บริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด

2,219 Views

บริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพื้นสำเร็จรูป และเป็นกลุ่มธุรกิจต่อเนื่องในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) (ไทยเบฟ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร  โดยมีโรงงานในกลุ่มอาหารและสุราจำนวน 18 โรงงาน ซึ่งยังไม่รวมโรงงานในเครือเสริมสุข บริษัทฯ ให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่  เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ในแต่ละปีมีของเสียจากกระบวนการผลิตในปริมาณมาก บริษัทฯ จึงมีนโยบายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด และพัฒนาของเสียดังกล่าวให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืน  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพึงพอใจ และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม

คุณอัญชลี อัจจิมาธร รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด ผู้ดูแลภาพรวมเรื่องของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของบริษัทในเครือไทยเบฟ กล่าวถึงโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมนี้ว่า “ไทยเบฟเล็งเห็นว่าเรื่องของเสียยังมีคนทำน้อย และต้องการทราบว่าจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ (downstream) ได้อย่างไร จึงได้ส่งบุคลากรของบริษัทฯ เข้าร่วมอบรมและหาความรู้เพิ่มเติมในโครงการของ สวทช. ในแต่ละปีไทยเบฟมีกากข้าวมอลต์ที่เป็นของเหลือจากโรงงานผลิตเบียร์ในปริมาณมาก พบว่าเราสามารถนำมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าเพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอาหารสัตว์และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบได้ ส่วนขี้เถ้าปริมาณมากที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของโรงงานสุราจำนวน 18 โรงงาน ก็มีโรงงานที่บางยี่ขันเพียงแห่งเดียวที่ลงทุนไปมากเรื่องระบบเผาเถ้า แต่ขี้เถ้าก็ยังคงเป็นของเสียที่ยังไม่ถูกพัฒนาต่อ”

คุณอัญชลี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกับเอ็มเทคว่า “บริษัทฯ ได้ค้นหาแนวทางการนำขี้เถ้าไปใช้ประโยชน์ ซึ่งมีข้อมูลค่อนข้างมาก จนกระทั่งมาพบและเลือกใช้งานวิจัยวัสดุมวลเบาสังเคราะห์จากของเสียอุตสาหกรรมของเอ็มเทค ซึ่งพัฒนาโดย ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล และเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นของ สวทช. บริษัทฯ จึงได้ขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และได้ต่อยอดไปสู่การสร้างโรงงานผลิตจริงที่มีมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ซึ่งไทยเบฟเองก็ยังไม่เคยลงทุนวิจัยผลิตภัณฑ์ด้วยเงินทุนที่สูงขนาดนี้ ก็ต้องขอบคุณผู้บริหารไทยเบฟที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยและการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นับเป็นความท้าทายทั้งระบบจากของที่ไม่มีเป็นของที่ต้องมี และจะพัฒนาไปได้มากกว่านั้น นับเป็นการก้าวกระโดดที่เอ็มเทคได้ช่วยเหลือดูแลเราด้วยดีมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลานานกว่า 4 ปีแล้ว” 

คุณอัญชลี กล่าวถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ และการเตรียมความพร้อมเพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างโรงงานผลิตจริงว่า “ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ หนึ่ง-ต้องเริ่มจากความเชื่อว่างานวิจัยนี้จะมีความสมบูรณ์แบบและสามารถรองรับผลิตภัณฑ์สีเขียวได้  สอง-ต้องเปลี่ยนนิยามและวิสัยทัศน์ใหม่ว่าจะทำผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม และ สาม-ต้องเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องจักรและบุคลากรที่จะมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากทีมเอ็มเทคที่ให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด”

คุณอัญชลีมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นและทำให้ผู้บริหารเห็นชอบในการลงทุน ได้ให้แนวคิดในเรื่องนี้ว่า “ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ แล้วมัวแต่เรียนรู้ทฤษฎีโดยไม่ลงมือปฎิบัติจริง เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า วิสัยทัศน์ที่เราจะไปนั้นจะไปได้จริงตามที่ DJSI (ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์) บอกหรือไม่ เราเป็นบริษัทใหญ่จึงต้องเริ่มให้เร็ว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้กล้าดำเนินการและพร้อมรับผลที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ต้องขอขอบคุณคุณโฆสิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่องของไทยเบฟที่ให้โอกาสและช่วยเหลือจนสามารถดำเนินโครงการที่ต่อยอดไปสู่การผลิตจริงได้สำเร็จ”

“การทำโครงการนี้ทำให้เราสามารถสร้างทีมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมขึ้นมาได้สำเร็จ ทั้งยังก้าวหน้าไปอีกขั้น คือสามารถสร้างฐานข้อมูลของเสีย (waste database) สำหรับดูแลข้อมูลให้กับบริษัททั้งหมดในเครือไทยเบฟ”

“ปัจจุบันบริษัทฯ สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากเอ็มเทค ในการนำไปผลิตเป็นวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ หรือ หินเบา ในระดับอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ “Green Rock” ซึ่งสามารถตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในการเพิ่มคุณสมบัติทางด้านความเป็นฉนวนความร้อน มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงความแข็งแรงเทียบเท่ามาตรฐานการใช้งาน โดยวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสม “Green Rock” นี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผนังสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกมวลเบาหรือหินเทียม เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างในด้านการใช้แรงงานน้อยลง การเก็บเสียงได้ดี การลดอุณหภูมิภายในบ้าน ช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟ และยังเป็นการตอบโจทย์นวัตกรรมสีเขียวด้านที่อยู่อาศัยอีกด้วย”

คุณอัญชลี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอขอบคุณผู้บริหารของ สวทช. และเอ็มเทค ทีมวิจัยและทีมงานสนับสนุนที่ให้การช่วยเหลือดูแลมาโดยตลอด ถือเป็นการร่วมงานที่สมบูรณ์แบบมาก” และ “ในฐานะที่ สวทช. เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้าน BCG ก็อยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ผลงาน Green Rock ให้เป็นที่รู้จักและรับรู้มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสีเขียว และช่วยผลักดันกระบวนการขึ้นบัญชีนวัตกรรมของผลงานให้ใช้เวลาสั้นลงและมีเครื่องมือช่วย โดยบริษัทฯ ยินดีที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว”