การดำเนินงานด้านมาตรฐาน

เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านมาตรฐาน โดยมีส่วนร่วมกับสถาบันต่างๆ ในการกำหนดมาตรฐาน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และบริการมาตรฐานให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลในการลดอุปสรรคการกีดกันทางการค้าจากมาตรการด้านมาตรฐาน 

การมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน

เอ็มเทคมีบุคลากรสายวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ จึงได้รับความไว้วางใจจากสถาบันต่างๆ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการมาตรฐาน (ISO) เป็นต้น ที่ผ่านมาเอ็มเทคมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นร่างมาตรฐานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ ได้รับเชิญร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการร่วมให้ข้อคิดเห็นในร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดังนี้

  • มอก. 2721-2560 : มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อสูบลม ข้อกำหนดด้านเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก และความต้านทานการหมุน ทีมวิจัยมีส่วนร่วมในการพิจารณาการยกเว้นการบังคับใช้ค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนและค่าของเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนนของยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง กลุ่ม C3 Bias
  • มอก.3224 เล่ม 2 : มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อตัน เล่ม 2 ทีมวิจัยมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเชิงเทคนิค การตีความ การนิยามคำศัพท์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งมาตรฐานนี้กำหนดคำศัพท์ที่เกี่ยวกับยางล้อตันที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ รวมถึงรหัส สัญลักษณ์ และค่าที่เกี่ยวข้อง
  • ISO 4349-1 : 1985 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อและวงล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (การออกแบบชุดรหัส) เล่ม 1 ยางล้อ
  • ISO 4349-2 : 1990 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อและวงล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (การออกแบบชุดรหัส) เล่ม 2 อัตราโหลดยางล้อ
  • ISO 4349-3 : 2010 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อและวงล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (การออกแบบชุดรหัส) เล่ม 3 วงล้อ

สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อและวงล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ ทีมวิจัยมีส่วนร่วมในการออกแบบชุดรหัสยางล้อ โหลดยางล้อ และวงล้อ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์และผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเข้าใจรหัสเหล่านี้ก่อนเลือกซื้อหรือผลิตยางล้อออกมาให้กลุ่มผู้ใช้งาน โดยรหัสของยางล้อจะถูกระบุเอาไว้ตรงแก้มยาง การเลือกยางล้อรถจักรยานยนต์ จึงควรศึกษารหัสที่ระบุไว้ให้ดีเพื่อสมรรถนะการขับเคลื่อนที่ลื่นไหล เพราะรหัสบนยางล้อนั้นจะเป็นตัวบอกว่ายางเส้นหนึ่งๆ มีขนาดหน้ากว้างและขนาดวงล้อเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์เลือกใช้ยางที่เหมาะสม มีมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งสมรรถนะและความปลอดภัยผ่านเครื่องหมาย มอก. และผู้ประกอบการจะต้องผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยานยนต์ให้ได้ตามมาตรฐาน สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานที่เทียบเท่าระดับสากลและสร้างโอกาสทางการตลาด

  • ข้อกำหนดฉลากเขียวสำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์ (ผู้ผลิตต้องผ่านในการยื่นขอใช้เครื่องหมายฉลากเขียว) โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทีมวิจัยมีส่วนร่วมในการร่างข้อกำหนดฉลากเขียว ปัจจุบันมาตรฐานยานยนต์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ครอบคลุมเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เกณฑ์การปล่อยแก๊ส CO2 ของเครื่องยนต์ที่สร้างมลภาวะและทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประสงค์จะใช้เครื่องหมายฉลากเขียว จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพของยานยนต์ให้มีเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีหรือการปล่อยแก๊ส CO2 ตามปริมาณที่กำหนด ข้อดีของการมีฉลากเขียวติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ คือ เป็นเครื่องหมายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้อถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ส่วนผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะได้รับผลประโยชน์ในแง่กําไร เนื่องจากมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้น ผลักดันให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนในด้านเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนและส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองในระยะยาว ฉลากเขียวจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านการผลิตของผู้ผลิตและการบริโภคของประชาชน

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ