สารจากประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
เมื่อโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประเทศต่างๆ ล้วนเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการแข่งขันภายใต้บริบทใหม่ โดยเฉพาะวิถีความปกติใหม่ (new normal) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ (sustainable development growth; SDG) ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เอ็มเทคในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยมุ่งดำเนินการตามภารกิจหลักด้านการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการถึงขั้นโรงงานต้นแบบ ทั้งในด้านการสร้างความสามารถและศักยภาพในสาขาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและการนำไปใช้ประโยชน์ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (change management) โดยเฉพาะการออกแบบกระบวนการดำเนินงาน (process) ให้มีการรับโจทย์จากภาคการผลิตให้มากขึ้น และการเชื่อมโยงผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในภาคการผลิต เพื่อนำไปสู่การสร้างผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact) ที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอกจะรวดเร็วและรุนแรงเพียงใด งานด้านวัสดุศาสตร์ยังคงเป็นที่ต้องการและมีความสำคัญสำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนและหมุนเวียนได้ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัย เอ็มเทคจะต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาการผลิตและการพัฒนานวัตกรรม
เพื่อแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งเอ็มเทคได้กำหนดทิศทางในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นประโยชน์สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง
ดร.พสุ โลหารชุน
ประธานกรรมการบริหาร