687 Views

นายจุลเทพ ขจรไชยกูล


ผู้อํานวยการ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การสร้างนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้ป่วยและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคมีความสำคัญเร่งด่วน การกำหนดโจทย์วิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต้องอาศัยการวางแผนร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างนักวิจัยผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และหน่วยงานที่ดูแลกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง จึงจะทำให้ต้นแบบที่พัฒนาขึ้นสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และส่งมอบแก่ผู้ใช้งานได้อย่างตรงตามความคาดหวัง  ผลงานของเอ็มเทคที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น PETE (พีท) เปลปกป้อง-เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย   รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” และรถเข็นเอกซเรย์ปรับนอน-นั่งสำหรับผู้ป่วย (RT-Wheelchair) ล้วนมีการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว อันเป็นแนวทางการบริหารจัดการงานวิจัยของเอ็มเทคที่มุ่งเน้นการสร้างผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลได้ประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็นวาระแห่งชาติในเดือนมกราคม 2564  เอ็มเทคจึงตอบสนองโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยวางแผนบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบ ออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งมุ่งเน้นหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ (1) การลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (2) การคงคุณค่าวัสดุ และ (3) การนำกลับคืนส่วนที่ใช้ไม่ได้และส่วนเหลือใช้  เทคโนโลยีวัสดุมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นทางคือ การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ตลอดจน การส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การออกแบบเพื่อให้สามารถแยกชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ได้โดยง่าย การพัฒนาและเลือกใช้วัสดุที่เข้ากันได้กับระบบจัดการ และการเลือกใช้สารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบรีไซเคิลและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

กระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว หลายครั้งได้ล้มล้างสิ่งที่มีอยู่เดิม (disruption) เอ็มเทคได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยใช้การบริหารจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เอ็มเทคมุ่งสร้างความเข้มแข็งทางด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบเชิงวิศวกรรมในสาขาที่สำคัญ เป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อยอดและเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น เพื่อตอบโจทย์หรือช่วยแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน การผลิตที่ยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดี  เอ็มเทคตระหนักดีว่าความร่วมมือเชื่อมโยงระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดที่จะสร้างพลังในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จในที่สุด เอ็มเทคจึงมุ่งเน้นการวางแผนงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับพันธมิตร เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายหรือคุณลักษณะของผลผลิตจากการวิจัยที่ชัดเจนและตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์จริง