ชื่อต้นแบบ
ต้นแบบบานประตูรถพยาบาลที่มีการเพิ่มความแข็งเกร็งต่อการโค้งงอ
รถพยาบาลฉุกเฉิน (EMS) เป็นยานพาหนะสำหรับขนย้ายผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไปยังสถานพยาบาลด้วยความรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากโครงสร้างของห้องโดยสารแล้ว บานประตูรถที่แม้ไม่ได้เป็นโครงสร้างหลักก็มีผลต่อความปลอดภัยเช่นกัน ปัญหาที่เกิดจากบานประตูรถคือกลอนที่ล็อคประตูหลุดคลายระหว่างการขับขี่ เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุด้วย Fault Tree Analysis (FTA) พบว่าหนึ่งในสาเหตุหลักคือ โครงสร้างบานประตูเสียรูปจนโก่งตัวแบบถาวรจากการออกแรงดึงมือเปิดประตู เนื่องจากมีความแข็งเกร็งต่อการโค้งงอ (bending stiffness) ไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อปิดประตูครั้งต่อไปกลอนประตูจะไม่สวมล็อคเข้ากลอนที่แป้นรับได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้กลอนประตูคลายและประตูเปิดออกในที่สุด
การผลิตโครงสร้างบานประตูรถพยาบาลแบบดั้งเดิมเป็นการนำแผ่นอะลูมิเนียมพับขึ้นรูปเป็นโครงสร้างประตูมายึดต่อกับบานประตูด้วยการใช้รีเวท (rivet nuts) และการเชื่อมแบบจุด (spot welding) และเสริมความแข็งเกร็งต่อการโค้งงอ (flexural rigidity) ของบานประตูด้วยการนำเหล็กฉากมาเชื่อมต่อกันด้วยวิธีการที่ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์เชิงวิศวกรรมมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการนำไปใช้จริง ได้แก่ โครงสร้างมีน้ำหนักมากแต่ให้ความแข็งเกร็งต่อการโค้งงอไม่เพียงพอ มีการหลวมคลอนระหว่างชิ้นส่วนภายในโครงสร้างบานประตู อีกทั้งใช้เวลาในการผลิตและต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงไม่เหมาะสำหรับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาในภายหลัง
ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้พัฒนาต้นแบบบานประตูข้างและบานประตูหลังของรถพยาบาลที่มีความแข็งเกร็งต่อการโค้งงอสูงขึ้น ไม่เกิดการเสียรูปแบบถาวรในขณะใช้งาน รวมถึงลดต้นทุนในการผลิตโดยการลดจำนวนชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนแต่ไม่มีนัยสำคัญต่อความแข็งเกร็งและการใช้งาน และเพิ่มการใช้งานชิ้นส่วนร่วม (common parts) ของบานประตู โดยกำหนดให้บานประตูข้างและบานประตูหลังบานซ้ายมีรูปแบบและขนาดเดียวกัน
ทีมวิจัย
ประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล, พีรกิตติ์ วิริยะรัตนศักดิ์ และดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ