1,347 Views

ตลอดปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นับเป็น
อุปสรรคต่อการดำเนินงาน ทำให้จำเป็นต้องปรับวิถีการทำงานไปสู่ความปกติรูปแบบใหม่ (new normal) อย่างไรก็ตาม เอ็มเทคยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ผลงานวิจัยและพัฒนาที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

PETE (พีท) เปลปกป้อง

PETE (พีท) เปลปกป้องดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม และคณะพัฒนานวัตกรรม ‘PETE (พีท) หรือเปลปกป้อง’ ซึ่งเป็นเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ทีมวิจัยออกแบบส่วนแคปซูลของเปลปกป้องให้ไร้โลหะ แต่ยังคงความแข็งแรง และสามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซ์เรย์ และซีทีสแกน (CT Scan) ได้ในขณะอยู่บนเปลเพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรพยาบาลด้วยรถพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 3 เท่า

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา เอ็มเทคได้ส่งมอบ PETE ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานด่านหน้าต่าง ๆ จำนวน 31 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี, รพ.จุฬาภรณ์, รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน), ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รพ.สนามธรรมศาสตร์, รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รพ.เซนต์เมรี่, มูลนิธิรวมน้ำใจ คลองเตย, รพ.วิภาวดี, รพ.สนามเอราวัณ 2, รพ.กลาง, คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, รพ.ราชพิพัฒน์, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, รพ.เซนต์หลุยส์, รพ.โพนทอง, สถาบันประสาทวิทยา, รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ, รพ.ตากสิน, รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร, รพ.สิรินธร, รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน, รพ.บางไผ่, รพ.วังจันทร์, รพ.ศรีเทพ, รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช, รพ.ละหานทราย, รพ.กำแพงเพชร และ รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ทั้งนี้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ให้การสนับสนุน PETE จำนวน 10 ชุด สำหรับโรงพยาบาล 5 แห่งแรกในรายชื่อที่ระบุไว้

รถส่งของบังคับทางไกล “อารี”

ดร.ก่อเกียรติ เศษชัยชาญ และคณะจากทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัท บุญวิศวกรรม จำกัด ออกแบบและพัฒนารถส่งของบังคับทางไกล “อารี” ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการขนส่งสัมภาระ เช่น ส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักภายในหอผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างชุด PPE ซึ่งเป็นวัสดุสิ้นเปลืองที่ต้องกำจัดทิ้งภายหลังจากการเข้าพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย

รถส่งของบังคับทางไกล “อารี “ ผ่านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางไฟฟ้าโดยผ่านการทดสอบมาตรฐาน IEC 60601-1-2 จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ผลิตได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และมั่นใจได้ว่าจะไม่สร้างสัญญาณรบกวนต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ 

เอ็มเทคได้ส่งมอบรถส่งของบังคับทางไกล “อารี” ให้แก่โรงพยาบาลจำนวน 80 แห่ง ได้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า, รพ.เจริญกรุงประชารักษ์, รพ.ตากสิน, รพ.บางปะกง, รพ.เวชการุณย์รัศมิ์, สถาบันประสาทวิทยา, สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี, รพ.อู่ทอง, รพ.อุทัย, รพ.อ่างทอง, รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ, รพ.สามพราน, รพ.สามโคก, รพ.สัตหีบ กม. 10, รพ.สระบุรี, รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17, รพ.สทิงพระ, รพ.สตูล, รพ.ศรีสังวรสุโขทัย, รพ.ศรีสะเกษ, รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รพ.ศรีนครินทร์ (ปัญญานันทภิกขุ), รพ.วารินชำราบ, รพ.วัดญาณสังวราราม, รพ.ลำสนธิ, รพ.ลำลูกกา, รพ.ลำพูน, รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร, รพ.ราชพิพัฒน์, รพ.ระโนด, รพ.ยะลา, รพ.แม่สาย, รพ.แม่เมาะ, รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง), รพ.โพธาราม, รพ.เพชรบูรณ์, รพ.พุทธมณฑล, รพ.พัทลุง, รพ.พัฒนานิคม, รพ.พระนารายณ์มหาราช, รพ.พระนครศรีอยุธยา, รพ.พระจอมเกล้า, รพ.พรหมพิราม, รพ.พนัสนิคม, รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน, รพ.ปัตตานี, รพ.ปราณบุรี, รพ.ปทุมธานี, รพ.บ้านหมี่, รพ.บ้านโป่ง, รพ.บ้านนาสาร, รพ.บางใหญ่, รพ.บางปะอิน, รพ.บางปะหัน, รพ.นาหม่อม,รพ.นพรัตนราชธานี, รพ.นครพิงค์, รพ.นครพนม, รพ.นครปฐม, รพ.ธัญบุรี, รพ.เทิง, รพ.เทพา, รพ.ท่าหลวง, รพ.ท่าศาลา, รพ.ท่าวุ้ง, รพ.ตากใบ, รพ.ดำเนินสะดวก, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.ชัยบาดาล, รพ.เจ็ดเสมียน, รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์, รพ.ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร, รพ.คลองหลวง, รพ.คลองสามวา, รพ.ขอนแก่น, รพ.เกาะคา, รพ.กำแพงเพชร, รพ.กาฬสินธุ์, รพ.กลาง และ รพ.กระทุ่มแบน โรงพยาบาลสนาม จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ รพ.หนองเสือ, รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ สวทช., รพ.มงกุฎวัฒนะ, รพ.ป่าโมก และ รพ.ประชาธิปัตย์

รถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วย (RT-Wheelchair)​

ดร.ดนุ พรหมมินทร์ หัวหน้าทีมวิจัย เเละนายปริญญา จันทร์หุณีย์ วิศวกรอาวุโส ทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ กลุ่มวิจัยวัสดุ และอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรออกแบบและพัฒนารถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วยที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ลดทอนคุณภาพรังสี มีช่องใส่แผ่นภาพรังสีที่แผ่นรังสีสามารถเคลื่อนตัวได้ตลอดในแต่ละตำแหน่งของตัวรถ และมีโครงสร้างรองรับร่างกายที่สามารถปรับเอนนอนได้ จึงรองรับการจัดท่าถ่ายภาพเอกซเรย์ในท่าประจำได้ทุกส่วนของร่างกาย รถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วยช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บในขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสู่เตียงเอกซเรย์ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการถ่ายภาพเอกซเรย์ และภาพเอกซเรย์ที่ได้ก็มีคุณภาพสูงเพียงพอต่อการวินิจฉัย

รถเข็น RT-Wheelchair ผ่านการรับรองมาตรฐานทางด้านไฟฟ้าเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 และ IEC 60601-1-2 โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) แล้ว 

เอ็มเทคได้ส่งมอบรถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งให้แก่รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และ รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้เคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อลดการสัมผัสระหว่างการเคลื่อนย้ายและการเอกซเรย์ รวมถึงลดปัญหาการบาดเจ็บซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนย้ายทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ยังได้อบรม พร้อมสาธิตการใช้งานให้แก่บุคลากรในโรงพยาบาลอีกด้วย

ผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างหลักสูตรพัฒนาเยาวชนไทย

เอ็มเทคเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการศึกษา จึงร่วมกับโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีพัฒนาหลักสูตรสร้างเยาวชนไทยตอบโจทย์ยุค AI เพื่อพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โดยทีมวิจัยจากกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ มีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์ ระบบเซ็นเซอร์และปัญญาประดิษฐ์มาบูรณาการร่วมกับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อยกระดับการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและการทำงานของผู้เรียนในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการศึกษาด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยเน้นการปฏิบัติจริงและศึกษาข้อมูลเชิงลึก เป็นการบ่มเพาะเยาวชนและสนับสนุนให้เกิด Deep Tech Innovation ในประเทศไทย และพร้อมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและก้าวสู่การเป็น Deep Tech Startup ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีพร้อมแข่งขันในอุตสาหกรรมของโลกอนาคตได้

สื่อการเรียนการสอนเครื่องยิงลูกบอลแบบโพรเจคไทล์ (projectile)

พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based learning) กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะนำความรู้หลายแขนง เช่น ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมไฟฟ้าและนำความรู้ด้านไมโครคอนโทรลเลอร์มาผนวกกับการใช้เซ็นเซอร์ต่าง ๆ โดยนำทฤษฎีมาใช้ร่วมกับการปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

ต้นแบบสื่อการเรียนการสอน Garden of STEM

เป็นต้นแบบสื่อการเรียนการสอน ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ (hydroponics) สามารถควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น ปริมาณน้ำ ปุ๋ย ความชื้น อุณหภูมิ และย่านแสง RGB ได้ตามเงื่อนไขของการทดลอง ซึ่งทำให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยการเก็บข้อมูลจากระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เรียนรู้ทักษะการเขียนโปรแกรม การนำเซ็นเซอร์ชนิดต่าง ๆ มาตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้เข้าใจถึงประโยชน์และวิธีการในการนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมสร้างธุรกิจในชุมชน และช่วยกระตุ้นให้นักเรียนคุ้นเคยที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำการเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) ตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในเกษตรสมัยใหม่ นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเกษตรในระยะยาว

ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านอื่น ๆ

รถเข็นสระผม รุ่นที่ 2 (Mobile Salon V.2)

ดร.ฉัตรชัย จันทร์เด่นดวง และคณะจากทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค ร่วมมือกับสถาบันประสาทวิทยาในการทดสอบการใช้งานรถเข็นสระผม เพื่อใช้กับผู้ป่วยในสถาบันประสาทวิทยา สิ่งประดิษฐ์นี้ช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในการสระผมผู้ป่วยติดเตียง รถเข็นสระผม รุ่นที่ 1 ได้ผ่านการทดสอบการใช้งานกับผู้ป่วยจำนวนกว่า 100 คน และได้พัฒนาต่อเป็นรุ่นที่ 2 ทั้งนี้ เอ็มเทค และสถาบันประสาทวิทยามีแนวทางต่อยอดการวิจัยพัฒนาผลิตเป็นต้นแบบนวัตกรรมพร้อมใช้งานในเชิงพาณิชย์ต่อไป

เอ็มเทคกับการต้อนรับแขกคนสำคัญ

เมื่อวันที่ 7–8 ตุลาคม 2563 เอ็มเทคได้จัดนิทรรศการเพื่อต้อนรับการเยี่ยมชมจากคณะผู้ประกอบการในโครงการ Smart Innovation Entrepreneur in Medical Engineering Industry มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร. จินตมัย สุวรรณประทีป ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลผลงานวิจัย