วันที่ 13 ธันวาคม 2567
ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี
ดร.ต้องใจ ชูขจร นักวิจัย ทีมวิจัยระบบอัตโนมัติสำหรับกระบวนการทางวัสดุ (AMPT) กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ (MMA) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. รับรางวัล Best Oral Presentation Award ด้าน Global Partnership (Frontier Research) จากการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบโลหะผสมเอนโทรปีสูงเพื่อการใช้งานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและแบตเตอรี่” (Computational design of high entropy alloys for catalyst and battery applications) รางวัลดังกล่าวได้รับมอบโดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รักษาการแทน ผู้อำนวยการ บพค. ในงานประชุมวิชาการ PMU-B Brainpower Congress 2024 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Unlocking the Potential of Ignite Thailand: ปลดล็อกศักยภาพคนไทยจุดประกายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและเชื่อมความสัมพันธ์ของเครือข่ายการพัฒนากำลังคนระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีวิชาการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานวิจัยของนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารงานวิจัย รวมทั้งเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการ ด้านการพัฒนากำลังคนด้านงานวิจัยขั้นแนวหน้า ด้านงานวิจัยทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด้านงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการการออกแบบโลหะผสมเอนโทรปีสูงเพื่อการใช้งานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและแบตเตอรี่
(Computational design of high entropy alloys for catalyst and battery applications) ได้รับทุน e-ASIA Joint Research Program (e-ASIA JRP) ประจำปี 2020/21 ในสาขา Materials ร่วมกับ นักวิจัยจาก University of the Philippines Los Baños ประเทศฟิลิปปินส์ the University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น และ Institute of High Performance Computing, A*STAR ประเทศสิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบโลหะผสม (alloy) โดยใช้โลหะทรานซิชั่นที่มีอยู่มากในภูมิภาคเอเชีย เพื่อใช้ประโยชน์ด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและแบตเตอรี่ การดำเนินงานตามโครงการนี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีระหว่างนักวิจัยในภูมิภาคเอเชียผ่านการดำเนินงานวิจัยแล้ว ยังสนับสนุนการพัฒนาทักษะของนักวิจัยรุ่นใหม่และนักศึกษาในสาขาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยในโครงการ และการจัดงานสัมมนาที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วม
ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาทักษะผู้ร่วมโครงการ ผู้ช่วยวิจัย และนักศึกษาในประเทศไทยกว่า 10 คน บรรยายให้ความรู้ในงานประชุมวิชาการประจำปีสวทช. ครั้งที่ 18 (NAC2023) และทำงานร่วมกับนักวิจัยจากหลายสถาบันชั้นนำในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ University of the Philippines Los Baños ประเทศฟิลิปปินส์ The University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น A*STAR Institute of High Performance Computing ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
ปัจจุบัน ทีมวิจัยได้นำความรู้จากงานวิจัยมาต่อยอดและเสริมศักยภาพของทีมงานด้านการออกแบบวัสดุโลหะและกระบวนการผลิตจากความรู้ในหลายด้าน ทั้งวัสดุสารสนเทศ (materials informatics) โลหะวิทยา เทคโนโลยีปรับปรุงพื้นผิววัสดุ การชุบเคลือบโลหะ กระบวนการทางไฟฟ้าเคมี บ่มเพาะและเกิดองค์ความรู้ด้านการพัฒนากระบวนการผลิตด้วยข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และระบบดิจิทัลนำมาใช้พัฒนาและประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นนวัตกรรม แพลตฟอร์มการตรวจวัดและควบคุมคุณภาพสำหรับการชุบโลหะด้วยไฟฟ้าในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ หรือ PlateMon เป็นแพลตฟอร์มผู้ช่วยสำหรับอุตสาหกรรมชุบโลหะด้วยไฟฟ้าในด้านการควบคุมคุณภาพ เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mtec.or.th/post-knowledges/95779/ ) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องตามแนวทางการวิจัยเชิงกลยุทธ์ของเอ็มเทค Strategic themes: Modern Manufacturing ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมคุณภาพการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ใช้ประโยชน์ได้เชิงพาณิชย์ และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทางด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์