แผนการดำเนินงานสำคัญ Circular Economy

เอ็มเทค กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 รูปแบบไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)  โมเดลนี้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เอ็มเทคตระหนักถึงความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับความรู้ความชำนาญของเอ็มเทค จึงได้ร่วมกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมยึดโยงกับเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งใช้ทรัพยากรในการผลิตสิ่งต่างๆ และเมื่อใช้ประโยชน์แล้วก็จะทิ้งเป็นของเสีย แนวทางนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของสังคม เช่น เกิดขยะที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สารอันตรายจากของเสียหลุดลอดสู่สิ่งแวดล้อม และในอนาคตมีโอกาสที่จะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด

หากประเทศไทยปรับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยยึดหลักการ 6 มิติที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ คิดให้รอบด้าน (systems thinking), สร้างคุณค่า (value creation), แบ่งปันคุณค่า (value sharing), คำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากร (resource availability focus), ตามติดทรัพยากรที่นำมาใช้ (resource traceability) และปกป้องและฟื้นฟู (ecosystem resilience) ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

บทบาทของเอ็มเทคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่

  1. สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เร่งเพิ่มพูนทักษะในการออกแบบ และพัฒนาโซลูชันให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น
  • โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
  • โครงการ “การสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคี ด้านการออกแบบเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน De4CE และกลไกการประเมินพลาสติกหลังการใช้งาน”
  1. สร้างปัจจัยเกื้อหนุนและเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น
  • การศึกษาวิธีการประเมินปริมาณขยะอาหารในระดับครัวเรือนที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนเมือง
  • การประเมินความสูญเสียอาหารผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันเพื่อหามาตรการลดความสูญเสียโดยตลอดห่วงโซ่คุณค่าและรายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อที่ 3.1
  1. ร่วมกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่จำเป็นเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยการทำงานเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญ เช่น
  • กรรมการวิชาการร่วมจัดทำมาตรฐาน ISO/TC 323: Circular economy, IEC/TC 111: Environmental standardization
  • กรรมการวิชาการของ สมอ. คณะอนุกรรมการวิชาการ คณะที่ 14 มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน, คณะกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 73 การมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • อนุกรรมการอนุสัญญาสตอกโฮล์ม และอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล
  1. สนับสนุน/ผลักดันการกำหนดนโยบายระดับประเทศบนพื้นฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ เช่น
  • การจัดทำทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs Inventory) ของประเทศ ฉบับที่ 2 และ (ร่าง) แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 2
  • โครงการการพัฒนาเทคนิคการทดสอบเพื่อคัดกรอง PCBs, PCNs, SCCPs และ Phthalates ในน้ำมัน สี และพลาสติกเนื้อนิ่ม
  1. สนับสนุน/ผลักดันการกำหนดนโยบายระดับภูมิภาค เช่น
  • โครงการความร่วมมือเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP-SEA: Collaborative Action for Single-Use Plastic Prevention in Southeast Asia)
  1. ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การสร้างโซลูชันรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ปัจจุบันดำเนินการในขั้นตอนออกแบบต้นทาง        ขั้นตอนกระบวนการผลิต และการนำวัสดุและทรัพยากรหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

 

mtec-logo

ตัวอย่างผลงานสำคัญของเอ็มเทคในปีงบประมาณ 2565 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

มีดังนี้:

Circular Economy Talk: ส่องความก้าวหน้าสู่ CE ผ่านการประเมิน Circularity Performance ในงาน NAC2022

       เอ็มเทคจัดการเสวนาออนไลน์เพื่อร่วมค้นหาคำตอบในประเด็น Circularity performance สำคัญไฉน? จะประเมินได้อย่างไร ตัวชี้วัด Circularity ที่ดีควรมีหน้าตาและลักษณะอย่างไร มีกลไกและหน่วยงานใดบ้าง ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมั่นใจ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีผู้เข้าสนใจเข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 200 คน

การเสวนาออนไลน์ ในงาน NAC2022 วันที่ 30 มีนาคม 2565
กิจกรรม “Food waste” กับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

     เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อให้แนวคิดและแนวทางการประเมินขยะอาหาร การเก็บข้อมูลในเชิงปริมาณเพื่อติดตามปริมาณขยะอาหาร รวมถึงข้อเสนอแนะ ให้กับครูวิทยาศาสตร์ และครูแนะแนว ฯลฯ ภายในอำเภอคลองหลวง เพื่อสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมในการลดการสูญเสียอาหารที่เหลือจากการบริโภค และลดปริมาณขยะอาหารที่ต้องฝังกลบ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 คน

กิจกรรมออนไลน์ ในงาน NAC2022 วันที่ 31 มีนาคม 2565
วิดีโอ
โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

       เอ็มเทคร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำการออกแบบไปใช้ในการสร้างโซลูชันใหม่ๆ ที่รองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน

การเสวนาออนไลน์ ในวันที่ 22 เมษายน 2565

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ