กรมการขนส่งทางบก

1,041 Views

กรมการขนส่งทางบก มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดระบบและระเบียบการขนส่งทางบก โดยการกำกับ ดูแล  ตรวจสอบ ตรวจตรา ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ การประสานและวางแผนให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่นๆ เพื่อให้ระบบการขนส่งทางบกเกิดความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมในการควบคุม กำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางถนน ให้มีคุณภาพและปลอดภัย”

ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า “สำนักวิศวกรรมยานยนต์ มีหน้าที่หลัก คือ เรื่องมาตรฐานยานยนต์ โดยอ้างอิงมาตรฐานของสหประชาชาติ (UN) เป็นแนวทางในการพัฒนามาตรฐานยานยนต์ในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการขนส่งในประเทศไทยให้มีความรู้ตามหลักวิชาการ  กรมการขนส่งทางบกจึงต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ด้านมาตรฐานยานยนต์และการทดสอบ”

เกี่ยวกับความร่วมมือกับเอ็มเทค ผู้อำนวยการฯ ให้ข้อมูลว่า “กรมการขนส่งทางบกมีนโยบายพัฒนามาตรฐานยานยนต์ของรถบรรทุกและรถโดยสารเป็นการเร่งด่วนเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับข้อมูลเชิงสถิติและหลักฐานเชิงประจักษ์จากสื่อเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นรายวัน ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกจอดอยู่แล้วมีรถเก๋ง รถจักรยานยนต์ชนด้านท้าย การเกิดการพลิกคว่ำของรถโดยสารซึ่งโครงสร้างรถไม่สามารถปกป้องผู้โดยสารที่นั่งด้านในได้ พอเกิดอุบัติเหตุขึ้นครั้งหนึ่งก็จะเกิดเป็นเป็นโศกนาฎกรรมที่เป็นแบบนี้ก็เพราะรถบรรทุกไม่มีอุปกรณ์ป้องกันและลดความรุนแรงด้านข้างและด้านท้าย รวมถึงโครงสร้างรถยังไม่มีมาตรฐาน  สำนักวิศวกรรมยานยนต์จึงร่วมมือกับเอ็มเทคจัดทำโครงการ “การจัดทำแบบมาตรฐานของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ” และโครงการ “การศึกษาออกแบบโครงสร้างตัวถังรถโดยสารให้มีความแข็งแรงเป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย” โดยศึกษาและใช้ข้อกำหนดของสหประชาชาติเป็นแนวทางดำเนินงาน”

 

เมื่อถามถึงกระบวนการทำงานและการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า “การบังคับใช้กฎหมายให้สู่การปฏิบัติจริงนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น สำหรับรายงานการศึกษาฯ ทั้งสองโครงการที่ดำเนินการร่วมกับเอ็มเทค กรมการขนส่งทางบกได้เชิญผู้แทนสมาคมของอู่ต่อตัวถัง ผู้ประกอบการขนส่งและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นกรรมการโครงการ เพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ ให้สมาชิกทราบ รวมถึงให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการและการประกาศใช้กฎหมาย” ทั้งนี้กฎหมายอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถบรรทุก และมาตรฐานโครงสร้างตัวถังรถโดยสารคาดว่าจะประกาศใช้ปี พ.ศ. 2566

 “เอ็มเทค เป็นหน่วยงานที่มีความรู้มีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์และทีมงานมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับตรงกับความต้องการของสำนักฯ จึงร่วมจัดทำโครงการและจะขยายต่อยอดบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยได้มอบหมายให้ทีมวิศกรที่รับผิดชอบโดยตรงร่วมดำเนินงานและเรียนรู้ร่วมกับทีมวิจัยของเอ็มเทค มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ได้รับความร่วมมืออย่างดีมาก งานทั้งสองโครงการเป็นไปตามแผน มีติดขัดบ้างเนื่องจากวิกฤตการณ์โควิด-19 แต่ทีมงานร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้โครงการไปถึงผลสำเร็จได้” ผู้อำนวยการฯ กล่าวเสริม

 “อยากให้เอ็มเทคช่วยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถบรรทุก และมาตรฐานโครงสร้างตัวถังรถโดยสารที่ได้ดำเนินการร่วมกันนี้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นหน่วยทดสอบด้านยานยนต์ในหัวข้อต่างๆ ตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบกในด้านการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกยังมีแผนงานที่สนใจศึกษาในอนาคตในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ดัดแปลง ด้านข้อกฎหมายและเครื่องมือตรวจสอบสภาพรถ เพื่อรองรับการจดทะเบียนรถใหม่ และการตรวจสภาพรถประเภทดังกล่าวต่อไปอีกด้วย” ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กล่าวทิ้งท้าย