การศึกษาผลกระทบด้านความปลอดภัยจากการใช้งานสถานีทดสอบเครื่องยนต์อากาศยานภาคพื้น (Ground Run up Enclosure: GRE) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

917 Views

ที่มา

ความปลอดภัยทางด้านการบินมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่และความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ประกอบธุรกิจด้านการบินฯ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงหาแนวทางป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติการบินในบริเวณท่าอากาศยาน 

บริษัทฯ ได้ว่าจ้างทีมวิจัยเอ็มเทคให้ศึกษาความปลอดภัยในการใช้งานสถานีทดสอบเครื่องยนต์อากาศยานภาคพื้น (Ground Run-Up Enclosures, GRE) เนื่องจากตำแหน่งที่ติดตั้งสถานีทดสอบ GRE อาจส่งผลกระทบต่อการบินขึ้น (take off) และร่อนลง (landing) ของอากาศยาน อันเป็นผลมาจากการที่ทิศทางในการทดสอบเครื่องยนต์ของอากาศยานหันเข้าหาอากาศยานที่กำลังใช้งานทางวิ่งขณะบินขึ้นและร่อนลง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางการบิน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานทางการบิน รวมทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่เป็นหน่วยงานกำกับด้านความปลอดภัยทางการบินของประเทศมีความเชื่อมั่นในการใช้งานสถานีทดสอบ GRE จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกมิติก่อนการเปิดใช้งานได้จริง

 

เป้าหมาย

วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการใช้งานสถานีทดสอบ GRE เพื่อกำหนดเงื่อนไขและแนวทางการใช้งาน

ทีมวิจัยทำอย่างไร

1. ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบและติดตั้งชุดอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วลม  

2. ใช้องค์ความรู้ทางด้านสถิติศาสตร์ (statistic science) และการเขียนคอมพิวเตอร์โปรแกรมในการศึกษาหาค่าความเร็วลมและทิศทางลมที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ บริเวณที่มีการติดตั้งสถานีทดสอบ GRE ย้อนหลัง 6 ปี

3. ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม (Computer Aided Engineering, CAE) ทางด้านพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (Computational Fluid Dynamics, CFD) เป็นเครื่องมือช่วยในการจำลองพฤติกรรมการไหลของอากาศขณะที่มีและไม่มีการใช้งานสถานีทดสอบ GRE ประกอบกับข้อมูลของกระแสลมและทิศทางลมที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

การออกแบบและติดตั้งชุดอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วลมและทิศทางลม

ผลงานวิจัย

1. เป็นข้อมูลประกอบในการเปิดใช้งานสถานีทดสอบ GRE กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

2. เป็นข้อมูลให้นักบินใช้ประกอบในการบินขึ้นและร่อนลงเพื่อความปลอดภัยในการบิน

สถานภาพการวิจัย

ปิดโครงการโดยสมบูรณ์

ตัวอย่างขอบเขตการเกิดกระแสความปั่นป่วน (turbulence zone) จากลมธรรมชาติทิศตะวันตก
ในกรณีไม่มีการทดสอบอากาศยาน

แผนงานวิจัยในอนาคต

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องย้ายสถานีทดสอบ GRE เพื่อสามารถเปิดใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยจะเข้าไปมีส่วนช่วยในการหาสถานที่ติดตั้งใหม่ รวมถึงศึกษาผลกระทบทั้งทางด้านพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) และผลกระทบด้านเสียง (acoustic) ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานสถานีทดสอบ GRE 

รายชื่อทีมวิจัย

ดร.อธิพงษ์ มาลาทิพย์, ดร.สิทธิกร ลาภาพงศ์, ดร.ศุภกิจ วรศิลป์ชัย, นายเอนก ภู่จำนงค์, นายประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล, นางสาวรัตนสุดา แนวเงินดี, นายเกียรติก้อง สุวรรณกิจ, นางสาววรรษมน ภู่สกุลขจร, ดร.เสฏฐวรรธ สุจริตภวัตสกุล, นายณพล คงเจริญ  (จป. วิชาชีพ), นางสาวพรทิพย์ ชัยวัฒนะ (จป. วิชาชีพ)

ติดต่อ

ดร.อธิพงษ์ มาลาทิพย์ 
กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคํานวณ
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4319
อีเมล atipongm@mtec.or.th