บริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด

17,569 Views

บริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก และเป็นผู้ริเริ่มนำแป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นสินค้าสำคัญทางการเกษตรมาดัดแปรโดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลัง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร กระดาษ สิ่งทอ กาว อาคารและสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้กว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดัดแปรมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของบริษัทฯ และกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดถูกส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ บริษัทฯ มีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรรวมทั้งหมด 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ โดยมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 400,000 ตันต่อปี ส่งผลให้บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ดร.ศิวรัตน์ บุญยรัตกลิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม บริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด กล่าวถึงเรื่องแนวนโยบายด้านงานวิจัยของบริษัทฯ ว่า “บริษัทฯ มี core value อยู่ที่นวัตกรรมจึงทำให้บริษัทฯ มีสิ่งที่แตกต่างจากบริษัทผู้ผลิตแป้งทั่วไป บริษัทฯ มีทีมวิจัยที่สร้างขึ้นมานานแล้วตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของ ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา กรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ที่ได้สร้างและสนับสนุนทีมวิจัยมาโดยตลอด และมีหลายครั้งที่พิสูจน์แล้วว่าผลงานของทีมวิจัยทำให้ลูกค้ามีความสนใจซื้อสินค้าจากบริษัทฯ”

ดร.ศิวรัตน์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทฯ เห็นความสำคัญในงานวิจัยด้านเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช(thermoplastic starch) ว่า “บริษัทฯ มีแนวคิดหลักอ้างอิงเรื่อง BCG (Bio Circular Green Economy) และเห็นถึงปัญหาของขยะพลาสติก เชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ใช้แป้งเป็นหลัก โดยแป้งมาจากต้นไม้ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จัดเป็น Circular economy ส่วนที่ผลิตมาจากต้นไม้ก็เป็น Green และ Bio อยู่แล้ว”

“โพลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable polymer) เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การใช้พลาสติกยั่งยืนมากขึ้น ถ้าพิจารณาตัวเลขขนาดของตลาดโพลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเทียบกับพลาสติกทั่วโลกจะอยู่ที่ 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มตัวเลขนี้ขึ้นได้”

 

“เนื่องจากโพลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ใช้กันอยู่ เช่น PLA, PBAT, PHA, PBS ยังมีราคาแพง บริษัทฯ จึงมีแนวคิดที่จะทำให้ราคาของโพลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพถูกลง โดยการผสมเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชซึ่งมีราคาต่ำลงในโพลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนหันมาใช้โพลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้น เป็นโอกาสทำให้โลกนี้ยั่งยืนมากขึ้นด้วย”

บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับเอ็มเทคดำเนินงานวิจัยและพัฒนาต้นแบบเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชและโพลิเมอร์ผสมระหว่างโพลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชด้วยเทคนิคการอัดรีดแบบสกรูคู่ 

ดร.ศิวรัตน์ เล่าถึงสาเหตุที่บริษัทฯ เลือกดำเนินงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับเอ็มเทคว่า “บริษัทฯ ทราบว่าเอ็มเทคมีผู้เชี่ยวชาญและมีเครื่องมือระดับนำร่อง (pilot scale) ซึ่งช่วงเริ่มต้นของการทำโครงการ บริษัทฯ ต้องทำการประเมินความเสี่ยงและวางแผนงานต่างๆ ยังไม่สามารถลงทุนอะไรได้มาก ต้องขอให้เอ็มเทคและภาครัฐช่วยเหลือก่อน หลังจากนั้นจึงสามารถต่อยอดพัฒนาและลงทุนเพิ่มขึ้นได้ตามความสำเร็จที่มากขึ้นเรื่อยๆ”

ดร.ศิวรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในด้านเครื่องมือของเอ็มเทค ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทฯ ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ส่วนทักษะถือเป็นส่วนสำคัญหลัก เมื่อเกิดเป็นความร่วมมือกับทีมวิจัยของบริษัทฯ ถือว่าเป็นการผสมผสานที่ดีมาก”

“หลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้น บริษัทฯ ได้นำองค์ความรู้พื้นฐานและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทค ซึ่งมีประโยชน์มากมาพัฒนาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม และสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ TAPIOPLAST® series”

บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากในรูปแบบที่เรียกว่า ผงเพิ่มความหนืด (thickening powder) เพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากและผู้สูงอายุที่มีปริมาณมากขึ้น จึงได้ร่วมมือกับเอ็มเทคดำเนินงานวิจัยและพัฒนาของผสมฐานมอลโตเดกซ์ตริน ที่สามารถใช้เป็นสารเพิ่มความหนืดเพื่อปรับความหนืดของอาหารสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก

ดร.ศิวรัตน์ กล่าวว่า “ภายหลังงานวิจัยเสร็จสิ้น บริษัทฯ ได้จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนากระบวนการผลิตตมมาตรฐานสากล ภายใต้ชื่อ HI-PERSE™ CLEAR ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ”

“ถือว่ามีความสำเร็จในขั้นต้น โดยพบว่า ผลิตภัณฑ์สามารถใช้งานได้ดี แต่เนื่องจากผงเพิ่มความหนืดจัดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯ ในด้านผู้สูงอายุและอาหารทางการแพทย์ในไทยยังต้องอาศัยเวลาและมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องทำให้สำเร็จ การเข้าหาและทำงานร่วมกับโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องใหม่ที่บริษัทฯ ต้องศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ซึ่งต้องจัดทีมงานที่มีความรู้โดยเฉพาะเพื่อดำเนินการในเรื่องเหล่านี้”

ดร.ศิวรัตน์ กล่าวถึงการดำเนินงานร่วมกับเอ็มเทคและผลที่ได้รับจากงานวิจัยทั้งสองโครงการว่า “บริษัทฯ มีความพอใจในระดับมากที่สุด ทีมวิจัยเอ็มเทคสามารถดำเนินงานและส่งมอบงานได้ตามเป้าหมาย มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และยังให้การช่วยเหลือต่างๆ มากกว่าแผนที่วางไว้ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะดำเนินงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทคอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยต่างๆ ต่อไปอีกด้วย”

ดร.ศิวรัตน์ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่เอ็มเทคว่า “อยากให้เอ็มเทคมีเครื่องมือระดับนำร่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการสำหรับพัฒนาสินค้าได้หลากหลายขึ้น”