แผนการดำเนินงานสำคัญ Health and Wellness

เอ็มเทค กับงานด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Wellness)

สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป็นเป้าหมายที่ 3 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ เป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ต้องการให้บรรลุได้ภายในปี ค.ศ. 2030 เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 จากการประเมินของ Global Wellness Institute

          นอกจากนี้ ประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก เอ็มเทคตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงมีการดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างจริงจัง เป็นหนึ่งในห้าแนวทางการวิจัยของเอ็มเทคที่อิงตามกลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์จากผลผลิตงานวิจัย หรือ Domains of Utilization  

งานของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติที่ตอบสนองการใช้ประโยชน์ด้านการเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (health & wellness) จำแนกได้ 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

  1. ระบบ/อุปกรณ์ดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้พิการ: การผนวกความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ การออกแบบเชิงวิศวกรรม และแนวคิดการออกแบบ human-centric design ไปสู่การพัฒนาระบบและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน และสำหรับผู้ดูแลเพื่อช่วยผ่อนแรงในการปฏิบัติงาน มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน รวมทั้งเหมาะสมกับสรีระและวิถีการดำรงชีวิตของประชากรไทย
  2. กายอุปกรณ์ขึ้นรูปด้วยการพิมพ์ 3 มิติ: พัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการสังเคราะห์วัสดุ เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ชีวกลศาสตร์ การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ และการออกแบบอุปกรณ์เครื่องกลพร้อมระบบควบคุม ในการพัฒนากายอุปกรณ์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดความเสี่ยง/บรรเทาความรุนแรงจากอุบัติเหตุในการใช้ชีวิตประจำวัน
  3. วัสดุทดแทน/ซ่อมเสริมกระดูก: พัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการสังเคราะห์วัสดุ การออกแบบโครงสร้างและการขึ้นรูปแบบเฉพาะตัว Additive manufacturing (Inkjet, DLP) การห่อหุ้มและการนำส่งเซลล์ การนำส่งยา และวิศวกรรมเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้วัสดุที่มีสมบัติ รูปร่าง หรือโครงร่างที่ช่วยในการเจริญ เติบโตของเซลล์และเนื้อเยื่อ
  4. อาหารเฉพาะกลุ่ม และอาหารผู้ป่วยและผู้สูงอายุ: พัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านรีโอโลยี การออกแบบโครงสร้างของอาหาร และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างเนื้อสัมผัสอาหารและกระบวนการย่อย ในการพัฒนาสารเติมแต่งหรือสารทดแทนในอาหารพร้อมการปรับเนื้อสัมผัส เพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษตามต้องการ เช่น ไร้กลูเตน ไร้ไขมัน โซเดียมต่ำ ไนเตรตต่ำ หรืออาหารที่เคี้ยวกลืนง่ายสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย โดยที่ผู้บริโภคยังคงได้รับอรรถรสในการรับประทานดังเดิม
  5. ตัวอย่างผลงานสำคัญของเอ็มเทคในปีงบประมาณ 2565 ทางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีดังนี้

เปลความดันลบ (PETE) สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ และเต็นท์ความดันลบไฮพีท (HI PETE) สำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อและกักตัวที่บ้าน

PETE เปลปกป้อง นวัตกรรมเปลความดันลบ ใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค มีประสิทธิภาพการกรองเชื้อ 99.995% จัดเก็บง่าย สามารถใช้งานบนรถพยาบาลและนำผู้ป่วยเข้าตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่อง CT scan ได้ มีช่องสำหรับทำหัตถการและใส่สายเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยหนัก ผลิตด้วยวัสดุและอะไหล่ที่หาได้ในประเทศ ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์ และได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว

HI PETE เต็นท์ความดันลบ สำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อและกักตัวที่บ้าน เป็นงานพัฒนาต่อยอดจากผลงานเปลความดันลบ เพื่อแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติใหม่ด้านสาธารณสุขในการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 โดยกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่มากให้เปลี่ยนไปรักษาตัวที่บ้าน หรือในชุมชนแทนการรักษาตัวในโรงพยาบาลตามเดิม มีเต็นท์ 3 รุ่น คือ รุ่นคอมแพ็ค รุ่นบอลลูน และรุ่นแกรนเด  สามารถใช้งานได้ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล ทุกรุ่นใช้กล่องระบบความดันลบแบบเดียวกันเพื่อให้ควบคุมต้นทุนได้ มีประสิทธิภาพความดันลบ อัตราการแลกเปลี่ยนอากาศ และประสิทธิภาพการกรองเชื้อเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ รวมทั้งผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้าแล้ว

RT Wheelchair รถเข็นนั่งปรับนอนสำหรับการถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วย

RT Wheelchair ช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนที่ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เป็นผลงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร และ สวทช. จากรถเข็นต้นแบบที่ได้จากการวิจัยพัฒนาที่ผ่านมา ได้รับการปรับปรุงให้มีรูปลักษณ์และการทำงานที่ดีขึ้น สอดรับกับความต้องการของผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้รองรับร่างกาย เพิ่มระบบกลไกปรับพนักพิงนอน-นั่ง ขึ้น-ลง ปรับระบบขับเคลื่อนให้เลี้ยววงแคบได้ และเลี้ยวได้อย่างอิสระ ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้งานผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 และความเข้ากันได้ทางไฟฟ้า รวมทั้งทำการทดสอบทางคลินิกที่โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำข้อมูลจากการใช้จริงไปพัฒนาต่อในอนาคต

กายอุปกรณ์เสริมเฉพาะบุคคลที่ขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ

เอ็มเทคยังพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย ได้แก่ แผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคล  และอุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังสำหรับผู้ป่วยกระดูกสันหลังคด ช่วยรักษาและปรับแก้ไขการผิดรูปของฝ่าเท้าและกระดูกสันหลังที่มีผลต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลนี้เป็นกายอุปกรณ์ที่มีความต้องการใช้งานสูงสุดเนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานมากสุดในแต่ละวัน งานวิจัยอยู่ในขั้นตอนการขยายการใช้งานแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลที่ขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติให้แพร่หลายขึ้น พัฒนาแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับถ่ายภาพเท้าเพื่อสร้างโมเดลสามมิติ และพัฒนาการขึ้นรูปอุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังด้วยการพิมพ์สามมิติ

ต้นแบบอุปกรณ์ Flow Tester และ Fork Tester ตามมาตรฐาน IDDSI สำหรับใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาลและหน่วยงานนำร่อง

ปัญหาภาวะกลืนลำบากมีสาเหตุมาจากการเสื่อมถอยของอวัยวะภายในช่องปาก หรือโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งที่คอหรือช่องปาก พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ สมองฝ่อ หรือหลอดเลือดสมอง แนวทางหนึ่งในการดูแลคือเลือกเครื่องดื่มที่มีความข้นหนืดและอาหารที่มีการปรับเนื้อสัมผัสให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเพื่อลดโอกาสการสำลัก ซึ่งอาหารอาจจะไปติดที่บริเวณคอหอยและเข้าไปในหลอดลมเกิดปอดติดเชื้อตามมาได้

เอ็มเทคได้พัฒนาเครื่องทดสอบเครื่องดื่มและอาหารสำหรับผู้มีปัญหาภาวะกลืนลำบาก ใช้ตรวจสอบความข้นหนืดของเครื่องดื่มและเนื้อสัมผัสของอาหารตามมาตรฐาน IDDSI (International Dysphagia Diet Standardisation Initiative) เพื่อเลือกเครื่องดื่มและอาหารให้เหมาะสมกับความสามารถในการกลืนของผู้ป่วย เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์แก่โรงพยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย สถาบันการศึกษา หรือบริษัทผู้ผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นว่ามีมาตรฐาน IDDSI ระดับใด และได้จัดกิจกรรมส่งมอบและอบรมการใช้งานอุปกรณ์ต้นแบบให้แก่หน่วยงานนำร่องต่างๆ จำนวน 10 แห่ง ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเตรียมอาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบากไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อให้ทดลองใช้เบื้องต้น ก่อนการขยายผลต่อไป

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

Print Friendly, PDF & Email