ดร.พสุ สิริสาลี
Theme Leader of Strategic Theme : เครื่องมือแพทย์
นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
ด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มียุทธศาสตร์การวิจัยที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมโดยการขับเคลื่อน 4 กลุ่มงานวิจัยหลัก (main research themes) ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 14 แนวทางการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (strategic themes) ทั้งนี้ “เครื่องมือแพทย์” จัดเป็นหนึ่งในแนวทางการวิจัยเชิงกลยุทธ์ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยหลัก คือ “นวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต”
ดร.พสุ สิริสาลี นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม เป็น Theme Leader ซึ่งมีภารกิจหลักคือการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีความยั่งยืนทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
ความสำคัญและบริบท
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและมีความสำคัญต่อประเทศ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ไทยผลิตได้เองในสัดส่วนที่สูงมักเป็นวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่ใช้เพื่อการรักษาพยาบาลทั่วไปและใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน
อย่างไรก็ดี เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง และผลิตภัณฑ์ทางจักษุวิทยา แทบทั้งหมดยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่
สาเหตุแรก การเป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์ไทย ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อมั่นอันเกิดมาจากความคุ้นเคยในการฝึกหัดและการใช้อุปกรณ์ที่นำเข้ามาอย่างยาวนาน อีกทั้งไม่ต้องการความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาดจากผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
สาเหตุที่สอง อุตสาหกรรมมีการแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับสูง บริษัทข้ามชาติมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าผู้ผลิตไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะในเชิงราคาที่ต่ำกว่าเนื่องจากการผลิตในปริมาณมาก (Economy of scale) เปรียบเสมือนกำแพงใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่ขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตของไทย
สาเหตุที่สาม อัตราภาษีนำเข้าชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในการผลิตอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีระดับภาษีที่ต่ำ
สาเหตุที่สี่ การขาดองค์ความรู้และทรัพยากรที่เพียงพอ โดยเฉพาะองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา งบประมาณสนับสนุน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการนำร่อง หรือห้องปฏิบัติการทดสอบ
ในความเห็นของ ดร.พสุ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามประเทศไทยจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หลากหลายและได้คุณภาพมาตรฐานสากลภายในประเทศ ด้วยเหตุที่เรามีงบประมาณแผ่นดินที่จำกัด หากสามารถลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ ก็ย่อมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมหาศาล
ไม่เพียงเท่านั้นยังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่นำเข้าจากต่างประเทศมักมีราคาสูง ส่งผลให้โรงพยาบาลขนาดเล็กในชนบทมีโอกาสเข้าถึงได้น้อย หากประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ในราคาที่เหมาะสม ก็ย่อมช่วยกลุ่มประชาชนที่อยู่พื้นที่ทุรกันดาร หรือประชากรกลุ่มเปราะบางที่ขาดความสามารถในการจ่ายค่ารักษา มีโอกาสเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น และ
ดร.พสุ กล่าวย้ำถึงประเด็นสำคัญคือ การมีอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่เข้มแข็งถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขในภาวะวิกฤตได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ในภาววิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด จะมีภาพจำที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญ โดยประเทศผู้ผลิตเหล่านั้นจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศของตนเองจนเพียงพอก่อน แล้วจึงจะส่งออกไปยังประเทศอื่นได้
พันธกิจและพันธนาการ
ดร.พสุ กล่าวว่า เอ็มเทค ในฐานะเป็นกำลังหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ระบบสาธารณสุขไทยพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และได้วางพันธกิจหลักสำคัญประกอบไปด้วย หนึ่ง การสร้างนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรให้ผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ สอง การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานเครื่องมือแพทย์ และสาม การสร้างการรับรู้และผลักดันให้นวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม หนทางการสร้างงานวิจัยและพัฒนาในประเทศก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ดร.พสุ ขยายภาพข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เคยประสบคือ ผลงานวิจัยและพัฒนาโดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถพัฒนาออกสู่ตลาดได้จนประสบความสำเร็จ แต่มักหยุดอยู่ที่ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี หรือ Technology Readiness Level (TRL) ระดับ 4-7 ซึ่งเป็นเพียงขั้นกลาง ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบต้นแบบ เช่น ต้นแบบห้องปฏิบัติการ หรือภาคสนามเท่านั้น
เหตุใดผลงานจำนวนมากยังคงถูกหน่วงรั้งจนไม่สามารถก้าวข้ามกำแพงสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้?
ดร.พสุ มองว่ามีเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ข้อจำกัดของสายป่านเงินทุนในฝั่งเอกชนเอง ที่จะร่วมลงทุนในกิจกรรมทดสอบต้นแบบ ทดสอบเพื่อขอรับรองมาตรฐาน การผลิตเพื่อทดลองตลาด หรือพัฒนาการบริการต่างๆเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการใหญ่จากต่างประเทศ ขณะเดียวกันในฝั่งรัฐ นอกจากข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีแล้วยังพบว่ามีการบริหารจัดการทุนแบบแยกส่วนตามระยะพัฒนาการของ TRL รวมถึงเงื่อนไขการให้ทุนมักเป็นปีต่อปี ทำให้การส่งต่องานวิจัยขาดความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคในขั้นตอนมาตรฐานและการวิเคราะห์ทดสอบ เนื่องจากมีจำนวนศูนย์วิเคราะห์ทดสอบที่ได้รับการรับรองไม่เพียงพอ ที่มีอยู่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกประเภทหัวข้อการตรวจวิเคราะห์ กระบวนการทดสอบก็มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน อีกทั้งนักวิจัยหรือผู้ประกอบการเองก็ยังขาดการสื่อสาร และการสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานกำกับดูแลในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต้องมีการจัดเตรียมเอกสาร CSDT (Common Submission Dossier Template)
เมื่อมองภาพที่ใหญ่ขึ้น นอกจากจะมีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนทุนแล้ว ในระดับนโยบายชาติก็ยังมีหลายกระทรวงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อจำกัดของนโยบายและเป้าประสงค์ที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน จึงทำให้ขาดจุดร่วมของโจทย์วิจัยที่ชัดเจน ตลอดจนการวางกลยุทธ์ของชาติในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ประเทศได้สามารถมุ่งเป้าวิจัยและพัฒนาจนถึงฝั่งฝันได้
กุศโลบายและความร่วมมือ
เครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญในการทลายพันธนาการอุปสรรคที่ผ่านมา เอ็มเทคในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงพยายามแสวงหาพันธมิตรและความร่วมมือในทุกระดับ ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายทางสาธารณสุขและหน่วยบริหารจัดการทุน ทั้งระหว่างหน่วยผลิตวิจัยและพัฒนา เช่น สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย กับผู้ใช้ความรู้หรือผู้ผลิตภาคเอกชน ที่นำองค์ความรู้ไปสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดต่อเนื่องถึงผู้ขาย ผู้ทำการตลาดที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้บริการ จนสุดท้ายปลายทางคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาและใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์เหล่านั้น
ดร.พสุ พยายามกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างการมีส่วนร่วม (engagement) สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียข้างต้นซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องในระบบนิเวศ โดยที่ผ่านมาเอ็มเทคได้พยายามดำเนินการอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง จนเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงกำเนิดคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0
นอกเหนือจากความรู้ความสามารถที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมและความชำนาญเฉพาะทางของทีมนักวิจัยแล้ว กลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดระบบนิเวศ และส่งผลให้นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของเอ็มเทคหลายผลงานสามารถประสบผลสำเร็จสู่ระดับเชิงพาณิชย์ได้
ดร.พสุ ยกตัวอย่างเช่นการทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้ามามีส่วนร่วม ก็เพื่อทลายข้อจำกัดในการสร้างความเชื่อมั่นของการใช้เครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย ซึ่งยังขาด lead user หรือแพทย์ผู้ใช้งานกลุ่มแรก ที่จะสามารถมาเป็น site reference ในการอ้างอิงข้อมูลและประสิทธิภาพในการใช้งานของเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทยได้ นอกจากนี้ยังเพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมนั้นตรงตามความต้องการของแพทย์ผู้ใช้ สะดวกต่อการใช้งาน และสร้างความคุ้นชินให้เกิดขึ้นอีกด้วย
เช่นเดียวกับเอกชน เอ็มเทคดูแลไม่เพียงจำกัดแต่เฉพาะขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แม้ภายหลังจำหน่ายสิทธิเทคโนโลยีออกไปแล้ว ก็ยังติดตามและสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินการ จวบจนประสบความสำเร็จสามารถเข้าสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น การสนับสนุนข้อมูลในเชิงเทคนิคเพื่อการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย หรือเพื่อการสร้างความเชื่อมั่น เป็นต้น
ปัจจุบันเริ่มมีเอกชนหรือผู้ผลิตที่เติบใหญ่ปรากฏเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น ดร.พสุ จึงมองว่าเป็นอีกหนึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต่อไปจะทวีความสำคัญ ต่อการผลักดันและขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ตลอดห่วงโซ่ได้มากยิ่งขึ้น และเอ็มเทคก็จะพยายามดึงเข้ามาให้มีส่วนร่วมเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือให้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
เอ็มเทคพรั่งพร้อมด้วยบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งโรงงานต้นแบบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO13485 องค์กรมีห้องปฏิบัติการวิจัย (CAD/CAE/3D-Printer) มีโรงงานต้นแบบการแพทย์ โปรตีนทางการแพทย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO13485 และได้ขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์จากองค์การอาหารและยา (อย.) และยังมีโรงงานต้นแบบอุปกรณ์การแพทย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO13485 และได้ขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ จากอย. เอ็มเทคพร้อมเป็นพันธมิตรที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนตลอดการเดินทางของห่วงโซ่อุปทานในระบบนิเวศนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์นี้
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
มีคำกล่าวว่า Direction is more important than speed ดร.พสุ ได้ให้ทรรศนะว่า Direction ในที่นี้ที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และมุ่งเป้าหมายฝันให้ไกล นั่นคือ มุ่งพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยจนสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ กล่าวคือ ต้องผลักดันผลิตภัณฑ์ของไทยให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การเป็นที่ยอมรับ และขายได้ในระดับสากลนั่นเอง
เป้าหมายตลาดในประเทศอาจเป็นหมุดหมายแรก (milestone) แต่ด้วยข้อจำกัดในศักยภาพของตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก ในขณะที่มาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐตลอดจนทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ส่งผลต่อความอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทำให้ท้ายสุดแล้วผู้ประกอบการต้องฉวยโอกาสระหว่างจำหน่ายในประเทศนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องอันดับถัดไปก็คือ การเร่ง speed ตัวเองให้เข้มแข็งเพื่อพร้อมผลักดันตัวเองไปสู่การส่งออกในระดับสากล และสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง
อีกหนึ่งแนวคิดเชิงกลยุทธ์ที่ดร.พสุ เห็นว่าควรริเริ่มก็คือ Open innovation ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากแนววิถีเดิมๆ ที่มุ่งเน้นการทำวิจัยและพัฒนาในลักษณะต่างคนต่างทำ ใช้บุคลากรภายในแต่ละหน่วยงานดำเนินการเป็นหลัก แต่แนวคิดนี้หน่วยงานจะเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์จากภายนอกหน่วยงานด้วย โดยแสดงหรือเปิดเผยให้คนทั่วไปได้ทราบว่า หน่วยงานเรานั้นมีการพัฒนาหรือนวัตกรรมอะไร และมีความต้องการเทคโนโลยีอะไรบ้าง ซึ่งหลายครั้งทำให้พบนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีจากหน่วยงานอื่นที่อาจมาช่วยสนับสนุนกันได้ ทำให้เพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานได้มากกว่าเดิม
ทั้งนี้นวัตกรรมที่ ดร.พสุ มองว่า ระดับที่น่าสนใจควรมีระดับ TRL เกิน 4 ขึ้นไป และมีศักยภาพทั้งในเชิงเทคนิคและการตลาด ซึ่งนั่นจะทำให้การต่อยอดมีความเป็นไปได้และลดระยะเวลาในการนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาด (Time-to-market) ให้สั้นลง ไม่เพียงเท่านั้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ควรจำกัดแต่เฉพาะของภายในประเทศ แต่ควรหมายรวมถึงของต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่านวัตกรรมหรือเทคโนโลยีระดับสูงหลายอย่างนั้น ต่างประเทศได้เคยลองผิดลองถูกและพัฒนาจนมีความก้าวหน้าไปไกลมาก ตัวอย่างเช่นอุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์กลุ่มโรคหัวใจ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงระดับสูง ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีความสามารถในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้เป็นของตนเอง หากสามารถสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างกันได้อย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมระดับสูงขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้นักวิจัยสามารถเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อีกด้วย
สนใจรายละเอียดติดต่อ
ทีมวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.พสุ สิริสาลี
E-mail: pasu.sir@mtec.or.th
ทีมวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)