การพัฒนาของผสมฐานมอลโตเดกซ์ตรินเพื่อปรับความหนืดของอาหารสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก

2,336 Views

ที่มา

ภาวะกลืนลำบาก (dysphagia) คือภาวะที่มีความผิดปกติในการส่งผ่านอาหารจากช่องปากไปยังอวัยวะในระบบทางเดินอาหารส่วนอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้เหมือนคนปกติ และมักนำไปสู่การสำลักขณะกลืนอาหารได้ ภาวะนี้อาจทำให้เกิดการขาดน้ำและสารอาหาร อันนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อจากการสำลักจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

บริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด เป็นบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สตาร์ชมันสําปะหลังแปรรูปที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร/เครื่องดื่มสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากในรูปแบบผงปรับความหนืด เพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากและผู้สูงอายุที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามสภาวการณ์สังคมผู้สูงวัย (aged society) ของประเทศไทยในปัจจุบัน 

บริษัทฯ ได้จ้างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติให้ศึกษาและวิเคราะห์สมบัติต่างๆ โดยเฉพาะสมบัติเชิงรีโอโลยีของของผสมฐานมอลโตเดกซ์ตริน ที่ระดับความหนืด 3 ระดับ ได้แก่ Nectar-like, Honey-like และ Pudding-like ตามเกณฑ์ National Dysphagia Diet (NDD) เพื่อใช้เป็นผงปรับความหนืด (thickening powder) สำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก โดยมีเป้าหมายให้ผลปรับความหนืดนี้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ทางการค้าที่บริษัทฯ สนใจ 

เป้าหมาย

สูตรผลิตภัณฑ์ผงปรับความหนืดจากของผสมฐานมอลโตเดกซ์ตริน

ทีมวิจัยทำอย่างไร

  • วิเคราะห์สมบัติต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ผงปรับความหนืดทางการค้า
  • วิเคราะห์สมบัติพื้นฐานของสารไฮโดรคอลลอยด์ต่างๆ
  • พัฒนาสูตรต้นแบบผงปรับความหนืดและวิเคราะห์สมบัติต่างๆ โดยเน้นสมบัติรีโอโลยี
  • ศึกษาอิทธิพลของความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิ และเอนไซม์อะไมเลสต่อสมบัติรีโอโลยีของสูตรต้นแบบ
  • ทดสอบคุณภาพเชิงประสาทสัมผัส
ผงปรับความหนืดสำหรับผสมกับน้ำหรือเครื่องดื่ม
เพื่อปรับระดับความหนืดให้เหมาะสมตามความต้องการ
ของผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก
ต้นแบบผงปรับความหนืดที่พัฒนาขึ้น
สามารถนำไปใช้ปรับความหนืดของเครื่องดื่ม
ได้หลากหลายตามมาตรฐาน NDD

ผลงานวิจัย

สูตรของผสมฐานมอลโตเดกซ์ตรินที่เมื่อนำมาละลายในน้ำแล้วมีสมบัติรีโอโลยี และคุณภาพเชิงประสาทสัมผัสคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์ผงปรับความหนืดทางการค้า 2 ชนิด

สถานภาพการวิจัย

ดำเนินงานวิจัยเสร็จสิ้น และส่งมอบผลงานให้แก่บริษัทฯ เพื่อการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป

แผนงานวิจัยในอนาคต

บูรณาการความรู้และทักษะที่ใช้ในการออกแบบและสร้างระบบทำความสะอาดฯ ร่วมกับพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณเพื่อจำลองสนามการไหล (flow field simulation) ของการถ่ายเทความร้อนและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI)

รายชื่อทีมวิจัย

นายเอกพงษ์ คงเจริญ, ดร. ชัยวุฒิ กมลพิลาส, ดร. ศิริกาญจน์ วิเศษสุวรรณภูมิ, ดร. นิสภา ศีตะปันย์, ดร. ภาวดี เมธะคานนท์, และ ดร. อศิรา เฟื่องฟูชาติ 

ติดต่อ

ดร. ชัยวุฒิ กมลพิลาส 
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง 
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4447
อีเมล chaiwutg@mtec.or.th