นวัตกรรม-AI เพื่อเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าที่มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นแรงกดดันให้ภาคอุตสาหกรรมต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปรับตัวในการดำเนินงานและการสื่อสารข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน

ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Inventory: LCI) เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทราบถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ได้ตลอดทั้งวงจรชีวิต จึงมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมในการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินการร่วมกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม จัดทำฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน รวมถึงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ CO2, Circular Economy และ SDGs

TIIS จัดเก็บและรวบรวมฐานข้อมูลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลาง เพื่อให้ข้อมูลที่จัดทำไว้เป็นตัวแทนระดับประเทศสำหรับกลุ่มวัสดุพื้นฐาน พลังงาน เกษตรและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2568 มีฐานข้อมูลมากกว่า 500 ชุด

ปัจจุบันฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น การนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูลจะช่วยเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ AI เพื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งระบบ IoT ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (remote sensing) ข้อมูลภาพ ข้อมูลจากเซ็นเซอร์หรือฐานข้อมูลออนไลน์ และยังสามารถสร้างข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในหลายมิติ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินความยั่งยืนให้ครอบคลุมและแม่นยำ สำหรับใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการตัดสินใจและการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

เป้าหมายใหญ่คือ หมุดหมายที่ 10 ซึ่งไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าพร้อมยกระดับการเติบโตของธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

การสัมมนาเผยแพร่แนวคิดและนวัตกรรม-AI เพื่อเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีหัวข้อบรรยาย ได้แก่ เทคโนโลยี และ AI เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจดิจิทัล-AI แพลตฟอร์มบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog: GD Catalog) เพื่อสนับสนุนข้อมูลสถิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและ AI เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

ผู้สนใจสามารถร่วมฟังสัมมนาหัวข้อ “ร่วมสร้างอนาคต: แนวคิดและนวัตกรรม-AI เพื่อเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ในงานประชุมวิชาการ NAC2025 วันที่ 26 มีนาคม 2568 เวลา 9:00–12:00 น. ห้อง CC-405 อาคาร 14 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี ลงทะเบียนเข้าฟังได้ฟรีที่ https://www.nstda.or.th/nac/2025/seminar/nac-09/

ติดต่อสอบถามข้อมูล:
คุณสุทธิชา ปัญญาเกิด
โทรศัพท์: 02 564 7000 ต่อ 6455
อีเมล: sudticha.pun@nstda.or.th