กรวยกั้นจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก

1,321 Views

> ต้นแบบสาธาณประโยชน์​

โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ในส่วนของยางพาราหรือยางธรรมชาติซึ่งเป็นวัสดุสีเขียว (green material) และเป็นผลผลิตที่สำคัญก็มีนโยบายส่งเสริมการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ในงานวิจัยและพัฒนาชิ้นนี้ ทีมวิจัยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาต้นแบบกรวยกั้นจราจรที่ผลิตจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (thermoplastic natural rubber traffic cones หรือ TPNR traffic cones) และมีการถ่ายทอดต้นแบบดังกล่าวในระดับอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมกรรมวิธีการเตรียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกด้วย 

ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) เป็นโพลิเมอร์ที่ได้จากการผสมยางธรรมชาติและพลาสติกเข้าด้วยกันในเครื่องผสม ซึ่งในงานวิจัยนี้คือ เครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่ในระดับอุตสาหกรรม (industrial-scale twin screw extruder) โดยใช้เทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชัน (dynamic vulcanization) วัตถุดิบ TPNR ที่ได้มีสมบัติคล้ายยางแต่สามารถขึ้นรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) 

กรวยกั้นจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่ผลิตขึ้นได้ผ่านการทดสอบสมบัติต่าง ๆ และการใช้งานจริงเบื้องต้น (รูปที่ 2) เอ็มเทคถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ บริษัท ธนัทธร จำกัด ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 บริษัทฯ ได้ดำเนินการผลิตในระดับอุตสาหกรรมและจัดจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (รูปที่ 3) กรวยกั้นจราจรที่ได้มีความทนทานต่อการฉีกขาด และความทนทานต่อการแตกหักสูงเหมือนยาง ในขณะที่ขึ้นรูปได้สะดวก รวดเร็ว แกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ฉีดได้ง่าย ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และเกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยลง ประเด็นสำคัญคือ กรวยกั้นจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกจากงานวิจัยนี้มีสมบัติแตกต่างจากกรวยกั้นจราจรที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้แก่บริษัท และเพิ่มปริมาณการใช้งานยางธรรมชาติในประเทศอีกด้วย

ทีมวิจัย

ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ และนายธงศักดิ์ แก้วประกอบ