985 Views

เอ็มเทคดำเนินงานตามพันธกิจในทิศทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฉบับที่ 6 (ปีงบประมาณ 2560-2564) ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนงานระดับประเทศ เช่น “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG”  เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” เพื่อสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขบรรเทาปัญหาหรือพัฒนากิจการ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม 

งานวิจัยของเอ็มเทค ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีฐานด้านเทคโนโลยีวัสดุ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถ ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การสร้างองค์ความรู้ใหม่จากหลายศาสตร์ ตลอดจนการวิจัยเพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ

กลไกการดำเนินงาน

เอ็มเทคพัฒนากลไกการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และการส่งมอบ (Technology/Research S-curves) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารงานวิจัย การจัดสรรทรัพยากร และวางแผนการทำงาน เอ็มเทคมุ่งเน้นการวางแผนงานวิจัยที่ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแก้ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

เอ็มเทคส่งมอบผลผลิต (output) จากการวิจัยในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ บทความ ต้นแบบ และทรัพย์สินทางปัญญา ต่อยอดไปสู่ผลลัพธ์ (outcome) คือ การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี การรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย อันนำไปสู่การสร้างผลกระทบ (impact) และการลงทุน (invest) ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและบริการทางวิศวกรรม ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม และเกษตรกรรม 

แผนภาพแสดงการทำงานอย่างเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการส่งมอบผลงานที่มีความร้อยเรียงในมิติ
Output-Outcome-Impact (O-O-I coherence)

ตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา บริบทโลกและบริบทประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุบัติขึ้นของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยมีความไม่แน่นอนสูงมาก นอกจากนี้ การปฏิรูปด้านงบประมาณ โดยจัดสรรงบประมาณผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) แทนการจัดสรรโดยตรงจากสำนักงบประมาณ ยังเป็นความท้าทายของเอ็มเทคในการปรับตัวเพื่อการพัฒนากระบวนการบริหารการวิจัยให้สอดรับกับแหล่งเงินภายนอก และระบบงบประมาณวิจัยของประเทศ เอ็มเทคมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมกับพันธมิตรเป้าหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย และสร้างโอกาสในการขอสนับสนุนงบประมาณวิจัยในลักษณะโครงการขนาดใหญ่จากแหล่งทุนต่างๆ พร้อมทั้งปรับกระบวนการบริหารภายใน โดยเฉพาะการปรับกลไกการสนับสนุนกระบวนการบริหารงานวิจัยเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว