เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) เป็นหนึ่งในเสาหลักของโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ในเดือนมกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และต้องการให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้การขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน
แก่นสาระของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ 1) การลดการใช้ทรัพยากร 2) การคงคุณค่าวัสดุ 3) การนำกลับคืน การผลิตและการบริโภคตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด การลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และการพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อส่งเสริมการบริโภคตามความจำเป็น ตัวอย่างเช่น การแบ่งปันยานพาหนะเพื่อใช้งานร่วมกัน การนำบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวไปซื้ออาหารหรือผลิตภัณฑ์ จนถึงการซ่อมแซมและนำวัสดุกลับมาใช้งานใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เข่น การใช้ซ้ำและการรีไซเคิล
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีบทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกใช้งานวัสดุอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เอ็มเทคร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมีดังนี้
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “Designing Plastic Products in Circular Economy”
เอ็มเทคร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ Linköping University ประเทศสวีเดน จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร Designing Plastic Products in Circular Economy ในวันที่ 1, 2, 9, 10, 16 และ 23 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
การอบรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกตามวิถีเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความร่วมมือในอนาคต
ผู้ให้การอบรมประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากประเทศผู้นำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำทีมโดย Professor Mattias Lindahl จาก Linköping University ผู้เชี่ยวชาญด้าน Eco-design & Product Service Systems เสริมด้วยผู้เชี่ยวชาญของสวีเดนและไทย ที่ให้ข้อมูลและความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถยืนยันความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การฝึกอบรมฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค อาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงนักวิชาการในวงการพลาสติก เป็นต้น
โครงการความร่วมมือเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP-SEA)
โครงการ CAP-SEA (Collaborative Action for Single-Use Plastic Prevention in Southeast Asia) เป็นโครงการระดับภูมิภาคที่ดำเนินการในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย บริหารจัดการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมการอนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) และการสนับสนุนการดำเนินงานจากหลากหลายหน่วยงานในประเทศไทย
วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือการสนับสนุนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic: SUP) โดยการออกแบบโมเดลธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรมการจัดการที่เหมาะสม ตลอดจนการพัฒนาความสามารถและการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ระยะเวลาดำเนินงานของโครงการฯ คือเดือนมกราคม 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2566
การดำเนินโครงการในประเทศไทยมี สวทช. ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกำกับโครงการ CAP-SEA โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและ GIZ เป็นฝ่ายเลขานุการ พันธกิจหลักคือการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกรอบแผนการดำเนินงานโครงการ CAP-SEA ให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย
เอ็มเทคมีบทบาทในการขับเคลื่อนผลักดันงาน 2 ส่วนหลัก ได้แก่
(1) โปรแกรมกรอบนโยบายและกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนที่นำทาง (roadmap) การจัดการขยะพลาสติก โดยการวิเคราะห์ผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบด้านบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
(2) โปรแกรมแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อยืดอายุการใช้งาน ลดการก่อขยะพลาสติก และเพิ่มอัตราการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่
Green rock วัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์
วัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์เป็นผลผลิตจากการนำองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือทิ้งโดยนำไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
วัสดุเม็ดมวลเบาสามารถนำมาใช้ทดแทนหินจากธรรมชาติที่เป็นส่วนผสมของชิ้นส่วนคอนกรีตประเภทต่าง ๆ ในการก่อสร้างอาคารซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักโครงสร้าง ในขณะที่ยังคงความแข็งแรงตามมาตรฐาน ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานของอาคาร
ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยวิศวกรรมเซรามิกส์ และ บริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด ในปัจจุบันบริษัทฯประสบความสำเร็จในการผลิตและสร้างตลาดวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ในเชิงพาณิชย์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “Green rock”