835 Views
นายพสุ โลหารชุน

นายพสุ โลหารชุน

ประธานกรรมการบริหาร
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

นับเป็นเวลาราวสองปีแล้วที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องประสบกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ต้องปรับตัวในรูปแบบต่างๆ เกิดเป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ดังตัวอย่างที่พวกเราคุ้นเคยกัน เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ในการทำงานมากยิ่งขึ้น และการปรับรูปแบบหรือพฤติกรรมการบริโภค  ในส่วนของภาคการผลิตและบริการก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตและการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โดยต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการพึ่งพาวัตถุดิบจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงแห่งเดียว ในขณะที่ธุรกิจบางประเภทอาจเกิดความต้องการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพและการป้องกันโรคระบาด 

เอ็มเทคซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีวัสดุ การออกแบบและการผลิตที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการปรับแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาผลงานที่ช่วยสนับสนุนการรับมือกับโรคระบาดทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น PETE (พีท) เปลปกป้อง-เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” และรถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วย (RT-Wheelchair) รวมทั้งปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้สามารถส่งมอบผลงานตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ประเด็นการรักษาสุขภาพและการป้องกันโรคระบาดได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในรูปผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น ตามมาด้วยการสร้างขยะในปริมาณมาก ในขณะเดียวกันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็มิได้แผ่วลง แต่กลับเร่งให้มีการเรียกร้องการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ในต่างประเทศยังคงเดินหน้าเตรียมการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิกฤติโรคระบาดบรรเทาลงหรือเริ่มจางหายไปแล้ว มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมย่อมทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เอ็มเทคจึงได้ติดตามความเคลื่อนไหวการจัดทำมาตรฐานและมาตรการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EU Green Deal,  ISO 59020 “Measuring and assessing circularity” เป็นต้น และวางแผนเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย 

นอกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เอ็มเทคยังวางแผนพัฒนางานวิจัยที่ตอบสนองการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ ตลอดจนวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ในด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยระบบอัตโนมัติ  กระบวนการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ (additive manufacturing) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการการผลิตและสินค้าคงคลัง การสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม การดูแลผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและบริการ และกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริง และสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ