การกระจายสินค้า การแปรรูป และการค้าระดับค้าส่ง
ส่วนขยะอาหารจะเกิดขึ้นในขั้นตอนต่อจากการสูญเสียอาหาร คือ การค้าระดับค้าปลีก และการบริโภค (ทั้งการบริโภคนอกบ้าน และการบริโภคในระดับครัวเรือน)
การปล่อยให้อาหารกลายเป็นขยะ ไม่ได้ส่งผลเพียงการสูญเสียสารอาหารที่จำเป็นสำหรับผู้คนที่ขาดแคลนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอาหารมากมาย นับตั้งแต่พลังงานที่ใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตรหรือการขนส่ง สารเคมีและปุ๋ย พื้นที่ทำเกษตร น้ำ แรงงาน เวลา รวมทั้งเงิน
ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า จะต้องลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังขาดข้อมูลและการจัดเก็บขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดอย่างเป็นระบบ อีกทั้งข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น เราทุกคนต้องร่วมกันลดปริมาณขยะโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนในการซื้ออาหารอย่างพอดี ประกอบอาหารและบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ บันทึกปริมาณขยะ คัดแยกขยะ และจัดการอย่างเหมาะสม
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ตามแหล่งกำเนิด ทั้งระดับร้านค้าปลีก ครัวเรือน และการบริการอาหาร เพื่อให้ผู้ใช้งานที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ร้านค้าปลีก ผู้บริโภค และผู้ที่นำขยะไปใช้ประโยชน์ใช้บันทึก ตรวจสอบสินค้า ติดตามและติดต่อผู้ที่นำขยะไปใช้ประโยชน์
การใช้แอปพลิเคชันนี้ยังมีส่วนช่วยสร้างความตระหนักเรื่องผลกระทบจากขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภคผ่านแนวคิดตลอดวัฏจักรชีวิต รวมถึงเกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปขยายผลต่อยอดในระดับประเทศอันจะนำไปสู่การลดปริมาณขยะอาหารเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ข้อมูลเพิ่มติดต่อ
สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ และ คุณจันทิมา สำเนียงงาม
โทรศัพท์ 0-2564-6500 ต่อ 4857, 4075
อีเมล nongnucp@mtec.or.th หรือ jantimau@mtec.or.th